เปิดแอร์ 25 องศา ภาวะน่าสบาย...จริงหรือ?
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 10 พฤษภาคม 2549 20:00 น.
สำหรับประเทศไทยแล้ว ครึ่งหนึ่งของค่าไฟฟ้าที่ใช้ในอาคารและบ้านเรือน คือพลังงานเพื่อการปรับอากาศ ดังนั้น นอกเหนือจากการกำหนดให้อาคารที่จัดสร้างขึ้นใหม่บางประเภทต้องมีการออกแบบเพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานในอาคารแล้ว การประชาสัมพันธ์ให้ เปิดแอร์ที่ 25 องศา คืออีกหนึ่งมาตรการที่มีการรณรงค์ผ่านสื่อหลายแขนงไปสู่ประชาชนทั่วไป
คำถามก็คือ 25 องศาคืออะไร ทำไมต้อง 25 องศา และ ตัวเลขนี้เหมาะกับเมืองไทยหรือไม่
ดร.จันทกานต์ ทวีกุล จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) และอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ภาวะน่าสบาย (Thermal Comfort) คือตัวเลขของสภาพแวดล้อมต่างๆ ภายในอาคารที่ถูกกำหนดขึ้นในต่างประเทศ เพื่อสร้างมาตรฐานที่จะใช้ประกอบออกแบบและก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ที่จะทำให้ผู้อยู่ในอาคารหลังนั้น มีความสบายมากที่สุด โดยคำนึงถึงการประหยัดพลังงานไปพร้อมกัน
ตัวเลข 25 องศาเซลเซียส คือหนึ่งในตัวเลขของมาตรฐานภาวะน่าสบายในอาคาร ที่ภายใต้มาตรฐานนี้ยังประกอบด้วยค่าอื่นๆ อีกหลายตัว เช่น ความชื้นสัมพัทธ์ ปริมาณแสงส่องสว่าง ความเร็วลม ฯลฯ ตัวเลขทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นตัวเลขที่ตายตัวสามารถปรับเปลี่ยนได้ โดยมีความสัมพันธ์กันเชิงสมการที่ได้จากการทดลองและวิจัยที่มีการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในประเทศตะวันตก และได้ถูกนำมาบอกกล่าวกับคนไทยว่า เป็นตัวเลขอุณหภูมิที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยในอาคารแถบเมืองร้อน ทั้งที่ในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำกว่าเราได้กำหนดอุณหภูมิสำหรับภาวะสบายนี้ไว้ที่ 26 องศาเซลเซียส
ดร.จันทกานต์ ตั้งคำถามว่า การทำให้อุณหภูมิในห้องลงมาอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส ขณะที่อุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ประมาณ 35 องศาเซลเซียส สำหรับประเทศเขตร้อนเช่นเมืองไทยนั้น ย่อมต้องหมายถึงการใช้เครื่องปรับอากาศเพียงอย่างเดียว ขณะที่การปลูกบ้านหลังคายกสูง และทำให้มีอากาศจากภายนอกที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ไหลผ่านโดยสะดวก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาคนไทยในการสร้างที่อยู่อาศัยนั้น ก็สามารถสร้างสภาวะน่าสบายได้เองที่อุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส โดยไม่ต้องมีการใช้เครื่องปรับอากาศแต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลภาครัฐระบุว่าการเพิ่มอุณหภูมิห้อง 1 องศาเซลเซียส จะลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้น งานวิจัยเพื่อให้เกิด องค์ความรู้ ที่จะนำไปสู่การกำหนด สภาวะน่าสบาย ที่เหมาะสมกับประเทศไทยอย่างแท้จริง ที่จะสามารถนำไปใช้เชิงนโยบายและการรณรงค์เพื่อการประหยัดพลังงาน จึงเป็นหนึ่งในข้อเสนอของการประชุมสัมมนาประจำปีของ JGSEE เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา
คำถามก็คือ สภาวะความน่าสบายที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมในประเทศไทย จะอยู่ที่อุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียสได้หรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง นอกจากจะสามารถรณรงค์เพื่อให้เกิดการประหยัดพลังงานจากการปรับอากาศที่อุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาได้แล้ว ยังนำไปสู่ความเป็นไปได้ในการพัฒนาอาคารที่อยู่อาศัยที่สามารถสร้างสภาวะน่าสบาย โดยไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ (หรือใช้น้อยลง) ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งว่า ในฐานะนักวิชาการเราตอบไม่ได้ เพราะเรานำตัวเลยนี้มาจากต่างประเทศ แต่หากเรามีการวิจัยกันจริง ๆ ก็มั่นใจว่าจะสามารถกำหนดอุณหภูมิน่าสบายของไทยได้ ดร.อัจฉราพรรณ จุฑารัตน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าว
ดร.อัจฉราพรรณ กล่าวถึงงานวิจัยที่ JGSEE จะดำเนินการในช่วง 3 ปี ข้างหน้านี้ จะประกอบไปด้วยการศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดภาวะน่าสบายสำหรับประเทศไทย (Thermal Comfort for Thailand) พร้อมทั้งการพัฒนาโปรแกรมที่เมื่อใส่ค่าตัวเลขต่างๆ ในเชิงวิศวกรรมและการออกแบบลงไปแล้ว จะสามารถคำนวณตัวเลขได้ว่าอาคารหลังที่จะสร้างนั้นจะทำให้ผู้อยู่ในอาคารเกิดภาวะน่าสบายได้หรือไม่ และสุดท้ายคือการพัฒนาโปรแกรมการออกแบบอาคารที่จะสามารถทำให้สถาปนิกและวิศวกรสามารถออกแบบอาคารที่ให้ความสบายกับผู้อาศัยในอาคารโดยคำนึงถึงเรื่องการประหยัดพลังงานไปพร้อมๆ กัน
สำหรับตัวเลข 25 องศาเซลเซียสนั้น นักวิจัย JGSEE ทั้งสองท่านกล่าวว่า แม้ว่าตัวเลขอุณหภูมิของสภาวะน่าสบายแบบไทยๆ ยังไม่ออกมา แต่การใช้พัดลมร่วมกับเครื่องปรับอากาศ ก็ทำให้เราสามารถเพิ่มอุณหภูมิในห้องเป็น 26-27 องศาเซลเซียสได้โดยให้ความสบายไม่แพ้กัน แถมยังประหยัดเงินค่าไฟได้อีกด้วย