โอ-เอเน็ตวุ่นอีก นร.เช็กเว็บไซต์ คะแนนเพี้ยนอื้อ

โอ-เอเน็ตวุ่นอีก นร.เช็ก"เว็บไซต์" คะแนนเพี้ยนอื้อ

นักเรียนและผู้ปกครองนับร้อยร้อนใจเช็กเว็บไซต์ยังเห็นคะแนนเพี้ยนเหมือนเดิม ยกขบวนบุกสทศ.ทวงถามถึงการปรับแก้คะแนนที่ผิดพลาด ประธานบริหารสทศ.รีบแจงกำลังทยอยส่งข้อมูล ด้าน จาตุรนต์ นัดประชุมสรุปปัญหาในภาพรวม 8 พ.ค. เผยกระแสต้านข้อสอบอัตนัยมาแรง แต่ยืนยันปีหน้าไม่เลิกใช้แน่ แถมยังจะส่งเสริมให้การสอบทุกระดับใช้ข้อสอบอัตนัยให้มากขึ้นด้วย แต่ต้องคุมการออกข้อสอบและการวัดผลให้มีมาตรฐานกว่านี้

เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 6 พ.ค. ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีนักเรียนและผู้ปกครองประมาณ 100 ราย ได้มายื่นคำร้องขอตรวจสอบคะแนนโอเน็ต-เอเน็ต โดยส่วนใหญ่ระบุว่าสาเหตุที่ต้องมาที่ สทศ. เนื่องจากมีข่าวว่าจะมีการนำข้อมูลที่มีการปรับแก้แล้วขึ้นเว็บไซต์ให้ในวันที่ 6 พ.ค. แต่เมื่อเข้าไปดูคะแนนกลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จึงร้อนใจและต้องการจะ มาดูคะแนนว่าได้เท่าใดแน่ ซึ่ง รศ.ดร.คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ ประธานคณะกรรมการบริหาร สทศ. เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สทศ. ได้มีการปรับแก้ไขผลคะแนนไปจำนวนมากแล้ว และขณะนี้ได้ทยอยส่งข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรม การการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อนำไปขึ้นเว็บไซต์ เพื่อที่นักเรียนและผู้ปกครองจะได้สบายใจ และไม่ต้องเดินทางมาที่ สทศ. ให้ลำบาก

ต่อข้อถามกรณีนักเรียนและผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังข้องใจการตรวจข้อสอบอัตนัยวิชาภาษาอังกฤษ รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา กล่าวว่า ตนยืนยันว่ามีการตรวจข้อสอบอัตนัยวิชาภาษาอังกฤษใหม่ทั้งหมดจริง ๆ โดยใช้อาจารย์ถึง 5 คน ในขณะที่การตรวจครั้งแรกใช้อาจารย์แค่ 2 คน ทั้งนี้เท่าที่ดูผลการตรวจคะแนนส่วนใหญ่จะมีเพิ่มบ้าง 1-2 คะแนน ส่วนที่ว่าคะแนนเพิ่ม อีก 10 กว่าคะแนนไม่มีอย่างแน่นอน ยกเว้นคนที่มีคะแนนเป็น 0 หรือไม่มีคะแนนมาก่อน แต่ตนขอย้ำว่าการให้คะแนนแต่ละคะแนนไม่ใช่ให้กันได้ง่าย ๆ แต่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและมีหลักเกณฑ์การให้คะแนนที่ชัดเจน

ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขา ธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สทศ. กำลังทยอยส่งผลคะแนนเอเน็ต วิชาภาษาไทยและวิชาภาษาอังกฤษที่ปรับแก้แล้วมาให้ สกอ. เพื่อขึ้นในเว็บไซต์ อย่างไรก็ตามหากผู้มีปัญหาเรื่องของคะแนนและได้สมัครแอดมิชชั่น โดยชำระเงินเรียบร้อยแล้วก็ยังสามารถมายื่นขอแก้ไขข้อมูลได้ โดยในส่วนของแอดมิชชั่นตรงสามารถขอแก้ไขได้จนถึงวันที่ 12 พ.ค. ก่อนจะประกาศผล 14 พ.ค. ส่วนแอดมิชชั่นกลางขอยื่นแก้ไขได้จนถึงวันที่ 22 พ.ค. และจะประกาศผลวันที่ 24 พ.ค. อย่างไรก็ตามขณะนี้มีผู้สมัครแอดมิชชั่นแล้วประมาณ 120,000 ราย คาดว่าในวันปิดรับสมัครวันที่ 9 พ.ค. จะมีผู้สมัครประมาณ 150,000-180,000 ราย

รศ.ประทีป จันทร์คง รักษาการ ผอ. สทศ. กล่าวว่า ศูนย์ตรวจสอบคะแนนในต่างจังหวัดจะให้บริการในวันที่ 6 พ.ค. เป็นวัน สุดท้าย และหลังจากนี้หากใครยังมีปัญหาเรื่องคะแนนคงต้องเข้ามาตรวจสอบที่ สทศ. โดยตรง ส่วนกรณีของผู้ที่ไม่มีปัญหา แต่อยากตรวจสอบคะแนนให้มั่นใจนั้น ขณะนี้คณะกรรมการ สทศ. กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะมีวิธีไหนที่จะให้เด็กกลุ่มนี้ได้ตรวจสอบคะแนน โดยอาจจะให้แจ้งขอตรวจกระดาษคำตอบผ่านทางเว็บไซต์ของ สทศ. จากนั้นเจ้าหน้าที่จะนัดหมายว่าจะส่งไฟล์กระดาษคำตอบหรือส่งข้อมูลกลับไปช่องทางใด

"กรณีที่ยังมีผู้ไม่มั่นใจการตรวจข้อสอบอัตนัยวิชาภาษาอังกฤษนั้น ผมอยากจะบอกว่าอาจารย์ที่มาตรวจข้อสอบล้วนเป็นอาจารย์ที่จบจากต่างประเทศ และได้มีการพิจารณาผลการตรวจอย่างดีแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเช่นนี้ ในปีหน้าคงต้องไปพิจารณาว่าจะยังควรมีข้อสอบอัตนัยอีกหรือไม่" รศ.ประทีป กล่าว

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว. ศึกษาธิการ กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีนักเรียนบางส่วนที่ไม่พอใจกับผลคะแนน รวมทั้งมีการเรียกร้องให้ยกเลิกข้อสอบแบบอัตนัย ดังนั้นในวันที่ 8 พ.ค. จะมีการประชุมสรุปปัญหาในภาพรวมอีกครั้ง แต่ในระหว่างนี้ตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ เร่งแก้ปัญหาของเด็กเป็นราย ๆ ไป เพราะหากจะให้มีการตรวจข้อสอบใหม่ทั้งหมดอีกครั้งคงจะส่งผลกระทบต่อการเปิดภาคเรียนใหม่ แต่อย่างไรก็ตามตนขอยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกข้อสอบอัตนัยอย่างแน่นอน ขณะเดียวกันจะมีการส่งเสริมให้มีการสอบอัตนัยในทุกระดับให้มากขึ้นด้วยทั้งในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการทดสอบสำคัญ ๆ ของประเทศ แต่ทั้งนี้จะต้องดูแลให้การออกข้อสอบและการวัดผลมีมาตรฐานมากขึ้น

"อย่าคิดว่าข้อสอบปรนัยเป็นการวัดผลที่ดี 100% เพราะข้อสอบปรนัยทำให้เราไม่สามารถวัดความสามารถที่แท้จริงของเด็กได้ ซึ่งผมมั่นใจว่าตอนนี้เราเดินมาถูกทางแล้ว" นายจาตุรนต์กล่าว

ด้าน ศ.พญ.บุญมี สถาปัตยนนท์ รองคณบดีฝ่ายการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า ผลคะแนนโอเน็ต-เอเน็ต ที่กลุ่ม กสพท. ใช้ในการพิจารณาคัดเลือกเป็นข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พ.ค. เวลา 21.00 น. แต่หากเด็ก ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกเมื่อมีการตรวจสอบผลคะแนนแล้วพบว่าตนได้คะแนนสูงกว่าคะแนนต่ำสุดของคณะที่เลือกก็ให้ติดต่อที่สถาบันได้โดยตรง ซึ่งแต่ละสถาบันจะเปิดเผยผลคะแนนต่ำสุดทางเว็บไซต์ของแต่ละสถาบันในวันที่ 8 พ.ค.นี้

วันเดียวกัน ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการเปิดประชุมการปฏิรูปการเรียนการสอน โดยมีข้าราชการครูจากสำนักงานเขตการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วประเทศจำนวน 5,000 คน ว่าการสอบ โอเน็ต-เอเน็ต ที่มีปัญหาวุ่น ๆ อยู่ในขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามีข้อผิดพลาดบ้าง ก็ต้องหาทางแก้ไข ส่วนผลสอบของผู้ที่มีคะแนนเป็นศูนย์ประมาณ 7,000 คนนั้น หากมีข้อสงสัยก็สามารถเข้ามาลงชื่อเพื่อตรวจสอบได้ โดยจะตรวจลงไปถึงข้อสอบที่ทำจริง ขณะนี้มีผู้ลงชื่อเข้าขอตรวจสอบแล้วประมาณ 2,000 ราย พร้อมกับยืนยันว่า การศึกษาระบบใหม่จะต้องใช้ข้อสอบแบบอัตนัยเพื่อให้นักเรียนได้เกิดความรู้อย่างกว้างขวาง แต่ระบบการตรวจสอบบกพร่องก็ต้องหา ทางแก้ไข ส่วนผลสอบจะประกาศอย่างเป็นทางการให้ทราบทางอินเทอร์เน็ต ในวันที่ 7 พ.ค.นี้.

ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช กล่าวว่า ในวันที่ 6 พ.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการเปิดบริการของศูนย์ตรวจสอบคะแนนโอเน็ต-เอเน็ต มีผู้ยื่นเรื่องขอตรวจผลสอบทั้งสิ้น 1,196 ราย แบ่งเป็น จุฬาฯ 676 ราย ม.เกษตรศาสตร์ 298 ราย ม.ขอนแก่น 15 ราย ม.เชียงใหม่ 87 ราย ม.มหาสารคาม 25 ราย และ ม.เทคโนโลยี สุรนารี 96 ราย ทั้งนี้ สกอ. ได้สรุปยอดรวมของผู้ยื่นเรื่องขอตรวจสอบคะแนนโอเน็ต-เอเน็ต ตั้งแต่วันที่ 1-6 พ.ค. ปรากฏว่ามีทั้งสิ้น 8,904 ราย โดยมีผู้ได้รับการแก้ไขปัญหาไปแล้ว 6,467 ราย และรอการแก้ไข 2,437 ราย โดยผู้ที่ยังรอการแก้ไขปัญหานั้น ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนต่างจังหวัดที่ต้องรอการส่งข้อมูลไปให้ทางศูนย์ตรวจสอบในภูมิภาค และหลังจากนี้หากนักเรียนคนใดที่ยังต้องการตรวจสอบผลคะแนนก็ต้องมาติดต่อที่ สทศ. โดยตรง.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์