ห้องทดลองเจ็ต โพรพัลชัน แลบอราทอรี (เจพีแอล)
ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ (นาซา) ในเมืองพาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย แถลงว่า ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่ชื่อ "2007 ทียู 24" ได้เคลื่อนผ่านโลกเมื่อเวลา 05.30 น.ของวันอังคาร ตามเวลามาตรฐานสากล ซึ่งตรงกับเวลา 12.30 น.ของวันพุธ (30 ม.ค.) ตามเวลาประเทศไทย ในระยะห่างจากโลก 538,000 กิโลเมตร ซึ่งมากกว่าระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์เพียง 1.4 เท่า
นายสตีฟ ออสโตร นักดาราศาสตร์อาวุโสของเจพีแอล ยืนยันว่า
การเคลื่อนผ่านโลกของดาวเคราะห์น้อย 2007 ทียู 24 ครั้งนี้ นับเป็นการเข้าใกล้โลกมากที่สุดไปจนถึงสิ้นศตวรรษหน้าเลยทีเดียว ทั้งยังเป็นการเข้าใกล้โลกมากที่สุดของดาวเคราะห์น้อยในรอบกว่า 2,000 ปีอีกด้วย
ทั้งนี้ ดาวเคราะห์น้อย 2007 ทียู 24 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 250 เมตร
และสามารถสร้างความเสียหายได้เป็นบริเวณกว้างหากพุ่งชนโลก แต่ทางนาซายืนยันว่า โลกได้ผ่านพ้นความเสี่ยงที่จะถูกดาวเคราะห์น้อยดวงนี้พุ่งเข้าชนแล้ว นอกจากนี้ นาซายังกล่าวด้วยว่าหากท้องฟ้าโปร่งจะสามารถสังเกตเห็นดาวเคราะห์น้อย 2007 ทียู 24 เคลื่อนผ่านโลกเป็นระยะเวลาสั้นๆ ได้ โดยใช้กล้องดูดาวสำหรับนักดูดาวสมัครเล่นขนาด 3 นิ้วขึ้นไป
วันเดียวกัน นายมาร์ค บอสลอฟ
นักฟิสิกส์ประจำห้องทดลองแห่งชาติแซนเดีย ในรัฐนิวเม็กซิโก ได้ใช้เครื่องซูเปอร์คอมพิวเตอร์จำลองเหตุการณ์ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกแถบไซบีเรียเมื่อหนึ่งร้อยปีที่แล้ว จนส่งผลให้พื้นที่ป่าแถบนั้นไหม้เกรียมเป็นอาณาบริเวณถึง 2,072 ตารางกิโลเมตร ทำลายต้นไม้ไปประมาณ 80 ล้านต้น โดยพบว่าดาวเคราะห์น้อยดวงต้นเหตุมีขนาดเล็กกว่าที่คิดกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าดาวเคราะห์น้อยก่อความเสียหายให้โลกได้มากกว่าที่คิดหากพุ่งชนโลก
อย่างไรก็ตาม
ถึงแม้การทดลองครั้งนี้จะชี้ให้เห็นว่า ดวงเคราะห์น้อยที่พุ่งชนโลกในไซบีเรียจะมีขนาดเล็กกว่าที่คิด แต่ก็ยังมีอีกหลายปัจจัยเกี่ยวกับดวงเคราะห์น้อยดวงนี้ที่ยังไม่รู้ อาทิ ความเร็ว รูปทรง ความหนาแน่น และส่วนประกอบ
นายบอสลอฟ กล่าวด้วยว่า
ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กนั้นจะเข้าใกล้โลกบ่อยกว่าดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่ๆ ถึง 3 เท่า ดังนั้น ถ้าดาวเคราะห์น้อยดวงใหญ่เข้าใกล้โลกประมาณทุกๆ 1,000 ปี ดาวดวงเล็กก็อาจจะเฉียดโลกทุกๆ 300 ปี ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงมหาศาลเลยทีเดียว