ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์กล่าวว่า เชื้อโปรโตซัวจะทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดแดงที่ยังเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์
หากเข้าสู่กระแสเลือดเป็นเวลานาน จะเข้าไปฝังตัวในกล้ามเนื้อ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแอ กระทั่งป่วยตายในที่สุด "สาเหตุของงูป่วยตายน่าจะมาจากเชื้อโปรโตซัว ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านมักจะมองข้ามนึกว่างูซึมเศร้าเนื่องจากสภาพอากาศร้อนและเป็นธรรมชาติของงูหลังจากมนุษย์นำมาเลี้ยง เมื่อเกิดป่วยขึ้นก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่หารู้ไม่ว่างูกำลังติดเชื้อ หากปล่อยไว้จะเกิดการล้มตายไปเรื่อยๆ" ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์กล่าว
ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์กล่าวต่อว่า เชื้อโปรโตซัวที่เกิดขึ้นกับงูจงอางน่าจะมาจากตัวเห็บที่เข้ามาดูดเลือดงู
ซึ่งก่อนหน้านี้หมู่บ้านงูจงอางเกิดการระบาดของตัวเห็บเกาะอยู่ในตัวงูจงอางจำนวนมาก วิธีป้องกันคือ ชาวบ้านต้องทำความสะอาดโรงเรือนเป็นประจำ ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และต้องหาวิธีกำจัดตัวเห็บไม่ให้เข้ามาดูดเลือดงูด้วย
"เรื่องนี้ทางภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.ขอนแก่น จะรีบตรวจสอบ เพื่อหาทางรักษางูที่กำลังล้มป่วย และแก้ไขปัญหาเรื่องตัวเห็บ ตลอดจนการจัดการเรื่องสุขาภิบาลในการดูแลงูจงอาง พร้อมทั้งเรียกชาวบ้านเข้าประชุมหารือเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น" ผศ.น.สพ.ดร.สมโภชน์กล่าว
ด้านนายทา บุญตา ประธานชมรมงูจงอางแห่งประเทศไทย บ้านโคกสง่า กล่าวว่า
งูจงอางในหมู่บ้านโคกสง่าล้มป่วยตายจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะเป็นงูตัวใหญ่ที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป ซึ่งชาวบ้านที่เลี้ยงงูกำลังประสบปัญหางูป่วยตายเป็นจำนวนมากกว่า 100 ตัว ไม่ทราบว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร "โดยส่วนตัวแล้วไม่แน่ใจว่าจะมาจากเรื่องที่เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้นำไมโครชิพฝังในตัวงูที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้หรือไม่ โดยแจ้งว่าเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่า เพราะหลังจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้นำไมโครชิพฝังในตัวงูได้ไม่นาน ปรากฏว่างูที่ถูกฝังไมโครชิพจะไม่กินอาหาร จากนั้นจะป่วยล้มตาย จึงอยากให้เจ้าหน้าที่สัตวแพทย์เข้าตรวจสอบโดยด่วน" ประธานชมรมงูจงอางแห่งประเทศไทยกล่าว