สธ.เตือน อหิวาต์ระบาด ชี้แรงงานต่างด้าวต้นเหตุ

ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 13 ม.ค. ว่า

ได้รับการเปิดเผยจาก นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ถึงสถานการณ์การเฝ้าระวังการระบาดของอหิวาตกโรค ว่าสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ได้มีการดำเนินการเฝ้าระวังการระบาดของโรคอหิวาตกโรคอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีสัญญาณเตือนในปี 2550 ว่าอาจเกิดการระบาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะการพบเชื้ออหิวาต์ ชนิดโอกาว่ามากขึ้น ซึ่งผิดจากปกติที่ลักษณะการระบาดของโรค จะมีการระบาดเป็นระลอก แต่ในปี 2550 มีการพบระบาดของเชื้อชนิดนี้ต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ทำให้ จำเป็นต้องมีการคาดการณ์ถึงสถานการณ์การระบาดของอหิวาตกโรค ในปี 2551 ที่อาจรุนแรงมากขึ้นและเกิดการระบาดใหญ่ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากได้
 

นพ.คำนวณกล่าวว่า

 สำนักระบาดวิทยาได้เฝ้าระวังถึงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอย่างใกล้ชิด และพบว่าสาเหตุของการระบาดของอหิวาตกโรค แบ่งได้เป็นกลุ่มใหญ่ๆ คือการระบาดในศูนย์อพยพต่างๆ การระบาดแถบชายฝั่งทะเล เนื่องจากการทิ้งของเสียและถ่ายลงแม่น้ำ ทำให้เชื้อสะสมอยู่ในสัตว์ที่ชาวประมงเลี้ยงเพื่อขายตามชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะประเภทหอยสองฝา เช่น หอยแครง หอยแมลงภู่ ซึ่งกลุ่มนี้พบการระบาดในชุมชนของคนงานต่างด้าว เช่น พม่า กัมพูชา ที่อาศัยอยู่กันเป็นชุมชนอย่างแออัดในบริเวณดังกล่าว มีห้องน้ำไม่เพียงพอ แถบสุราษฎร์ธานี ระนอง มหาชัย ฯลฯ ลักษณะของสุขาภิบาลไม่ดี เชื้อจึงปนเปื้อนอยู่ในอาหารและน้ำของชุมชน ทำให้เกิดการระบาดในวงกว้าง ที่สำคัญคนเหล่านี้มีภูมิต้านทานต่อโรคสูงเพราะป่วยซ้ำซาก ทำให้ บางครั้งแม้จะป่วยเป็นอหิวาต์ แต่ก็ไม่ได้มาพบแพทย์ แค่กินยาแก้ท้องเสียหรือเกลือแร่ก็หยุดถ่าย แต่เชื้อยังอยู่ในตัว ขณะที่คนไทยบางส่วนมีภูมิต้านทานต่อโรคน้อยกว่า ส่วนการระบาดอีกกลุ่มคือ การระบาดในพื้นที่ภาคอีสาน เกิดจากลักษณะการกินสุกๆ ดิบๆ เช่นที่ขอนแก่นพบผู้ป่วยอหิวาต์ เนื่องจากกินหอยแครงลวกไม่สุก เป็นต้น
 

“การถ่ายลงในแม่น้ำที่ไหลลงทะเล ซึ่งมีการเลี้ยงกุ้ง หอย ปู ปลา จะทำให้เชื้อโรคไปเกาะอยู่กับแพลงก์ตอน ที่สัตว์กินเป็นอาหารและจะสะสมอยู่ เมื่อนำไปทำอาหารรับประทานแบบไม่สุก หรือสุกๆ ดิบๆ ก็จะทำให้เกิดอหิวาตกโรค หรือโรคทางเดินอาหารอื่นๆ ที่พบบ่อย คือ ไวรัสตับอักเสบเอ ซึ่งจะทำลายตับ ทำให้เป็นดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง และอาจได้รับไวรัสวิบริโอ ทำให้เกิดอาการท้องเสียอย่างรุนแรงได้” ผอ.สำนักระบาดวิทยากล่าว
 

นพ.คำนวณยังกล่าวอีกว่า

เชื้ออหิวาตกโรคเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อที่ออกมากับอุจจาระ หรือสิ่งอาเจียนของผู้ป่วย หรือผู้ที่เป็นพาหะอาการของโรค ส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงเล็กน้อย ในรายที่เป็นรุนแรง จะถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมากๆ อุจจาระคล้ายน้ำซาวข้าว กลิ่นเหม็นคาว อาจมีอาเจียนร่วมด้วย มักไม่มีอาการปวดท้อง ดังนั้น ควรรับประทานอาหารที่สุก ดื่มน้ำที่สะอาด ไม่ควรดื่มน้ำจากแม่น้ำลำคลอง เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ล้างมือหลังจากเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และไม่ควรถ่ายลงแม่น้ำลำคลอง


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์