แฉปลาร้าปักเป้า ผลิตจากโรงงาน ในจ.นครสวรรค์

จากกรณีนางสมใจ ซื่อตรง อายุ 47 ปี อยู่หมู่ 2 ต.หนองบัว อ.บ้านค่าย จ.ระยอง นางบังอร ชูจรัส อายุ 42 ปี และนางอมรา อ่างแก้ว อายุ 20 ปี ซื้อปลาร้าทำจากปลาปักเป้าน้ำจืด จากแผงค้าของนางปราณี สิทธิเวช ตลาดสดหนองกรับ ต.หนองบัว นำมาทำส้มตำปลาร้ากิน แล้วมีอาการหน้ามืด คลื่นไส้ ตัวชา วิงเวียนศีรษะ และปวดท้องอย่างรุนแรง ถูกนำส่ง รพ.บ้านค่าย แพทย์ได้ล้างท้องช่วยเหลือรอดชีวิตมาได้ ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบถึงแหล่งผลิตนั้น
 

ความคืบหน้าการสืบหาแหล่งผลิตปลาร้ามหาภัย เมื่อวันที่ 16 ม.ค.

นพ.มรกต กรเกษม รมช.สาธารณสุข เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง ได้เก็บตัวอย่างปลาร้าจากร้านค้าในตลาดหนองกรับ พบว่าแหล่งผลิตเป็นโรงงานในจังหวัดนครสวรรค์ และได้สั่งการให้ ทุกจังหวัดกวดขันเรื่องการนำปลาปักเป้าน้ำจืดและน้ำเค็มมาจำหน่ายแก่ผู้บริโภค ทั้งร้านหมูกระทะ และการแปรรูปเป็นอาหาร ไม่ว่าจะเป็นลูกชิ้น หมักทำเป็นปลาร้ารวมกับปลาอื่น ๆ เนื่องจากพิษของปลาปักเป้า ทนต่อความร้อน ความเค็ม ไม่สลายไปเมื่อนำมาปรุงอาหาร
 

รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า พิษของปลาปักเป้ามีชื่อว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin)

พบมากที่ส่วนของไข่ ตับ ลำไส้ หนังของปลา หลังได้รับพิษราว 10-30 นาที จะมีอาการเริ่มจากชาที่ริมฝีปาก ลิ้น ใบหน้า จนมีอาการรุนแรง กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจไม่ออก ไม่รู้สึกตัว และเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ฉบับที่ 264 พ.ศ. 2545 ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย คือปลาปักเป้าทุกชนิด และอาหารที่มีปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค พร้อมขอร้องผู้ประกอบการอาหาร เห็นแก่ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน ไม่นำปลาปักเป้ามาแปรรูปเป็นอาหารจำหน่ายโดยเด็ดขาด
 

ด้าน นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า

พิษจากปลาปักเป้า ยังไม่มียาแก้พิษโดยเฉพาะ การรักษาของแพทย์ ต้องใช้การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ โดยให้น้ำเกลือ หากหยุดหายใจจะใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยพิษของปลาปักเป้าจะขับออกจากร่างกายทางปัสสาวะ หากพิษหมดจากร่างกาย อาการผู้ป่วยก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ในการรับประทานอาหารจำพวกปลา เช่นในร้านหมูกระทะ ข้าวต้มปลา ปลาผัดคึ่นฉ่าย ปลาผัดเผ็ดต่างๆ ขอให้สังเกตลักษณะของเนื้อปลา ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนเนื้อไก่ หากรับประทานแล้วมีอาการผิดปกติให้รีบไปโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด เพราะที่ผ่านมาการเสียชีวิตส่วนใหญ่มักมาจากการหยุดหายใจ
 

ขณะที่ น.ส.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า

ปลาปักเป้าที่นำมาทำปลาร้า น่าจะเป็นปลาปักเป้าน้ำจืด ซึ่งมีพิษรุนแรงกว่าปลาปักเป้าทะเล โดยสารพิษในปลาปักเป้าน้ำจืด คือ Paralytic Shellfish Poisoning ไม่ใช่เตโตรโดท็อกซิน ที่พบในปลาปักเป้าทะเล ปลาปักเป้าน้ำจืดมีขนาดเล็ก ลำตัวกลม มีหนามเล็กๆ ทั่วตัว สีบริเวณหัว หลัง และคอดหาง มีสีเข้ม และจางบริเวณข้างลำตัว ใต้ครีบหลังมีแต้มสีเข้ม บริเวณท้องมีริ้วสีทองจางๆ ประสานกันคล้ายร่างแห ถ้ามีปลาปักเป้าหลุดมาทำเป็นปลาร้า ผู้ผลิตหรือผู้บริโภคน่าจะมองเห็นได้ทั้งตัวสังเกตได้ แต่จากการไปตรวจโรงงานได้รับข้อมูลว่า ในการทำปลาร้า จะใช้ปลากระดี่ ปลาสร้อยและปลาคัดรวม โดยจะมีสติกเกอร์ติดที่ปากถุงระบุว่าเป็นปลาชนิดใด สำหรับกรณีที่เกิดขึ้น อย.ได้ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและสำนักระบาดวิทยา เข้าไปสืบสวนหาสาเหตุว่ามีปลาปักเป้าปนเปื้อนมาได้อย่างไร หากพบว่าโรงงานมีส่วนรู้เห็นนำปลาปักเป้ามาทำเป็นปลาร้า ก็จะดำเนินคดีตามกฎหมาย
 

ด้านนางจุรีภรณ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กำลังพัฒนาชุดทดสอบสารพิษจากปลาปักเป้า เพื่อนำไปใช้ตรวจในโรงงาน เป็นการตรวจภาคสนาม ซึ่งจะทำให้ทราบผลว่ามีการลักลอบนำปลาปักเป้ามาจำหน่ายหรือไม่ เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง.


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์