เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า
คณะวิจัยของวว. ประกอบด้วย ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น และทีมงานผู้จัดทำโครงการอนุรักษ์และพัฒนาพันธุกรรมพืชในวงศ์ไม้จำปา ภายใต้การสนับสนุนจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ออกสำรวจในบริเวณพื้นที่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ พบ "จำปีช้าง" ซึ่งเป็นจำปีชนิดหายาก และใกล้สูญพันธุ์ ที่ผ่านมาพบเพียง 10 ต้นเท่านั้น เนื่องจากจำปีช้างไม่มีการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติมานานกว่า 50 ปีแล้ว จากการค้นพบครั้งนี้ประเทศไทยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารจำแนกพันธุ์ไม้นานาชาติ หรือ BLUMEA ของหอพรรณไม้ไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในฐานะพันธุ์ไม้ชนิดใหม่ของโลก เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2550
ดร.นงลักษณ์กล่าวต่อว่า คณะสำรวจออกเดินทางเข้าพื้นที่บริเวณดังกล่าว
และสามารถค้นพบต้นจำปีช้างที่ขึ้นอยู่ในธรรมชาติ เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2541 จากการค้นพบได้รับคำยืนยันจากบุคคลในพื้นที่ว่าเป็นพันธุ์ไม้จำปีช้างที่ใกล้จะสูญพันธุ์จริง หลังจากการค้นพบครั้งนี้จึงจัดส่งตัวอย่างแห้งไปตรวจสอบที่หอพรรณไม้ไลเดน ได้ผลสรุปว่า ตัวอย่างดังกล่าวเป็นจำปีช้างจริงๆ และที่สำคัญกว่านั้น จำปีช้างที่ค้นพบในประเทศไทยยังเป็นชนิดที่แตกต่างจากจำปีช้างในประเทศอื่นๆ ด้วย จึงถือเป็นจำปีช้างที่มีลักษณะเด่นเพียงแห่งเดียวของโลก
ด้าน ดร.ปิยะกล่าวว่า สำหรับจำปีช้างดังกล่าว มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Magnolia citrata Noot. and Chalermglin
ซึ่งเป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง 20-35 เมตร เปลือกลำต้นหนาและมีกลิ่นฉุน มีใบรูปร่างค่อนข้างกลม ใบใหญ่และหนา กว้างประมาณ 12-18 ซ.ม. ยาว 20-25 ซ.ม. ไม่มีรอยแผลบนก้านใบ กลีบดอกมี 9-12 กลีบ มีผลขนาดใหญ่ที่สุดในพวกจำปีจำปา และเยื่อหุ้มเมล็ดสีแดง มีกลิ่นคล้ายตะไคร้ แต่รุนแรงมาก นับเป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของประเทศไทย เบื้องต้นการค้นพบครั้งนี้ วว.ทำการขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่งจำนวน 300 ต้น โดยนำไปกระจายปลูกในจังหวัดต่างๆ อาทิ นครศรีธรรมราช สงขลา พังงา และกระบี่ และอนาคตจะมีการพัฒนาให้สามารถขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ดได้ต่อไป
ดร.ปิยะกล่าวอีกว่า ขณะนี้ต้นกล้าของจำปีช้างที่นำไปปลูกตามพื้นที่ต่างๆ ยังไม่ออกดอก
เนื่องจากจำปีช้างจะต้องได้รับการกระตุ้นด้วยความหนาวเย็นในช่วงฤดูหนาวก่อนออกดอกช่วงเดือนเม.ย. แต่ที่ผ่านมายังไม่สามารถปลูกให้ออกดอกได้ เนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น จากนี้ไปจะทำการศึกษาให้มีการชักนำให้ออกดอกต่อไป รวมทั้งการนำแต่ละส่วนของจำปีช้างมาพัฒนาให้ใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิ การนำกิ่งของจำปีช้างไปใช้เพื่อล่อแมลง เพราะกิ่งจำปีมีกลิ่นฉุนของตะไคร้มาก หรืออาจจะนำดอกจำปีช้างไปใช้เป็นไม้ประดับ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศต่อไป