ใจร้อนไม่รอผลวิจัย ดันปลูกสบู่ดำ17จว.ลดใช้ดีเซล
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงวันนี้ (3 พ.ค.) ว่า ในภาวะราคาน้ำมันดีเซลสูงเกือบ 30 บาทต่อลิตร ประชาชนและเกษตรกรได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก กระทรวงเกษตรศึกษา ได้ศึกษาการปลูกสบู่ดำเป็นพลังงานทดแทน โดยปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาประโยชน์ ความคุ้มค่าและปลอดภัยในการใช้ระดับอุตสาหกรรม เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคการดำเนินโครงการให้เกิดความยั่งยืน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจัดโครงการปลูกสบู่ดำตามหัวไร่ปลายนา พื้นที่ว่างสำหรับนำเมล็ดสบู่ดำมาหีบน้ำมันใช้ระดับครัวเรือนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลใน 17 จังหวัด โดยกรมส่งเสริมการเกษตรสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สนับสนุนเครื่องหีบน้ำมันราคาเครื่องละประมาณ 30,000 บาท ต้องมีเกษตรกรที่รวมกลุ่มกัน 50 คนขึ้นไป
"คาดว่าจะลดการนำเข้าน้ำมันดีเซลได้ 370 ล้านลิตร หรือ 9,620 ล้านบาทต่อปี จากที่มีการใช้เครื่องจักรการเกษตร 3.7 ล้านเครื่อง ใช้น้ำมัน 100 ลิตรต่อเครื่องต่อปี เริ่มแรกจะนำร่องโครงการใน 17 จังหวัด 255 กลุ่ม 12,750 ครัวเรือนก่อน จากนั้นตั้งเป้าหมาย 3 ปี จะส่งเสริมให้ได้ 80,000 กลุ่ม 4 ล้านครัวเรือน ผลิตน้ำมันได้ 400 ล้านลิตร ลดการนำเข้าน้ำมัน 9,000 ล้านลิตรใน 3 ปี การส่งเสริมปลูกตามหัวไร่ปลายนาจะเริ่มในปีงบประมาณ 2550 ใช้งบประมาณ 39 ล้านบาท" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว
ด้าน นายเรวัตย์ ฤทธาภรณ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตรฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการส่งเสริมปลูกสบู่ดำระดับอุตสาหกรรม โครงการนำร่องจะเริ่มระหว่างเดือนพ.ค. ถึง มิ.ย.นี้ ใช้ต้นพันธุ์ของศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร ยังไม่ได้ใช้งบประมาณ 39 ล้านบาท โดยวันที่ 10 พ.ค.นี้ จะเปิดโครงการที่ จ.ชลบุรี จากนั้นจัดกิจกรรมให้ความรู้เกษตรกรเปิดตัวโครงการที่ จ.เพชรบุรี ขอนแก่น พิษณุโลก นครศรีธรรมราช และ ชัยนาท
"เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการต้องคืนเมล็ดสบู่ดำเข้าธนาคารเมล็ดพันธุ์ร้อยละ 1 คือผลิตได้ 100 กิโลกรัมต้องคืน 1 กิโลกรัม เพื่อความยั่งยืนของโครงการต้นสบู่ดำใช้เวลาปลูก 8 เดือน ให้ผลผลิตไร่ละ 800-1,000 กิโลกรัม การปลูกตามหัวไร่ปลายนาจะให้ผลผลิตต้นละกว่า 1 กิโลกรัม" รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้นสบู่ดำโดยเฉพาะเมล็ดมีอันตรายถึงกับเสียชีวิตหากรับประทานเข้าไป จะให้ความรู้กับประชาชนอย่างไร คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ความปลอดภัยความคุ้มทุนในการผลิตระดับอุตสาหกรรมยังอยู่ระหว่างการศึกษาโดยสถาบันการศึกษาหลายแห่ง เช่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แม่โจ้และเชียงใหม่ ส่วนมาตรการความปลอดภัยได้ให้ น.พ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รับผิดชอบคู่มือและคำแนะนำ โดยจะออกมาเร็วๆ นี้