ตะลึง! พิษขนมขบเคี้ยว เด็ก 3 ขวบเป็นเบาหวาน

ตะลึง! พิษขนมขบเคี้ยว เด็ก 3 ขวบเป็นเบาหวาน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 18 พฤษภาคม 2549 17:16 น.

สสส.-เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เผย ผลวิจัยขนมกว่า 700 ตัวอย่าง สารพัดยี่ห้อดัง มันฝรั่ง แป้งทอด เยลลี ลูกอม ช็อกโกแลต ปลาเส้น 90% เจอแต่ส่วนผสม หวานจัด มันเยิ้ม เค็มปี๋ ส่งผลเด็กไทยป่วยเบาหวาน ความดันสูง น้ำตาลสูง ไขมันสูง ป่วยโรคไต แถม 70% ไม่ติดกระทั่งฉลากโภชนาการ หมอชี้วิกฤต อนาคตเด็กไทย 20% ป่วยเป็นโรคอ้วน ทุก 2 ปี เด็กเป็นเบาหวานเพิ่มหนึ่งแสนคน แม้ 30 บาทก็สู้ไม่ไหว ตะลึงพบเด็ก 3 ขวบเป็นเบาหวาน ด้าน สสส.เสนอ อย.ติดฉลากโภชนาการขนม ให้ข้อมูลผู้บริโภค คุมโฆษณา หยุดขายน้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยวในโรงเรียน

วันนี้ (18 พ.ค.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เครือข่ายเด็กไทยไม่กินเหวาน แถลง ภัยขนมกรุบกรอบ ทำร้ายสุขภาพเด็กไทย โดย ร.ศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากการนำขนมและอาหารว่างประมาณ 700 ตัวอย่าง หลากหลายชนิดและยี่ห้อ ที่จำหน่ายในท้องตลาด มาวิเคราะห์จากฉลากโภชนาการและส่วนประกอบ เพื่อให้ทราบคุณค่าทางโภชนาการ โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มลูกอม หมากฝรั่ง เยลลี พบ มีน้ำตาลและสารให้ความหวานอื่นๆ เป็นส่วนผสมจำนวนมาก 2.กลุ่มช็อกโกแลต มีไขมันกับน้ำตาลในปริมาณสูง 3.กลุ่มถั่วและเมล็ดพืช มีไขมันและโซเดียมมาก 4.กลุ่มปลาเส้นปรุงรสต่างๆ ปลาอบกรอบ แม้จะมีโปรตีน แต่มีโซเดียมสูง ยิ่งปรุงรสเข้มข้นก็ยิ่งมีโซเดียมมากขึ้น 5.กลุ่มมันฝรั่งทอด ข้าวเกรียบ ข้าวอบกรอบ ข้าวโพดอบกรอบ แป้งทอด จะเต็มไปด้วยโซเดียมและไขมัน

สรุปว่า ขนมและอาหารว่างเหล่านี้ โดยเฉพาะขนมกรุบกรอบที่เด็กๆ นิยมซื้อมาทานกว่า 90% มีคุณค่าทางโภชนาการน้อยมาก เต็มไปด้วยสารอาหารที่เกินพอดี เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขนมกรุบกรอบจะเน้นความมันกับรสเค็ม จึงมีน้ำมันและโซเดียมหรือส่วนผสมที่ทำให้เกิดรสเค็ม อย่าง เกลือ ผงชูรส ซีอิ๊ว น้ำปลา ปริมาณสูงมาก ทั้งๆ ที่เด็กไม่ควรได้รับโซเดียมจากขนม อาหารว่างเกิน 200 มิลลิกรัม น้ำมันไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน ตามเกณฑ์ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย แต่การศึกษาพบเด็กได้รับโซเดียมจากขนม มากกว่าเกณฑ์ 3-4 เท่า เพราะทานขนมกรุบกรอบ ส่วนผสมที่เป็นความอร่อยเหล่านี้ เมื่อทานต่อเนื่องจะทำให้ ไตทำงานหนัก เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูง รศ.ดร.ประไพศรี กล่าว

รศ.ดร.ประไพศรี กล่าวอีกว่า ขนมกรุบกรอบถ้าห้ามไม่ให้ทานไม่ได้ ต้องจำกัดปริมาณ ไม่ควรเกิน 1 ห่อต่อวัน และต้องเป็นห่อเล็ก ขณะเดียวกัน ข้อมูลบนฉลาก เป็นปัจจัยสำคัญต่อพฤติกรรมการบริโภคที่ดี และตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่มีคุณค่าสมราคา การติดฉลากแสดงข้อมูลโภชนาการจึงจำเป็นอย่างยิ่ง แต่ปัญหาที่พบในการวิจัย คือ ขนมเหล่านี้มีเพียง 1 ใน 3 ที่ติดฉลาก ซึ่งฉลากโภชนาการที่มีตัวหนังสือก็ขนาดเล็ก บางยี่ห้อใช้แว่นขยายส่องยังแทบอ่านไม่ออก ฉลากที่มีก็ยากที่ประชาชนทั่วไปจะเข้าใจ

รศ.นพ.จิตติวัฒน์ สุประสงค์สิน หัวหน้าหน่วยสำนักงานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ช่วงวัยเด็กสมองกำลังเจริญเติบโต การกินขนมรส เค็ม หวาน ตั้งแต่อายุน้อย ทำให้รสชาตินี้ติดอยู่ในกระแสประสาท เด็กเสพติดได้ง่าย กินจืดไม่เป็น ส่งเสริมให้มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน ซึ่งสถานการณ์โรคอ้วนของเด็กไทยน่าวิตกมาก โรงเรียนขนาดกลางมีเด็กอ้วน 20% และครึ่งหนึ่งของ 20% มีปัญหาทางสุขภาพหนึ่งในสามด้าน คือ 1.ความดันสูง 2.ปริมาณน้ำตาลสูง 3.ปริมาณไขมันสูง คิดง่ายๆ ว่า 1 ใน 10 ของเด็กทั้งโรงเรียนมีปัญหาสุขภาพจากความอ้วนและขนมขบเคี้ยว หากนับรวมเด็กทุกโรงเรียน ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่าไร โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ไม่อาจรับภาระได้ทั้งหมด

ทุกวันนี้เด็กไทยจำนวนหนึ่งกำลังมีปัญหา เมตาบอลิคซินโดรม คือ มีเมตาบอลิซึมผิดปกติ ซึ่งสัมพันธ์กับภาวะที่ร่างกายดื้อต่ออินซูลิน เป็นผลจากความอ้วน มีความเสี่ยงเป็นเบาหวานได้ง่าย ประกอบกับข้อมูลว่า คนเอเชียมีโอกาสเป็นเบาหวาน และหลั่งอินซูลินได้น้อยกว่าฝรั่ง ยิ่งทำให้น่าวิตก

รศ.นพ.จิตติวัฒน์ กล่าวต่อว่า จากสภาพการณ์อย่างนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คือ ประชากรเด็กที่มี 10 ล้านคน จะมีเด็กอ้วน 20% คิดเป็น 2 ล้านคน ในจำนวนนี้ 50% มีความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง คิดเป็น 1 ล้านคน และทุก 2 ปี จะมีเด็กป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น 100,000 คน มีภาวะแทรกซ้อน 20,000 คน คำถามคือค่าใช้จ่ายในการรักษาจะเป็นเท่าไหร่ ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล

ปัจจุบันสิ่งที่พบ คือ เด็กอายุ 3 ขวบป่วยเป็นโรคเบาหวาน และในอนาคตจะมีผู้ป่วยโรคไตเพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย คนไทยจะป่วยด้วยไตวายมากขึ้น เพราะขนมขบเคี้ยวนอกจากความหวานยังมีเกลือโซเดียมในปริมาณมากด้วย ทางออกคือ ต้องสร้างองค์ความรู้เรื่องผลกระทบจากการบริโภคขนมหวาน มัน เค็ม สร้างวัฒนธรรมการกินของเด็ก เน้นให้กินพืชผักผลไม้ อาหารปรุงเอง โรงเรียนควรมีแนวคิดเรื่องสุขภาพ สร้างสภาพแวดล้อมที่ปราศจาก ขนม ของหวาน น้ำอัดลม

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะ และลดปัจจัยเสี่ยง สสส.กล่าวว่า มาตรการสำคัญเพื่อควบคุมการบริโภคขนมกรุบกรอบของเด็กๆ นอกจากผู้ปกครองควรแนะนำการเลือกขนม ควรมีการดำเนินการดังนี้ 1.สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดให้ขนมทุกชนิด ติดฉลากโภชนาการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค 2.ขอให้มีการ ดำเนินการติดฉลากอย่างง่าย เป็นตัวช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกขนมและอาหารว่างได้ง่ายขึ้น ดังมีตัวอย่างในยุโรปบางประเทศ ที่เน้นดูปริมาณส่วนประกอบอย่าง ไขมัน น้ำตาล เกลือ หาก 1 หน่วยบริโภค มี ไขมัน น้ำตาล หรือเกลือ เกิน 10% ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน จะจัดอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นโทษต่อร่างกาย อาจติดสัญลักษณ์เป็นไฟสีแดง ถ้ามีไขมัน น้ำตาล หรือเกลือ ไม่เกิน 5% ของปริมาณที่ควรได้รับต่อวัน จะอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย ให้สัญลักษณ์เป็นไฟสีเขียว

ข้อ 3 .อย.ควรจำกัดการโฆษณาขนมกรุบกรอบ ลูกอม โดยเฉพาะทางโทรทัศน์ เพราะผลการศึกษาทั่วโลกชี้ชัดว่า โฆษณาจะกระตุ้นให้เด็กวัยต่ำกว่า 12 ปี เลือกกินตามที่ได้เห็นจากโฆษณา เพราะเป็นวัยที่ยังไม่สามารถพิจารณาด้วยหลักเหตุผลได้ดี จึงเห็นว่าเฉพาะปี 2548 ผู้ผลิตขนมทุ่มเงินไปกับการโฆษณาขนมกรุบกรอบและลูกอมสูงถึง 1,117 ล้านบาท เป็นงบโฆษณาทางโทรทัศน์มากที่สุด 970 ล้านบาท ทำให้โฆษณาเหล่านี้ ในไทยมีมากถึงชม.ละ 132 ครั้ง ในช่วงรายการการ์ตูนเช้าวันหยุด ขณะที่ประเทศสวีเดน และรัฐควิเบก แคนาดา ห้ามไม่ให้โฆษณาอาหารและเครื่องดื่มสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีทุกรูปแบบ และสเปนกำหนดให้โฆษณาได้ไม่เกิน 50 ครั้งต่อ ชม.

ทพ.ศิริเกียรติ กล่าวต่อว่า ประการสุดท้าย คือ กระทรวงศึกษาธิการ ควรกำหนดให้โรงเรียนทุกแห่ง เลิกจำหน่ายน้ำอัดลม เพราะหลักฐานจำนวนมากบ่งชี้ว่า น้ำอัดลมเป็นตัวหนุนเสริมให้เด็กกินขนมกรุบกรอบเพิ่มขึ้น และยังเป็นแหล่งที่มาของน้ำตาลส่วนเกิน ที่เป็นเหตุสำคัญของการมีน้ำหนักเกินและอ้วนในเด็กๆ ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์