ดร.โอเน็ตโผล่แก้ปัญหาเปิดสาย1323คลายเครียด

"ดร.โอเน็ต"โผล่แก้ปัญหาเปิดสาย1323คลายเครียด

สธ.แจงนักเรียน หรือผู้ปกครอง ที่เครียดจากโอเน็ตหรือเอเน็ต ปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมสุขภาพจิต โทร1323 หรือปรึกษาอัตโนมัติที่ 1667 เลขาธิการ กกอ.ปัดเด็กไม่ได้เครียดเพราะโอเน็ต ยันพอใจผลสอบ ขณะที่หัวหน้าโครงการวิจัยระบบตรวจข้อสอบโอเน็ต มข.โต้ค่าโปรแกรมราคา 2.3 ล้านบาท ไม่ใช่ 10 ล้านบาท และถึงตอนนี้ยังได้เงินไม่ครบ ยืนยันพร้อมรับการตรวจสอบทุกรูปแบบ ขณะที่ สทศ.ยืนยันงบระบบแค่ 2.3 ล้าน ไม่รู้ว่าเอา 10 ล้านมาจากไหน ยืนยันให้ตรวจสอบระบบและจ่ายงวด 2 แน่ ไม่มีทุจริต กลุ่มแพทย์รับไม่จำกัด ยื่นเรื่องภายใน 29 พ.ค.

จนถึงขณะนี้ยังคงมีนักเรียนมายื่นคำร้องขอดูกระดาษคำตอบผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ขอรับการตรวจสอบคะแนนโอเน็ต-เอเน็ต ที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่มีจำนวนลดลงมาก ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่มาขอดูคะแนนจากกระดาษคำตอบเพื่อยืนยันความถูกต้อง ขณะที่นักเรียนที่ต้องได้รับการแก้ไขคะแนนมีจำนวนน้อยมาก เช่นเดียวกับที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ที่เปิดให้ยื่นบัตรคิว จนถึงเวลา 11.00 น. มีจำนวน 72 ราย ปัญหาที่พบ เช่น บางวิชาไม่ปรากฏผลคะแนน บางวิชาคะแนนลดลง ทางศูนย์ได้เพิ่มเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับตรวจกระดาษคำตอบจาก 5 เครื่อง เป็น 10 เครื่อง มีนักศึกษาอาสาสมัครมาช่วยงาน ทำให้การตรวจสอบเป็นไปด้วยความรวดเร็วขึ้น ซึ่งศูนย์จะเปิดให้บริการจนถึงวันที่ 6 พฤษภาคม ตั้งแต่เวลา 09.00-18.00 น. และวันที่ 7-9 พฤษภาคม ตรวจคะแนนที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 5 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศาลาพระเกี้ยว จุฬาฯ ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ซึ่งเดินทางมาตรวจเยี่ยมดูความเรียบร้อยในการรับร้องเรียนเพื่อตรวจสอบกระดาษคำตอบโอเน็ต-เอเน็ต เปิดเผยว่า จำนวนนักเรียนที่มายื่นคำร้องขอดูกระดาษคำตอบโอเน็ตและเอเน็ต ทั้งที่ศูนย์ตรวจสอบคะแนนจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์ตรวจสอบคะแนนมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ รวมถึงศูนย์ตรวจสอบคะแนนต่างจังหวัด เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม มีน้อยลงมาก ดังนั้น วันที่ 6 พฤษภาคม จะเป็นวันสุดท้ายที่ศูนย์จะเปิดให้บริการ และตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม นักเรียนที่มีปัญหาให้ไปติดต่อได้ที่ สทศ.

ส่วนคำร้องของนักเรียนในต่างจังหวัดจะได้รับข้อมูลที่แก้ไขภายในวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งมีประมาณ 2,000 ราย ทั้งนี้ คะแนนอัตนัยภาษาไทยและภาษาอังกฤษ สทศ.แจ้งว่ามีผู้ที่ไม่มีคะแนนกว่า 5,000 ราย ในจำนวนนี้เกือบครึ่งส่งกระดาษเปล่า สทศ.กำลังเร่งตรวจกระดาษคำตอบ และจะขึ้นเวบไซต์ได้เร็วๆ นี้ ส่วนยอดผู้สมัครแอดมิชชั่นส์ขณะนี้มีจำนวน 8.5 หมื่นคน และคาดว่าวัน 2 สุดท้าย คือวันที่ 8-9 พฤษภาคม จะมีนักเรียนมาสมัครจำนวนมาก

ทั้งนี้ หลังจากการประกาศผลคะแนนโอเน็ตและเอเน็ตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ได้สร้างความเครียดให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และนักเรียน จนยอดที่แจ้งขอนัดคิวเข้าพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลรามาธิบดียาวถึง 3 เดือน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่านักเรียน หรือผู้ปกครอง ที่มีความเครียด เบื้องต้นสามารถโทรศัพท์ขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนของกรมสุขภาพจิต โทร1323 มีเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาผลสอบโดยตรง


ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช กล่าวด้วยว่า สำหรับยอดผู้ร้องเรียนปัญหาผลคะแนนโอเน็ต เอเน็ต เฉพาะวันที่ 5 พฤษภาคม มีทั้งสิ้น 838 รายแบ่งเป็น ศูนย์จุฬาฯ 606 ราย ม.เกษตรศาสตร์ 184 ราย ส่วนศูนย์ภูมิภาคมีผู้ร้องเรียนเข้ามาเพียง 3 ศูนย์ ได้แก่ ม.ขอนแก่น 30 ราย ม.มหาสารคาม 1 ราย และ ม.เทคโนโลยีสุรนารี 17 ราย ซึ่งยอดลดน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อเป็นเช่นนี้คงจะปิดศูนย์ตรวจสอบในวันที่ 6 พฤษภาคม ส่วนยอดผู้สมัครแอดมิชชั่นส์ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม-5 พฤษภาคม เวลา 18.00 น. มีทั้งสิ้น 101,917 ราย เป็นผู้ชำระเงินแล้ว 12,955 ราย ทั้งนี้ยอดสมัครเฉลี่ยตั้งแต่ประกาศผลสอบรอบ 3 ปรากฏว่ามีผู้สมัครแอดมิชชั่นส์เข้ามาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่าวันละ 14,000 คน

หรือโทรฟังข้อมูลอัตโนมัติที่หมายเลข 1667 เนื่องจากจำนวนจิตแพทย์ในปัจจุบันยังไม่เพียงพอกับความต้องการ จำนวนคนไข้ในโรงพยาบาลต่างๆ จึงต้องรอคิวนาน และอยากบอกผู้ที่พลาดหวังในการเข้ามหาวิทยาลัย หรือผลการสอบมีปัญหาว่า ให้มองอุปสรรคที่เกิดขึ้นเป็นโอกาส ยังมีทางเลือกอื่นในการศึกษา คือ มหาวิทยาลัยเปิด โรงเรียนที่สอนเฉพาะทาง อย่าปิดโอกาสตัวเอง ไม่มีชีวิตใครที่สมบูรณ์แบบทุกอย่าง คนที่ประสบผลสำเร็จบางคนไม่ได้เรียนด้วยซ้ำ แต่เขามีวิสัยทัศน์

ขณะที่ ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช กล่าวว่า ต้องมีการวิเคราะห์ว่าสาเหตุความเครียดเกิดจากอุบัติเหตุเกี่ยวกับการสอบโอเน็ต เอเน็ตจริงหรือไม่ แต่จากการสอบถามเด็กๆ ที่มาตรวจสอบกระดาษคำตอบ พบว่ามีความพอใจกับระบบแอดมิชชั่นส์ ซึ่งเห็นว่าไม่มีเรื่องปัญหาโอเน็ต-เอเน็ตเข้ามาเกี่ยวข้องการสมัครแอดมิชชั่นคงจะเสร็จสิ้นตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน เรื่องนี้ต้องเรียกความเชื่อมั่นของสังคมกลับคืนมา โดยจะต้องเริ่มจากนักเรียน ผู้ปกครอง และครู หากระบบดำเนินการผ่านไปประมาณ 2-3 รุ่น สังคมคงจะเข้าใจระบบแอดมิชชั่นส์มาก ขึ้น

นอกจากทำให้เกิดความเครียดแล้ว การประกาศผลที่ผิดพลาดและล่าช้า ยังทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ระบบคอมพิวเตอร์ที่นำมาตรวจข้อสอบที่ สทศ.นำมาใช้นั้นมีมูลค่าถึง 10 ล้านบาท มีการทดสอบระบบก่อนมาใช้จริงหรือไม่ และเชื่อถือได้หรือไม่ ผศ.ธวัชชัย งามสันติวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) ผู้ปกครองนักเรียน คือคนที่เข้าร้องเรียนผลสอบโอเน็ต-เอเน็ต ต้องการขอตรวจระบบการตรวจข้อสอบโอเน็ต-เอเน็ต โดยบอกว่าหากไม่ได้รับการตอบรับอาจจะมีการร้องศาลปกครองเพื่อขอให้ดำเนินการได้ รวมทั้งโปรแกรมวิเคราะห์ไฟล์ภาพกระดาษคำตอบแปลงข้อมูลภาพเป็นอักษร (โอซีอาร์) ที่ สทศ.ใช้นั้นวงการคอมพิวพเตอร์ยังไม่ให้ความเชื่อถือ

ล่าสุด รศ.ดร.บัณฑิต ถิ่นคำรพ หัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการพัฒนาระบบตรวจข้อสอบ กล่าวว่า หากต้องการตรวจก็ตรวจได้ เพราะเครื่องต่างๆ ยังอยู่ที่สทศ. ซึ่งที่ มข.มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงระบบตรวจข้อสอบด้วย และได้เข้าตรวจสอบระบบถึง 3 รอบ มีคณะกรรมการซึ่งเป็นอาจารย์จาก ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.สงขลานครินทร์ ได้ทดสอบการประมวลผลและตอบคำถามทุกอย่างได้โดยไม่ติดขัด สัมผัสและพิสูจน์ทุกข้อสงสัยได้หมด

"แต่ถ้าจะสาธิต ต้องเป็นผม หรือทีมงานที่เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะถ้าจะทดสอบเอง หรือใช้เองอาจจะไม่ได้ เพราะต้องมีความเชี่ยวชาญ ขึ้นอยู่กับฝีมือ เหมือนถ้ายื่นสี พู่กันให้ศิลปิน กับให้คนที่ไม่เคยวาดรูป ภาพที่ได้อย่างไรก็ไม่เหมือนกัน จึงอยากรู้เหมือนกันว่าอาจารย์ สจพ.ที่ขอตรวจระบบจะมีความรู้ความเข้าใจกับโปรแกรมมากน้อยแค่ไหน" รศ.ดร.บัณฑิต กล่าว

ส่วนที่มีการระบุว่า สทศ.ซื้อโปรแกรมวิเคราะห์ไฟล์ภาพกระดาษคำตอบแปลงข้อมูลภาพเป็นอักษร (โอซีอาร์) ด้วยเงินถึง 10 ล้านบาทนั้น รศ.ดร.บัณฑิต ปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ที่ทำสัญญาระบุไว้เพียง 2.3 ล้านบาท และตอนนี้ยังจ่ายไม่ครบ แต่บอกยกเลิกสัญญาไปแล้ว แต่เท่าที่เห็นจากสื่อสทศ.ยังใช้โปรแกรมของ มข.ในการให้เด็กตรวจกระดาษคำตอบอยู่ ซึ่งเป็นจุดเด่นของโปรแกรมนี้ แต่การใช้ทั้งที่บอกเลิกสัญญาไปแล้วถือว่าใช้ของโดยไม่ได้รับอนุญาต หากจะเอาเรื่องก็ทำได้ แต่ไม่อยากยุ่ง ไม่อยากทำงานด้วยแล้ว

รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวอีกว่า ตอนนี้ได้วางระบบการใช้โปรแกรมใหม่ให้ใช้งานง่ายขึ้น โดยให้ผู้ซื้อโปรแกรมสามารถสแกนข้อมูลเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ได้จากทุกแห่ง เพื่อความสะดวกไม่ต้องค้นย้ายข้อมูลกระดาษมาที่ มข.ไม่ว่าอยู่ที่ใดสามารถจัดการได้ จากนั้นจึงส่งข้อมูลออนไลน์มายังมหาวิทยาลัยเพื่อทำการประมวลผลและส่งข้อมูลกลับคืนไปให้ ต่อไปนี้จะไม่ให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ทีมงานมีส่วนในการประมวลผลข้อมูล เพราะได้บทเรียนจาก สทศ.เวลาโปรแกรมอยู่ในมือคนอื่นที่ฝีมือถึง มีปัญหาโทษผู้ออกแบบ

การทำงานที่ผ่านมากับหน่วยงานอื่นทุกแห่งเป็นกัลยาณมิตร ทุกคนพอใจชมว่าง่าย ใช้สะดวก มีแต่ สทศ.ที่ห้ามทีมงานแตะต้องข้อมูล จึงเป็นสถาบันแรกที่เราให้ทำหน้าที่ประมวลเอง พอจะแนะนำอะไรไปก็ไม่เอา แต่ข้อมูลของ สทศ.มีปริมาณมากที่สุดเท่าที่เคยทำ จึงทำให้เกิดความซับซ้อนด้านการบริหารจัดการ แต่ก็ไม่ถึงครึ่งของงานวิจัยที่เคยทำ" รศ.ดร.บัณฑิตกล่าว

ด้าน รศ.ประทีป จันทร์คง รักษาการ ผอ.สทศ.กล่าวว่า ไม่รู้ว่าตัวเลข 10 ล้านบาท ที่มีการระบุว่าเอาไปทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจข้อสอบโอเน็ตนั้นมาจากไหน เพราะจริงๆ ใช้งบประมาณเพียง 2.3 ล้านบาทในการว่าจ้าง ม.ขอนแก่น พัฒนาโปรแกรมตรวจข้อสอบ โดยแบ่งจ่ายออกเป็น 3 งวด งวดแรกจ่ายไปแล้ว 9 แสนบาท ตั้งแต่เริ่มทำโปรแกรม งวดที่ 2 กำลังจะต้องจ่ายอีก 6 แสนบาท แต่ยังอยู่ระหว่างการรองบประมาณ อย่างไรก็ต้องจ่ายให้ เนื่องจากนำเอาโปรแกรมดังกล่าวมาใช้แล้ว แต่ในงวดสุดท้ายอีก 8 แสนนั้น คงไม่จ่าย เนื่องจาก มข.ผิดข้อตกลงจากที่กำหนดว่า มข.จะต้องทำการประมวลผล หรือสรุปรายงานให้ สทศ. แต่ปรากฏว่าไม่ได้มาดำเนินงาน

"ยินดีที่จะให้เข้ามาตรวจสอบระบบอย่างเต็มที่ ยืนยันได้ว่าเรื่องทุจริตไม่มีแน่นอน ขอให้มั่นใจว่า สทศ.ได้พยายามทำทุกอย่างอย่างเต็มที่ด้วยความยุติธรรม สทศ.จะหารือกับ สกอ.อีกครั้ง เพื่อขอความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาให้เด็กที่ยังมีปัญหาให้ลุล่วงไปก่อน แล้วก็จะค่อยถอนตัวจากงานนี้" รักษาการผอ.สทศ.กล่าว

ส่วนความเคลื่อนไหวศูนย์จุฬาฯ นายศิริวิทย์ ศรีสุพล นักเรียนชั้น ม.6 ร.ร.หอวัง ร้องเรียนว่าได้ตรวจดูประกาศผลรับตรงของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ สาขาวิชาสถิติ เมื่อเช้าวันที่ 5 พฤษภาคม แต่ไม่พบชื่อตัวเอง ทั้งที่คะแนนได้มากกว่าคะแนนต่ำสุดที่ประกาศผล โดยคะแนนต่ำสุดอยู่ที่ 5,581 คะแนน ขณะที่คะแนนโอเน็ต-เอเน็ตที่ประกาศครั้งแรกได้ 5,630 คะแนน ประกาศครั้งที่ 2 ได้ 5,644 คะแนน และกำลังรอการรับรองการประกาศครั้งที่ 3 ที่มีปัญหาคะแนนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อัตนัย ซึ่งยื่นคำขอแก้ไขตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม

ทั้งนี้ นายวันชัย ริ้วไพบูลย์ เลขานุการคณะกรรมการแก้ไขปัญหาคะแนนโอเน็ตและเอเน็ต ได้มาดูแลและประสานกับผู้บริหารจุฬาฯ แล้ว ได้รับคำชี้แจงว่า ให้นายศิริวิทย์ มาสอบสัมภาษณ์ได้วันที่ 8 พฤษภาคม เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่จุฬาฯ ประกาศแล้วว่าจะพิจารณารับเข้าเรียนหากพบว่าได้คะแนนเท่ากับหรือสูงกว่าคะแนนต่ำสุดที่ประกาศรับไปแล้ว ทำให้นายศิริวิทย์ พอใจ ส่วนนักเรียนคนอื่นๆ ที่มีปัญหาเช่นนี้ ให้ไปติดต่อที่สำนักบริหารวิชาการ ชั้น 6 อาคารจามจุรี 5 จุฬาฯ ตั้งแต่วันที่ 8-29 พฤษภาคม เพื่อจะได้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์ ขอยืนยันระบบการตรวจคะแนนครั้งใหม่ว่าถูกต้อง หากมีข้อผิดพลาดต้องขึ้นอยู่กับฐานข้อมูลเริ่มต้นที่ได้รับมาจาก สทศ. และยินดีหากมีผู้ต้องการตรวจสอบระบบ

ศ.น.พ.อาวุธ ศรีศุกรี คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) 9 สถาบัน กล่าวว่า หลังจากประกาศผลทาง www.si.mahidol.ac.th และเวบไซต์ของ 8 สถาบัน เย็นวันที่ 5 พฤษภาคม และยังเปิดโอกาสให้เด็กที่คะแนนมีปัญหา หากภายหลังพบว่ามีคะแนนสูงกว่าคะแนนต่ำสุดของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะรับไว้เข้าเรียนโดยไม่จำกัดจำนวน ให้มายื่นเรื่องภายในวันที่ 29 พฤษภาคม ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ชั้น 6 ตึกอดุลยเดชวิกรม ซึ่งจะประกาศผลอีกครั้ง

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์