GLOZE สื่อวัยมันของขาสั้น-คอซอง
โฉมหน้าของ glozeโดย ผู้จัดการออนไลน์ 24 พฤษภาคม 2549 12:38 น.
ท่ามกลางสื่อสิ่งพิมพ์หลากหลายประเภท ที่วางแผงจำหน่ายจำนวนมากอยู่ในท้องตลาดขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามีน้อยชิ้นที่หนังสือหรือนิตยสารเหล่านี้จะเปิดโอกาสให้ เด็ก เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบ หรือผลิตสื่อสำหรับพวกเขาเอง
GLOZE จึงได้ถือกำเนิดขึ้นภายใต้แนวคิด นิตยสารของเด็กมัธยม โดยเด็กมัธยมเพื่อเด็กมัธยม ซึ่งนิตยสารดังกล่าว มีกองบรรณาธิการเป็นเด็กในระดับมัธยมศึกษาทั้งหมด
กันตภณ เอื้อวรศักดิ์ชัย หรือ กัน นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนสวนกุหลาบ ซึ่งรั้งตำแหน่งบรรณาธิการบริหารนิตยสาร GLOZE เล่าถึงความเป็นมาก่อนจะเป็น GLOZE ว่า เริ่มแรกนั้นนักเรียนสวนกุหลาบได้ร่วมกันทำหนังสือสำหรับเด็กมัธยมออกมาก่อน 1 เล่ม ซึ่งถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นการเริ่มต้นทำครั้งแรกรูปเล่มและเนื้อหายังไม่โดนใจเท่าที่ควร ทำให้ไม่ได้รับความสนใจ แต่หลังจากที่ทำหนังสือเล่มแรกออกไปแล้ว ได้รับการชักชวนจาก ปราโมทย์ กีรติเกรียงไกร หรือ พี่โมท นักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่สวนกุหลาบให้มาทำนิตยสารร่วมกัน กระทั่งออกมาเป็น GLOZE ในปัจจุบัน
แนวคิดในการทำนิตยสารของเราคือ ต้องการให้เป็นช่องทางของเด็กในการแสดงความคิดเห็น เพราะเด็กกับผู้ใหญ่ในสังคมปัจจุบันต่างคนต่างมอง หรือมองคนละมุม GLOZE จึงเปรียบเสมือนตัวแทนของเด็กมัธยม ที่บอกเล่าสิ่งที่เด็กคิด ซึ่งอาจเห็นไม่ตรงกับผู้ใหญ่ในบางเรื่องบ้าง ก็สื่ออกไปให้ผู้ใหญ่ได้รับรู้
แม้ GLOZE เล่มแรกจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่แนวคิดในการทำนิตยสารดังกล่าว ก็ไปเข้าตาสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้โครงการสร้างสรรค์สื่อเพื่อการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ทำให้ GLOZE เล่มที่ 2 ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก สสส.มาจำนวนหนึ่ง และปัจจุบัน GLOZE ออกมา 4 เล่มแล้ว
สำหรับกองบรรณาธิการนิตยสารของเด็กมัธยมมีจำนวน 15 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โดยมีนักเรียนจากที่อื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยบ้าง เช่น ศึกษานารี เป็นต้น แบ่งรูปแบบการทำงานออกเป็น 3 ฝ่าย ได้แก่ กองบรรณาธิการ ทำหน้าที่ผลิตนิตยสาร กำหนดเนื้อหา วางรูปเล่มและดูแลการจัดอาร์ตเวิร์กต่างๆ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่เผยแพร่ให้ GLOZE เป็นที่รู้จัก ติดต่องานภายนอกไปออกบูธในงานต่างๆ และฝ่ายการตลาดจะมีบทบาทในการทำให้ GLOZE กระจายไปอย่างทั่วถึง วางแผนให้มีคนได้อ่าน GLOZE มากที่สุด
ขณะเดียวกันทางกอง บก. GLOZE ก็ยังได้รับการติดต่อจากเพื่อนๆ ต่างโรงเรียนทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด ขอเข้ามาร่วมผลิตนิตยสาร GLOZE เพิ่มเติมอยู่เรื่อยๆ ซึ่งกันบอกว่า ด้วยข้อจำกัดของกองบรรณาธิการ ที่ต้องคนมาช่วยทำงานประจำทำให้ไม่สามารถรับนักเรียนที่ติดต่อเข้ามาได้ทุกคน แต่ก็ยินดีรับต้นฉบับ หรือข้อคิดเห็นจากเพื่อนๆ ทุกคนทั่วประเทศ ผ่านทางอีเมล์ contact@glozemagazine.com