ศาลปค.นัดชี้ชะตา ทีไอทีวีบ่าย17มค.

พนักงานทีไอทีวียังเฝ้าลุ้นระทึกในชะตากรรมตัวเองว่าจะมีอนาคตไปในทิศทางใด หลังศาลปกครองนัดฟังคำสั่งว่าจะคุ้มครองฉุกเฉินหรือไม่ในวันที่ 17 ม.ค. ตามที่ได้ยื่นคำร้องไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สั่งสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินสรรหาคณะกรรมการ 15 คน เพื่อสรรหาคณะกรรมการนโยบายมาบริหารทีวีสาธารณะ 


คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ว่า
 
ได้สั่งการให้ นายจุลยุทธ หิรัญยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ดำเนินการกำหนดระเบียบการจัดตั้งคณะกรรมการสรรหา 15 คน เพื่อเข้ามาทำหน้าที่สรรหาคณะกรรมการนโยบายเพื่อทำหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์สาธารณะ หรือองค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส จำนวน 9 คน ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและเผยแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ โดย สปน.จะเป็นผู้เตรียมระบบและเชิญประชุมคณะกรรมการสรรหา และจะแบ่งฝ่ายเลขาออกเป็นสองกลุ่ม ประกอบด้วย

1.
ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายทีวีสาธารณะชั่วคราวทั้ง 5 คน ที่ ครม.แต่งตั้งไปแล้ว จนกว่าองค์กรถาวรจะสามารถดำเนินการได้
2.
ตั้งฝ่ายเลขานุการเพื่อดำเนินการสรรหาคณะกรรมการ โดยคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 15 คน ซึ่งจะมีหน้าที่กำหนดวิธีการสรรหาร่วมกับ สปน. เพื่อทำหน้าที่สรรหาคณะกรรมการนโยบายทั้ง 9 คน ซึ่ง สปน.จะเป็นผู้กำหนดวิธีการว่าจะเปิดรับสมัคร หรือใช้กระบวนการสรรหาด้วยตนเอง หรือเป็นอย่างอื่นก็ได้แล้วแต่จะตกลงกัน โดยจะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการ 9 คนเป็นสำคัญ
 

“ดิฉันได้สั่งการให้ สปน.หาบุคคลที่มีประสบการณ์ ในการสรรหาคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) และมั่นใจว่า สปน.จะสามารถกำหนดรูปแบบการสรรหาได้ พร้อมย้ำให้ สปน.ทบทวนอย่าให้มีปัญหาเช่นในอดีต เช่น การฟ้องร้องการสรรหาคณะกรรมการ กสช.อย่างซ้ำซาก อีกทั้งคณะกรรมการสรรหาจะต้องเลือกประธาน พร้อมกับร่วมกันสอบประวัติผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการนโยบายด้วย นอกจากนี้ นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. ได้ถ่ายโอนเงินที่เป็นรายได้จากค่าโฆษณาของสถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี รวมทั้งอุปกรณ์ เอกสารต่างๆ ให้กับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส แล้ว ดังนั้น ทำให้หน้าที่ของรัฐมนตรี และอธิบดีในการกำกับดูแลหมดลงแล้ว” คุณหญิงทิพาวดีกล่าว


ด้านนายขวัญสรวง อติโพธิ ประธานคณะกรรมการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (บอร์ดไทยพีบีเอส) หรือทีวีสาธารณะ กล่าวว่า

ภายใน 1-2 วันนี้ จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับสถานที่ทำงานของบอร์ดและทีมงาน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้สถานที่ทำงานของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี อาคารชินวัตร 3 เพราะได้โอนเป็นทรัพย์สินของกรมประชาสัมพันธ์แล้ว หรือสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ดไทยพีบีเอส ขณะนี้ยังทำอะไรไม่ได้มาก เพราะเพิ่งผ่านมาเพียง 24 ชั่วโมง ทำได้เพียงเปิดบัญชี ตั้งกองเลขานุการ เพื่อนำหน้าที่ประสานงาน แต่ยังไม่มีคนมาร่วมทำงาน เพราะยังไม่มีสถานีทำงาน บอร์ดไทยพีบีเอสก็ยังไม่ได้นัดประชุม เพราะต่างไปทำหน้าที่ที่ตัวเองถนัด เช่น นายณรงค์ ใจหาญ ก็ไปศาลปกครอง
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานีที่ทำงานของบอร์ดไทยพีบีเอส มีความเป็นไปได้ที่จะใช้ที่ทำงานเดิม ของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี อาคารชินวัตร

เนื่องจากสัญญาเช่าจะสิ้นสุดในเดือน พ.ย. 2551 และสถานีทีไอทีวีก็มีความพร้อมในด้านอุปกรณ์การทำงาน โดยเฉพาะงานข่าวที่จะเริ่มแพร่ภาพตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.นี้ เป็นต้นไป ในส่วนการเปิดรับสมัครพนักงานสถานีโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ซึ่งเป็นวันแรกนั้น ปรากฏว่า อดีตพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติงานในวิชาชีพสื่อสารมวลชนส่วนใหญ่ ยังไม่เดินทางมาสมัครในวันนี้ โดยจะขอรอฟังคำสั่งศาลปกครองในช่วงบ่ายวันที่ 16 ม.ค. ว่าจะมีคำสั่งคุ้มครองฉุกเฉิน ตามที่อดีตพนักงานทีไอทีวี ได้ไปยื่นคำร้องไว้เมื่อวันที่ 15 ม.ค. หรือไม่ และแม้ว่าสถานีโทรทัศน์สาธารณะไทยพีบีเอส จะมีคณะกรรมการชั่วคราว 5 คน เข้ามาบริหารแล้วก็ตาม แต่พนักงานยังไม่มั่นใจ โดยเฉพาะกรณีความเป็นกลางและการไม่เข้ามาแทรกแซงการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้สนใจเข้ามาสมัครในตำแหน่งต่างๆ อาทิ นางลีนา จังจรรจา เข้ามาสมัครในตำแหน่งผู้ประกาศข่าวด้วย
 

สำหรับบรรยากาศที่สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี อาคารชินวัตร 3 บ่ายวันเดียวกันนี้ พนักงานฝ่ายต่างๆ ประมาณ 200 คน เดินทางเข้ามาปักหลักรอฟังผลการพิจารณาไต่สวนฉุกเฉินของศาลปกครองว่า

จะออกมาในทิศทางไหน โดยทุกคนคาดว่าอาจจะทราบผลการพิจารณาในช่วงเย็น ซึ่งจะได้รู้อนาคตของตัวเองว่า ศาลจะให้ความคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้มีการแพร่ภาพออกอากาศได้อีกต่อไป หรือว่าจะต้องเก็บข้าวของไปหางานทำใหม่ ขณะที่รอฟังผลอยู่นั้น ได้มีการนำใบสมัครงานของทีวีสาธารณะไทยพีบีเอส มาถ่ายเอกสารแจกจ่ายให้พนักงานทุกคน เก็บไว้กรอกข้อมูลประวัติส่วนตัว และตำแหน่งงานที่จะใช้ในการยื่นสมัครงาน ที่กรมประชาสัมพันธ์ ซอยอารีย์ ระหว่างวันที่ 16 -19 ม.ค. ซึ่งพนักงานบางคนได้รีบจัดเตรียมเอกสาร ในการสมัครงานไว้ทันที แต่เมื่อสอบถามได้บอกว่าแค่เตรียมไว้เท่านั้น จะยังไม่ไปสมัครงานจนกว่าจะได้รับทราบผลการพิจารณาของศาลปกครอง



ในเวลา 13.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 2 ศาลปกครองกลาง นายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนฉุกเฉิน

กรณีที่พนักงานทีไอทีวี ยื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ยุติการแพร่ภาพตั้งแต่เวลา 24.00 น. วันที่ 14 ม.ค. โดยฝ่ายกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้องมีนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เป็นผู้มาให้ถ้อยคำ ในขณะที่ฝ่ายพนักงานทีไอทีวี ส่งตัว แทน 5 คน ประกอบด้วย นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม บก.ข่าวเช้า นายจาตุรงค์ สุขเอียด บก.ข่าวเฉพาะกิจ นายอลงกรณ์ เหมือนดาว บก.บริหาร นายฉัตรชัย ตะวันธรงค์ รอง ผอ.ฝ่ายข่าว และ น.ส.ตวงพร อัศววิไล บก.ข่าวประจำวัน เข้าให้ถ้อยคำ
 

ก่อนการไต่สวน นายปราโมชกล่าวว่า สำหรับประเด็นในการนำเสนอต่อศาล จะชี้แจงว่า การสั่งให้สถานีโทรทัศน์ ทีไอทีวี ยุติการออกอากาศเป็นอำนาจตามกฎหมายของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์

เพราะตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 50 สำนักงานปลัดสำนักนายกฯ มอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ เข้าไปกำกับดูแลสถานีทีไอทีวี เมื่อเป็นหน่วยราชการหน่วยหนึ่ง ในสังกัดกรมประชาสัมพันธ์ อำนาจในการกำกับดูแลจึงเป็นของอธิบดี อีกอำนาจหนึ่งคือตาม พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ กำหนดให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นเจ้า พนักงานผู้ออกใบอนุญาต และควบคุมกำกับดูแลให้กิจการทั้งหมด เป็นไปตามกฎหมายใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวข้อง เมื่อพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ ของกรมประชาสัมพันธ์ ใหม่ ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 14 ม.ค. 2551 และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ม.ค. 2551 จึงต้องมีประกาศยุติการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีโดยกะทันหัน
 

เมื่อถามว่า เหตุใดก่อนที่มีการประกาศพระราชกฤษฎีกา ถ่ายโอนหน่วยงานในราชกิจจานุเบกษา จึงไม่มีการประสานกับพนักงานสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีก่อนว่าจะมีการยุติการออกอากาศกะทันหัน นายปราโมช กล่าวอีกว่า

มีการแจ้งให้ทราบโดยตลอดเวลา ในใบสัญญาในเงื่อนไขทั้งของพนักงานและผู้ผลิตรายการก็ระบุชัดเจนว่า เมื่อกฎหมายสื่อสาธารณะมีผลบังคับใช้ ทุกอย่างจะต้องยกเลิกและถ่ายโอนให้สื่อสาธารณะโดยทันที นอกจากนี้กฎหมายตัวนี้ก็เป็นข่าวมาโดยตลอด  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการไต่สวนฉุกเฉิน มีประชาชนที่มาให้กำลังใจกับอดีตพนักงานทีไอทีวีประมาณ 100 คน รวมทั้งผู้จัดรายการของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี อาทิ นายไตรภพ ลิมปพัทธ์ ทั้งนี้ในคดีดังกล่าวมีอดีตพนักงานทีไอทีวีและประชาชน ยื่นคำร้องเป็นผู้ร้องสอดจำนวน 105 คน รวมทั้ง น.พ.เหวง โตจิราการ และนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ด้วย นอกจากนี้ ตุลาการศาลปกครองกลางได้ออกหมายเรียกคณะกรรมการชั่วคราวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มาให้ถ้อยคำในฐานะพยานด้วย ซึ่งคณะกรรมการชั่วคราวฯได้มอบหมายให้นายณรงค์ ใจหาญ เป็นตัวแทนชี้แจงต่อศาล
 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการไต่สวน คณะตุลาการ ได้ตั้งประเด็นคำถามถึงความเสียหายของหน่วยงานของรัฐ

หากไม่มีคำสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ว่าจะส่งผลกระทบอย่างใดหรือไม่ รวมทั้งการสั่งการปิดสถานีใช้อำนาจตามกฎหมายใดมาบังคับใช้ ทั้งนี้คณะตุลาการได้เริ่มจากการสอบถามนายพุฒิศักดิ์ นามเดช ผู้ตรวจราชการสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และนายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จากนั้นจึงได้สอบถามทั้งผู้ฟ้องคดี โดยได้มอบหมายให้ นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม บก.ข่าวเช้า เป็นผู้ชี้แจงต่อศาล โดยมีผู้ร้องอีก 4 คนร่วมเสริมประเด็นข้อสงสัย และได้สอบถามตัวแทนประชาชนซึ่งเป็นผู้ร้องสอด โดยมีนางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เป็นตัวแทน จากนั้นคณะตุลาการได้สอบถามนายณรงค์ ใจหาญ ตัวแทนจากคณะกรรมการชั่วคราวกำหนดนโยบาย ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวน คณะตุลาการมีคำสั่งพักการพิจารณา 30 นาที ในเวลา 17.00 น. โดยใช้เวลาไต่สวนพยานประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที
 

นายณรงค์กล่าวถึงการชี้แจงต่อคณะตุลาการฯว่า ศาลได้สงสัยถึงประเด็นความเดือดร้อนเสียหายของคณะกรรมการ หากปล่อยให้มีการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ว่า
 
ได้เรียนศาลไปว่าหากให้มีการออกอากาศต่อไป จะมีปัญหาด้านการจัดผังรายการ รวมทั้งมีข้อถกเถียงด้านกฎหมาย เพราะตามกฎหมายสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีถือว่าไม่มีอยู่แล้ว พนักงานของสถานีก็ไม่มี แต่ทุกอย่างโอนกลับมาอยู่กับสถานีไทยพีบีเอส ทั้งอุปกรณ์ สำนักงาน ซึ่งหากให้ออกอากาศ ก็จะมีประเด็นคำถามว่า ใครจะเป็นคนดำเนินการ ใช้พนักงานที่ไหนมา และอุปกรณ์ ออกอากาศใช้ที่ไหน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดอยู่ที่ดุลพินิจของศาล ซึ่งหากมีผลอย่างไร ตนจะนำคำสั่งศาลไปปรึกษากับคณะกรรมการทั้ง 5 คนอีกครั้งหนึ่ง สำหรับการประชุมของคณะกรรมการฯ ขณะนี้ได้ดำเนินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งภารกิจเร่งด่วนก็คือการจัดผังรายการ รวมทั้งการจ้างพนักงาน และระดับหัวหน้าข่าว ซึ่งคณะกรรมการมอบให้เป็นอำนาจของนายเทพชัย หย่อง รักษาการ ผอ.สถานี เป็นผู้รับผิดชอบ
 

ต่อมาเวลา 17.55 น. การไต่สวนฉุกเฉินเสร็จสิ้น แกนนำพนักงานทีไอทีวี และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้ร่วมกันจับมือแสดงความสมานฉันท์ ต่อหน้าสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวจำนวนมาก

ไม่ว่าผลการพิจารณาของศาลจะออกมาอย่างไรก็ตาม โดยคณะตุลาการศาลปกครอง ได้แจ้งให้คู่ความทั้งสองทราบว่า ช่วงบ่ายของวันที่ 17 ม.ค. ศาลจะมีคำสั่งออกมา โดยจะแจ้งให้คู่ความทราบด้วยโทรสารไปยังสำนักงานของผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีต่อไป  ในเวลา 18.00 น. นายอัชฌา สุวรรณปากแพรก อดีต ผอ.ฝ่ายข่าวทีไอทีวี ได้เรียกประชุมพนักงานทุกคนที่เดินทางมาเฝ้ารอฟังผลการไต่สวนฉุกเฉินของศาลปกครอง ที่ห้องสตูดิโอ บนชั้นที่ 15 เป็นเวลาประมาณ 30 นาที จากนั้นนายพลภฤต เรืองจรัส อดีต บก.ข่าวภูมิภาค ได้ออกมาเปิดเผยว่า เป็นการชี้แจงทำความเข้าใจกับพนักงาน ให้ทราบเรื่องการยื่นคัดค้าน ตลอดจนการพิจารณาของศาลปกครองว่าจะออกมาในทิศทางไหน ซึ่งผลจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ทุกคนพร้อมจะยอมรับ โดยศาลจะส่งผลการพิจารณาทางแฟกซ์มาที่ทีไอทีวีในเวลา 13.00 น. วันที่ 17 ม.ค.  ถึงเวลานั้นถึงจะมีการกำหนดท่าทีอีกครั้งหนึ่งว่าจะทำอย่างไรต่อไป ตอนนี้ทุกคนยังมีกำลังใจดีอยู่ เพราะมีความเป็นมืออาชีพในเรื่องของข่าว และได้ชี้แจงถึงขั้นตอนในการสมัครงานกับทีวีสาธารณะ ว่ามีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ไม่ได้บังคับว่าใครต้องสมัครหรือไม่สมัคร อยู่ที่ความคิดของแต่ละคน สำหรับคนที่จะไปสมัครก็อาจจะรวมกันไปในครั้งเดียว แต่ตอนนี้ยังต้องรอฟังผลการไต่สวนของศาลก่อน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์