โพลเผย 5 อันดับยาเสพติดยอดนิยมของวัยรุ่นไทย
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 14 พฤษภาคม 2549 13:17 น.
เอแบคโพลล์ เผยผลสำรวจ ทัศนคติการใช้สิ่งเสพติดในกลุ่มเยาวชนช่วงปิดภาคฤดูร้อน พบเยาวชนไทยใช้ยาเสพติด 5 อันดับแรก บุหรี่, เบียร์/ไวน์/สปาย, เหล้า, น้ำผลไม้ผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกัญชา ขณะที่ ยาบ้า ส่งสัญญาณกลับมาระบาดอีก เพิ่มสูงขึ้น 7 เท่า
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในฐานะที่ปรึกษาเครือข่ายวิชาการสารเสพติดของสำนักงาน ป.ป.ส. และหัวหน้าโครงการวิจัย ได้เปิดเผยผลสำรวจ เรื่อง ทัศนคติการใช้สิ่งเสพติดในกลุ่มเยาวชนช่วงปิดภาคฤดูร้อน ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเยาวชนที่มีอายุ 12-24 ปี ที่พักอาศัยในระดับครัวเรือน และที่พักอาศัยประเภทอื่นๆ อาทิ หอพัก อพาร์ตเมนต์ และคอนโดมิเนียมในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ จำนวนทั้งสิ้น 4,078 ตัวอย่าง ซึ่งมีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 20 เมษายน - 13 พฤษภาคม 2549
สำหรับผลการสำรวจที่น่าสนใจ ปรากฏว่า ความคิดเห็นของตัวอย่างต่อสิ่งเสพติดประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งผลสำรวจพบว่าตัวอย่างร้อยละ 66.2 ระบุคิดว่า เหล้าเป็นสิ่งเสพติด ในขณะที่ตัวอย่างร้อยละ 22.8 ระบุไม่เป็นสิ่งเสพติด และร้อยละ 11.0 ระบุไม่แน่ใจว่าเหล้าเป็นสิ่งเสพติดหรือไม่
นอกจากนี้ ตัวอย่างร้อยละ 56.5 ระบุคิดว่า เบียร์/ไวน์/สปาย เป็นสิ่งเสพติด ในขณะที่ร้อยละ 28.8 ระบุไม่เป็นสิ่งเสพติด และร้อยละ 14.7 ระบุไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งเสพติดหรือไม่ สำหรับเครื่องดื่มประเภทน้ำผลไม้ผสมแอลกอฮอล์นั้น พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 37.3 ระบุคิดว่าเป็นสิ่งเสพติด ในขณะที่ร้อยละ 40.7 ระบุไม่เป็นสิ่งเสพติด และร้อยละ 22.0 ระบุไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งเสพติดหรือไม่ และที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ ผลการสำรวจพบว่าเกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 27.5 ระบุคิดว่ายานอนหลับ/ยาคลายเครียดไม่เป็นสิ่งเสพติด ในขณะที่ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหนึ่ง คือ ร้อยละ 53.2 ระบุคิดว่าเป็นสิ่งเสพติด และร้อยละ 19.3 ระบุไม่แน่ใจว่าเป็นสิ่งเสพติดหรือไม่
สำหรับความคิดเห็นของตัวอย่างเกี่ยวกับความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพร่างกายจากการใช้สิ่งเสพติดประเภทต่างๆ นั้น พบว่า ตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการใช้สิ่งเสพติดประเภทต่างๆ นั้นมีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพบว่า ถึงแม้จะรู้ว่าเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ แต่ก็ยังมีเยาวชนบางส่วนที่มีพฤติกรรมเข้าไปใช้สิ่งเสพติดดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูบบุหรี่ และการดื่มเหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ ซึ่งผลสำรวจพบว่าตัวอย่างร้อยละ 84.5 ระบุคิดว่าการสูบบุหรี่วันละ 1 ซองนั้น เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ ร้อยละ 85.9 ระบุคิดว่าการสูบบุหรี่ตั้งแต่ 1 ซองขึ้นไปต่อวันนั้นเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูบ แต่พบว่ามีตัวอย่างเยาวชนกว่าร้อยละ 10 ที่ระบุว่า ตนเองนั้นเคยสูบบุหรี่ตั้งแต่ 1 ซองขึ้นไปต่อวัน โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านนั้นมีประมาณ 8 วันที่สูบบุหรี่ตั้งแต่ 1 ซองขึ้นไปต่อวัน
สำหรับความคิดเห็นของตัวอย่างต่อการดื่มเหล้านั้น พบว่า ตัวอย่างเกินกว่า 2 ใน 3 คือ ร้อยละ 78.0 ระบุคิดว่า การดื่มเหล้า 5 แก้วขึ้นไปต่อวัน เป็นการเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพของผู้ดื่ม ร้อยละ 67.2 ระบุคิดว่าการดื่มเหล้า 5 แก้วขึ้นไปในช่วงสุดสัปดาห์เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ ในขณะที่ตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหนึ่ง คือ ร้อยละ 56.2 ระบุคิดว่าการดื่มเหล้าน้อยกว่า 5 แก้วต่อวันก็เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพของผู้ดื่มเช่นเดียวกัน แต่เป็นที่น่ากังวลว่าถึงแม้ส่วนใหญ่จะตระหนักถึงความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพที่เกิดจากการดื่มเหล้านั้น ผลสำรวจกลับพบว่ามีตัวอย่างเกือบ 1 ใน 3 คือ ร้อยละ 28.5 ที่ระบุว่าตนเองเคยดื่มเหล้าในช่วงสุดสัปดาห์ตั้งแต่ 5 แก้วขึ้นไปต่อครั้ง โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานั้นมีประมาณ 9 ครั้งที่ดื่มตั้งแต่ 5 แก้วขึ้นไปต่อวัน ดร.นพดล กล่าว
ดร.นพดล กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญที่ถือได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาในครั้งนี้ ได้แก่ ผลการประมาณการจำนวนเยาวชนทั้งในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษาจำนวนทั้งสิ้น 1,562,986 คน พบกลุ่มเยาวชนไทยที่ใช้สิ่งเสพติดประเภทต่างๆ จำแนกตามช่วงเวลาตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา 5 อันดับแรก คือ 1.บุหรี่ โดยผลประมาณการพบว่ามีจำนวนเยาวชนที่มีประสบการณ์ในการสูบบุหรี่ตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาทั้งสิ้น 403,546 คน
2.เบียร์/ไวน์/สปาย โดยผลประมาณการพบว่ามีจำนวนเยาวชนที่มีประสบการณ์ในการดื่มเบียร์ ไวน์ สปาย ตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาทั้งสิ้น 678,950 คน 3.เหล้า โดยผลประมาณการพบว่ามีจำนวนเยาวชนที่มีประสบการณ์ในการดื่มเหล้าตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาทั้งสิ้น 635,816 คน 4.น้ำผลไม้ผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผลประมาณการพบว่ามีจำนวนเยาวชนที่มีประสบการณ์ในการดื่มน้ำผลไม้ผสมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาทั้งสิ้น 518,364 คน และ 5.กัญชา ซึ่งผลประมาณการพบว่ามีจำนวนเยาวชนที่มีประสบการณ์ในการใช้กัญชาจำนวนทั้งสิ้น 111,917 คน
สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือ กลุ่มเยาวชนที่ใช้ยาบ้าในช่วง 30 วันที่ผ่านมา พบว่า มีอยู่มากถึง 41,666 คน เพิ่มขึ้นถึงกว่า 700% จาก 5,060 คน ในการวิจัยที่เคยค้นพบช่วง 3 เดือนหลังประกาศสงครามยาเสพติด ดร.นพดล กล่าว
สำหรับสาเหตุการกลับมาของยาเสพติดในทรรศนะของเยาวชนนั้น ผลการสำรวจของเอแบคโพลล์ พบว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐปราบปรามยาเสพติดไม่จริงจัง (ร้อยละ 69.1) รองลงมา คือ ความไม่ต่อเนื่องของนโยบายแก้ไขปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 60.7) ปัญหาผู้มีอิทธิพล (ร้อยละ 53.9) บทลงโทษผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดยังไม่รุนแรง (ร้อยละ 42.4) และยังมีแหล่งมั่วสุมของเยาวชน (ร้อยละ 38.8) ตามลำดับ
เมื่อสอบถามต่อไปถึงข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในการแก้ไขปัญหายาเสพติดนั้น พบว่า รัฐบาลควรมีการปราบปรามอย่างจริงจัง / มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง (ร้อยละ 72.6) รองลงมา คือ ควรให้ความรู้กับเยาวชนเกี่ยวกับโทษของยาเสพติด (ร้อยละ 70.5) ส่งเสริมการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้กับเยาวชน (ร้อยละ 68.9) แก้ไขปัญหาผู้มีอิทธิพล (ร้อยละ 66.3) และลดพื้นที่เสี่ยงของเยาวชน (ร้อยละ 56.1) ตามลำดับ