แพทย์เตือน นักดื่ม-คอส้มตำ เสี่ยงไมเกรนเล่นงานสูง

แพทย์เตือน นักดื่ม-คอส้มตำ เสี่ยงไมเกรนเล่นงานสูง

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 12 พฤษภาคม 2549 16:54 น.

แพทย์เตือนผู้นิยมชมชอบเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ แอลกอฮอล์ รวมทั้งอาหารที่ใส่ผงชูรสโดยเฉพาะ ส้มตำ ระวังมีโอกาสเสี่ยงสูงเป็นไมเกรน แนะรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อและตรงเวลา และรับประทานยาแก้ปวดสำหรับไมเกรนโดยเฉพาะ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด

รศ.นพ.ก้องเกียรติ กูณฑ์กันทรากร ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาวลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า อาการปวดศีรษะข้างเดียวนั้น ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แน่นอน แต่ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญ ได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาความดันโลหิตสูง พันธุกรรม ภาวะทางอารมณ์ เช่น กังวล โกรธ ตื่นเต้น ตกใจ เครียด รวมถึงสิ่งแวดล้อมก็มีตัวกระตุ้น เช่น อากาศร้อนจัดเย็นจัด การอยู่ท่ามกลางแสงแดดจ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ พฤติกรรมการรับประทานอาหารในชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล ก็เป็นตัวกระตุ้นที่สำคัญต่ออาการปวดศีรษะไมเกรน เช่น รับประทานอาหารไม่ตรงต่อเวลา การอดอาหาร และชอบรับประทานอาหารบางชนิดที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะไวน์แดง เบียร์ วิสกี้ แชมเปญ รวมถึงเครื่องดื่มประเภทชา กาแฟ อาหารที่ใส่ผลชูรส น้ำตาลเทียม และสารเจือปนอาหารอื่นๆ เช่น สารบอแร็กซ์ที่ใส่ในลูกชิ้น สารไนเตรท์ประเภทดินประสิว ที่ผสมในอาหารประเภทเนื้อทอดแดดเดียว กุนเชียง แหนม แฮม ไส้กรอก เป็นต้น

ในผู้ที่เป็นไมเกรนอยู่แล้ว หากได้รับสิ่งกระตุ้นเข้าไปเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้มีอาการปวดหัวไมเกรนได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ดังนั้น ผู้ป่วยไมเกรนจึงควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและอาหารกระตุ้น ไมเกรนโดยเฉพาะไวน์แดง เนื่องจากไวน์แดงมีสารไทรามีน และสารเฟตโวนอยด์ ซึ่งสารดังกล่าวช่วยกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้ง่าย

รศ.นพ.ก้องเกียรติ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ผู้ที่ชอบซื้อส้มตำมารับประทานก็มีโอกาสเสี่ยงสูงเช่นกัน เพราะในส้มตำส่วนใหญ่มักจะมีผงชูรสเป็นส่วนประกอบในสัดส่วนที่สูง ดังนั้น ผู้ป่วยไมเกรนจึงควรระมัดระวัง สังเกตอาหารที่แพ้ และให้ความสำคัญเรื่องอาหารการกินที่เหมาะสม โดยรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อและตรงต่อเวลา ก็จะช่วยลดอาการไมเกรนลงได้

อย่างไรก็ตาม ไมเกรนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่โดยปกติแล้วอาการปวดไมเกรนจะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น แต่ในรายที่มีอาการปวดมากและเป็นบ่อยครั้ง ควรรีบไปปรึกษาแพทย์และใช้ยาเพื่อป้องกันและรักษาอาการปวด เพื่อให้ความถี่และความรุนแรงของไมเกรนลดน้อยลงได้ โดยหากมีอาการปวดหัวไมเกรนไม่รุนแรงหรือรุนแรงปานกลางแนะนำให้รับประทานยาในกลุ่มแก้ปวดไมเกรน แต่หากมีอาการรุนแรงและมีอาเจียนร่วมด้วย อาจต้องใช้ยาต้านอาการอาเจียนร่วมด้วย และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไมเกรนกำเริบบ่อยๆ แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาไมเกรนในกลุ่มป้องกันอาการปวดไมเกรน ซึ่งจะใช้เฉพาะกับผู้ป่วยไมเกรนที่มีอาการปวดศีรษะบ่อยๆ เท่านั้น เช่น เกือบทุกวัน หรือ เกือบทุกสัปดาห์ แต่ทั้งนี้ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยซื้อยากินเอง เพราะทำให้เกิดปัญหาการใช้อาแก้ปวดแบบผิดๆ และเกิดปัญหาตามมา เพราะยาบางตัวมีฤทธิ์ข้างเคียงมาก ฉะนั้น ควรปรึษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้ง เพื่อประสิทธิภาพในการรักษาและความปลอดภัยของผู้ป่วย

สำหรับผู้ที่กำลังประสบปัญหาไมเกรน ติดต่อขอรับคู่มือ รู้จักไมเกรน ได้ฟรี โดยส่งจดหมายขอรับไปที่ โครงการความรู้เรื่องไมเกรน ตู้ปณ.41 ปณฝ.หัวหมาก บางกะปิ กทม. 10243

ติดตามฟังรายการ สภาพสุข สุขภาพ ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 10.00-12.00 น.
ทางคลื่นสามัญประจำบ้าน FM 97.75 MHz www.managerradio.com

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์