คนทีไอทีวีเศร้า ศาลปกครอง สั่งไม่คุ้มครอง

ในที่สุดศาลปกครองกลางก็มีคำสั่ง  ไม่คุ้มครองชั่วคราวพนักงานทีไอทีวี

หลังจากที่ได้ยื่นคำร้องไว้ให้ ออกอากาศได้ตามปกติ ภายหลังถูกอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สั่งยุติการออกอากาศ เมื่อเที่ยงคืนวันที่ 14 ม.ค. เนื่องจากกฎหมายทีวีสาธารณะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ม.ค.  ซึ่งจากคำตัดสินของศาลปกครอง  ส่งผลให้พนักงานทีไอทีวีหลายร้อยชีวิตต้องตกงาน  ปิดฉากการเป็นทีวีเสรีที่ครองใจผู้ชมมาเป็นเวลายาวนาน  แต่อย่างไรก็ตาม ศาลปกครองได้รับคำฟ้องไว้พิจารณา  


ทั้งนี้ หลังจากทุกฝ่ายใจจดใจจ่อรอลุ้นระทึกมาเป็นเวลาหลายชั่วโมง นับตั้งแต่ช่วงบ่ายวันที่ 17 ม.ค.

ในค่ำวันเดียวกัน  ศาลปกครองกลางได้แจ้งคำสั่งผ่านทางโทรสาร ไปยังคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย คือทีไอทีวีและอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กรณีอดีตพนักงานทีไอทีวียื่นคำร้องขอให้มีการคุ้มครองชั่วคราว  และเพิกถอนคำสั่งของกรมประชาสัมพันธ์  ที่ให้ สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี  ยุติการแพร่ภาพตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 14 ม.ค. โดยศาลมีคำสั่งไม่คุ้มครองชั่วคราวตามคำร้องของผู้ฟ้องคดี  เนื่องจากไม่เข้าเงื่อนไขที่จะออกคำสั่งดังกล่าว แต่ให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา
 

ก่อนหน้านี้เมื่อเช้าวันเดียวกัน  คณะกรรมการนโยบายชั่วคราว  องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย  หรือไทยพีบีเอส  ทั้ง 4 คน

มีนายขวัญสรวง อติโพธิ ประธานไทยพีบีเอส นายเทพชัย หย่อง รักษาการ ผอ.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นายณรงค์ ใจหาญและนายอภิชาติ ทองอยู่ คณะกรรมการไทยพีบีเอส ได้ประชุมร่วมกันเกี่ยวกับการหาสถานที่ตั้งสถานี  เงินงบประมาณที่จะนำมาบริหารจัดการบุคลากร  การโอนถ่ายทรัพย์สินจากทีไอทีวีและการออกอากาศ  จากนั้นในเวลา 13.00 น. การประชุมจึงเสร็จสิ้น โดยที่ประชุมมีมติให้นายเทพชัย หย่อง มีอำนาจหน้าที่ในการจัดจ้างบุคลากร ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน  เพื่อให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส สามารถออกอากาศให้ทันในวันที่ 1 ก.พ. อาทิ เจ้าหน้าที่การเงิน ฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายการพนักงาน ช่างเทคนิคต่างๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค  รวม 55 จุด  นอกจากนี้ ยังมีการหารือกันถึงเรื่องทรัพย์สินต่างๆ ของทีไอทีวี ที่ขณะนี้มีหนี้สินประมาณ 120 ล้านบาท
 

นายเทพชัยเผยในเวลาต่อมาว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกบุคลากร เพื่อปฏิบัติงานผลิตข่าวของไทยพีบีเอส จะคัดจากใบสมัครของผู้สมัคร ที่เคยเป็นพนักงานทีไอทีวีเดิมและบุคคลทั่วไป ไม่มีการปิดกั้น

โดยจะพิจารณาเป็นเฟส ขึ้นอยู่กับปริมาณงาน ตอนนี้มีผู้ผลิตรายการติดต่อเข้ามาบ้างแล้ว แต่ในเฟสแรกไทยพีบีเอส ยังไม่มีรายการประเภทต่างๆ นอกจากรายการข่าวเท่านั้น ส่วนบรรยากาศการรับสมัครพนักงาน สถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ในวันที่สองของการเปิดรับสมัครคือวันที่ 17 ม.ค.นั้น ปรากฏว่ามีผู้สนใจเข้ามาสมัครแล้วกว่า 400 คน ทำให้บรรยากาศเริ่มคึกคัก เนื่องจากมีผู้เข้ามาสมัครอย่างต่อเนื่อง  อาทิ  ผู้ประกาศข่าวจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และช่างภาพ ผู้สื่อข่าวจากสถานีโทรทัศน์ เอเอสทีวี เป็นต้น  ต่อมาได้มีอดีตผู้ประกาศข่าวและผู้สื่อข่าวของทีไอทีวี คือนายชัยรัตน์ ถมยา และน.ส.ปวีณมัย บ่ายคล้อย ไปยื่นใบสมัครด้วย นอกจากนี้ ยังมีนายวรัญชัย โชคชนะ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้มายื่นใบสมัครทำงานในตำแหน่งพิธีกรข่าวการเมือง โดยได้แสดงความมั่นใจว่าจะได้รับการพิจารณาเข้าทำงาน  เนื่องจากมีประสบการณ์ด้านการเมืองมายาวนาน
 

สำหรับบรรยากาศที่สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี อาคารชินวัตร 3 ตั้งแต่ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ ที่กองบรรณาธิการฝ่ายข่าว มีความคึกคักมากกว่าทุกวัน

เนื่องจากมีพนักงานฝ่ายต่างๆ พากันทยอยเดินทางเข้ามารอฟังผลการวินิจฉัยของศาลปกครอง  ซึ่งจะมีการส่งผลการวินิจฉัยคำร้อง  มาให้ทราบทางโทรสารในช่วงบ่าย  ทุกคนต่างรอลุ้นอย่างใจจดใจจ่อ  ถึงผลการตัดสินของศาลว่าจะออกมาในทิศทางไหน ขณะเดียวกัน พนักงานแต่ละคนได้มีการถ่ายภาพ เพื่อใช้ติดใบสมัครงานและจัดเตรียมเอกสารส่วนตัว  สำหรับใช้สมัครงานตำแหน่งต่างๆ  กับทีวีสาธารณะทีพีบีเอส โดยมีการจัดกล่องใส่ใบสมัครเพื่อรวบรวมนำส่งไปยังกรมประชาสัมพันธ์ ก่อนวันที่ 19 ม.ค.
 

ขณะที่นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก อดีต ผอ.ฝ่ายข่าวทีไอทีวี ได้เดินพูดคุยให้กำลังใจพนักงานตามโต๊ะข่าวต่างๆ

จากนั้น ได้เรียกประชุมหัวหน้าโต๊ะข่าว เพื่อกำหนดทิศทางหลังจากทราบผลการวินิจฉับคำร้องต่อศาลปกครอง พร้อมทั้งให้ประกาศเสียงตามสายให้พนักงานทุกคน ประชุมและฟังผลการวินิจฉัยร่วมกันที่สตูดิโอถ่ายทอดสดบนชั้น 15 ในเวลา 15.00 น. ส่วนนายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ รอง ผอ.ฝ่ายข่าว เปิดเผยว่า หากศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครอง ทีไอทีวีก็มีความพร้อมที่จะทำการออกอากาศได้ทันทีในช่วงเย็น อย่างไรก็ตาม ยังต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ที่จะตามมาด้วยว่าต้องปฏิบัติอย่างไร และทางช่อง 11 จะปล่อยให้ทีไอทีวีออกอากาศได้หรือไม่ ตอนนี้ยังต้องรอผลการตัดสินของศาลก่อน
 

ต่อมามีนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย พร้อมคณะประมาณ 10 คนนำกระเช้าดอกไม้เข้าให้กำลังในพนักงานทีไอทีวีที่ห้องบรรณาธิการข่าวบนขั้น 13

และได้มีการประกาศแถลงการณ์ คัดค้านกฎหมายเผด็จการทำลายสื่อเสรีว่า การให้มีการยุติออกอากาศเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพนักงาน แสดงถึงความเป็นเผด็จการป่าเถื่อน ส่อให้เห็นเจตนาที่จะเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากทีวีเสรีอย่างไร้ยางอาย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งสถานีใหม่ขึ้นมาอีกสถานีหนึ่งเพื่อเป็นทีวีสาธารณะ แล้วปล่อยให้ทีไอทีวีเป็นทีวีเสรีต่อไป ด้วยการให้สัมปทานกับภาคเอกชนที่ไม่สูงเกินไปและเรียกร้องให้พนักงานทีไอทีวีรวมตัวกันสร้างอำนาจต่อรอง เพื่อปกป้องสิทธิของพนักงานทุกระดับชั้น 



อย่างไรก็ตาม ในเวลาประมาณ 15.30 น. ขณะที่ศาลปกครองยังไม่มีคำตัดสินใดๆออกมา ท่ามกลางการลุ้นระทึกของพนักงานทีไอทีวีทุกคน ที่เฝ้ารอผลการพิจารณาของศาลปกครองอยู่นั้น

ก็ได้เกิดความเปลี่ยนแปลง บนหน้าจอสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีเดิม โดยทีวีสาธารณะทีพีบีเอสได้จัดรายการสดออกอากาศเป็นครั้งแรกชื่อรายการ “นับหนึ่งทีวีสาธารณะไทย” เป็นการสนทนาชี้แจงถึงเหตุผลของการจัดตั้งทีวีสาธารณะ มีนายขวัญสรวง อติโพธิ ประธานกรรมการนโยบายชั่วคราวทีวีสาธารณะ นายอภิชาติ ทองอยู่ 1 ในคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว นายอนุสรณ์ ศรีแก้ว คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และนายฉัตรชัย เชื้อรามัญ ตัวแทนเครือข่าวเพื่อนทีวีสาธารณะ เป็นแขกรับเชิญ โดยมี น.ส.นาตยา แวววีรคุปต์ อดีตผู้ประกาศข่าวช่อง 11 และอดีตลูกหม้อไอทีวี ที่เคยเป็น 1 ใน 23 กบฏไอทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยนายขวัญสรวงกล่าวว่า กรมประชาสัมพันธ์เข้ามาใช้คลื่นและอาคาร ซึ่งเป็นทรัพย์สินของหลวง เหมือนเป็นการเวนคืนที่ดิน เป็นการทำงานเพื่อชาติ การชี้แจงใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 40 นาที จึงตัดเข้ารายการเผยแพร่ พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ตามปกติ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พนักงานของทีไอทีวีได้มีการตรวจสอบข่าวและทราบล่วงหน้าว่า จะมีการยิงสัญญาณของทีพีบีเอสในเวลาดังกล่าว แต่เป็นข่าวที่ยังไม่แน่นอน

แต่เมื่อมีการยิงสัญญาณออกอากาศเป็นครั้งแรกจริง ทุกคนที่กำลังเฝ้ารอฟังผลการพิจารณาของศาลปกครอง ถึงกับอึ้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางความงุนงงสงสัย และได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการยิงสัญญาณแทรกขึ้นมา ระหว่างรอฟังผลการพิจารณาของศาลปกครองว่า ทำได้อย่างไรและมีวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งทางทีไอทีวีเองนั้นก็ได้มีการเตรียมความพร้อมทั้งรายการและผู้ประกาศเอาไว้แล้ว หากศาลปกครองตัดสินให้ความคุ้มครอง ก็จะสามารถดำเนินรายการของสถานีได้ทันที ซึ่งนายอัชฌา สุวรรณปากแพรก อดีต ผอ.ฝ่ายข่าวทีไอทีวี ได้เรียกหัวหน้าโต๊ะข่าวแผนกต่างๆเข้าประชุมทันที พร้อมทั้งบอกให้เลื่อนเวลานัดประชุมพนักงานทุกคนไปเป็นเวลา 18.30 น. เนื่องจากรอจนถึงเวลา 18.00 น. แล้ว ปรากฏว่ายังไม่มีการส่งคำพิจารณาของศาลปกครองมาที่สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวีแต่อย่างใด กระทั่งเวลา 19.00 น. ก็ยังไม่มีคำตัดสินใดๆออกมา
 

จนเวลา 19.00 น. ทีวีสาธารณะทีพีบีเอสมีการขึ้นข้อความชี้แจงการดำเนินงานของทีวีสาธารณะ

โดยสรุปว่าจะจัดรายการที่ให้ความรู้และส่งเสริมความรู้แก่ ประชาชน ส่งเสริมเสรีภาพในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในเวลา 20.00 น. หลังทราบผลการตัดสินของศาลปกครอง นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก อดีต ผอ.ฝ่ายข่าวทีไอทีวี ได้เรียกประชุมชี้แจงพนักงานทั้งหมด ที่ห้องสตูดิโอชั้น 15 โดยได้อ่านคำสั่งของศาลปกครองให้พนักงานฟัง และกล่าวว่า ศาลยกคำร้องคุ้มครองชั่วคราวและมีข้อเสนอแนะ 2-3 ข้อ ยังต้องให้ฝ่าย กฎหมายดำเนินการตีความ โดยเฉพาะที่มีคำสั่งว่าให้โอนทั้งหมดไปเป็นภาระผูกพัน ซึ่งจะรวมถึงคนและรายการต่างๆ ที่ยังไม่ได้ออกอากาศด้วยหรือไม่

เรื่องนี้ศาลได้ขอให้คณะกรรมการที่ ครม.แต่งตั้งไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร คณะกรรมการทั้ง 5 คนต้องเข้ามาดูแล

ส่วนจะดูแลอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าไม่คุ้มครองฉุกเฉินเราเดือดร้อน แต่คำร้องได้บอกไว้แล้วว่าให้โอนไปทั้งหมด โอนทุกอย่าง เรื่องนี้ต้องพูดคุยกับกรมประชาสัมพันธ์และคณะกรรมการทั้ง 5 คนอีกครั้ง ซึ่งพนักงานได้ซักถามข้อสงสัย ในการจะเดินทางไปยื่นใบสมัครงานว่าจะต้องรอหรือไปสมัครได้ทันที เมื่อศาลออกคำสั่งแล้ว ผู้บริหารได้ชี้แจงว่า เรื่องการสมัครงาน จะมีเจ้าหน้าที่ทีไอทีวีเป็นผู้รวบรวมเอกสารส่งไปเอง พร้อมปลอบใจพนักงานว่ายังไม่ได้เป็นผู้แพ้อย่างสิ้นเชิง ยังมีความหวังอีกทางด้านกฎหมายที่ต้องรอการตีความ 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังทราบคำตัดสินพนักงานจำนวนมากตกอยู่ในภาวะเศร้าซึมต่างปรับทุกข์กับเพื่อนร่วมงานถึงอนาคตของตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร

หลังจากที่จบชีวิตการเป็นพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ที่ได้ ชื่อว่าเป็นทีวีเสรีมีการทำงานที่ครองใจผู้ชมมายาวนาน บางคนก็กอดกันและจับมือให้กำลังใจซึ่งกันและกันด้วยใบหน้าเศร้าหมองดวงตาแดงก่ำ  ด้านนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวด้วยใบหน้ายิ้มแย้มหลังทราบผลการตัดสินของศาลปกครองว่า ไม่ได้รู้สึกโล่งใจ หรือไม่โล่งใจ เพราะสิ่งที่ทำเป็นหน้าที่ ในฐานะข้าราชการคนหนึ่ง ที่ต้องทำงานตามหน้าที่ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ สิ่งที่เกิดขึ้นกับพนักงานทีไอทีวี อาจเป็นเพราะไม่เข้าใจและสับสนในสิ่งที่เกิดขึ้นมากกว่า ตนทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ถูกต้องและรอบคอบ จากนี้ไปก็เป็นหน้าที่ของบอร์ดทีพีบีเอส และคงไม่มีอะไรจะฝากไปถึงอดีตพนักงานทีไอทีวี เพราะเชื่อว่าความสัมพันธ์ยังคงอยู่เหมือนเดิม หลังกล่าวจบนายปราโมชก็เดินทางกลับ  โดยอ้างว่าจะไปงานต่อ และเมื่อเวลา 19.45 น. นายขวัญสรวง อติโพธิ ประธานบอร์ดทีพีบีเอส และนายอภิชาติ ทองอยู่ กรรมการ ได้เดินทางกลับมายังกรมประชาสัมพันธ์ หลังจากที่ไปรับประทานอาหารร่วมกันกับบอร์ดไทยพีบีเอส
  

นายขวัญสรวงกล่าวว่า รู้สึกโล่งใจที่จะทำงานต่อไป แต่ก็ไม่ได้กังวลในสิ่งที่เกิดขึ้น

เพราะเราเป็นทีมงานมาใหม่ การไปคุยกันในวันที่ 17 ม.ค. เพื่อจัดระบบการทำงาน ในเบื้องต้นได้มอบหมายให้นายเทพชัย หย่อง ดำเนินการเรื่องข่าว รวมถึงการคัดเลือกบุคลากรที่จะเข้ามาทำงาน ซึ่งในวันที่ 19-20 ม.ค.นี้ จะประชุมรายละเอียดของการทำงานทั้งหมด คาดว่าวันจันทร์ที่ 21 ม.ค.นี้ คงจะเห็นเป็นรูปเป็นร่างที่ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบ ในระหว่างนี้ก็ยังจะคงใช้กรมประชาสัมพันธ์เป็นที่ทำงานไปก่อน และในวันที่ 18 ม.ค.นี้ จะเดินทางไปพบกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กทั้งหมดประมาณ 30 ราย เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังคำเสนอแนะ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เป็นไปตามนโยบายทีวีสาธารณะอย่างแท้จริง โดยจะไปหารือที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เวลา 09.00 น. 


ขณะที่นายอภิชาติ ทองอยู่ โฆษกบอร์ดทีพีบีเอส กล่าวว่า

รู้สึกเห็นใจพวกน้องๆทีไอทีวีเหมือนกัน แต่เราก็ต้องทำงานตามภาระหน้าที่ที่เราได้รีบมอบหมาย หวังว่าทุกฝ่ายคงเข้าใจ จะพยายามทำงานอย่างเต็มที่ และเอาทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง ส่วนกรณีที่จะพิจารณาว่าการคัดเลือกพนักงานเพื่อเข้ามาทำงานนั้น จะคัดเลือกด้วยความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยบอร์ดทั้ง 5 คน จะมีส่วนร่วมในการคัดเลือกคนด้วย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของนายเทพชัย
 

อีกด้านหนึ่ง ในเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน ที่ศาลปกครอง

นพ.เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำ นปช. พร้อมด้วยนายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตแกนนำ นปช. มายื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายชั่วคราว ของโครงการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน เพื่อพิจารณาออกมาตรการคุ้มครอง โดยให้คณะกรรมการชุดดังกล่าว ยุติการทำงานชั่วคราวไว้ก่อนจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น หรือพิพากษาคดีจนถึงที่สุด นพ.เหวงกล่าวว่ามติ ครม.ดังกล่าวที่แต่งตั้งคณะกรรมการ ตาม พ.ร.บ.ส.ส.ท. มาตรา 58 ระบุว่าต้องปราศจากอคติทางการเมือง และผลประโยชน์ทางพาณิชย์ แต่เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของคณะกรรมการ พบว่าบางคนมีแนวความคิดสนับสนุนคณะ รัฐประหาร สนับสนุนหรือโน้มเอียงไปในทาง คมช. และยังเป็นผู้ดำเนินการธุรกิจสื่อสารมวลชนมายาวนาน แม้จะอ้างว่าลาออกแล้วก็ตาม เหตุผลดังกล่าวจะทำให้สถานี โทรทัศน์สาธารณะนี้ กลายเป็นเครือข่ายของธุรกิจเอกชนในที่สุด จึงมาพึ่งอำนาจศาลปกครอง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์