แฉลำดับความล้มเหลว ประกาศผลโอเน็ต-เอเน็ต

แฉลำดับความล้มเหลว ประกาศผลโอเน็ต-เอเน็ต

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 30 เมษายน 2549 15:50 น.

ประกาศผลโอเน็ต-เอเน็ต เหลวไม่เป็นเรื่อง เจอโรคเลื่อนรอบ 3 หลังพบข้อมูลเพิ่ม 19,000 รายการ จาตุรนต์ แจ้นประชุมแก้ปัญหา ระบุไม่ใช่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นใหม่ แต่เป็นการค้นพบปัญหาเพิ่มเติม สกอ.ยันกำหนดการรับสมัครแอดมิชชั่นตามเดิม เพราะเลื่อนประกาศคะแนนช้าไป 1 วันไม่กระทบกับวันรับสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ประทีป จันทร์คง ถอย เปรยขอลาบวชหลังเสร็จกิจอนุโมทนาให้เด็กที่ต้องรับกรรม

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) กำหนดจะประกาศผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ในเวลา 08.30 น.ของวันที่ 30 เม.ย. แต่ไม่สามารถประกาศผลตามกำหนดเดิมได้ เนื่องจากพบข้อมูลเพิ่มเติมขึ้นมาอีกประมาณ 19,000 รายการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 07.00 น.วันที่ 30 เม.ย. สกอ.และ สทศ.ได้ประกาศผ่านเว็บไซต์ www.ntthailand.com ข้อความว่า ประกาศเลื่อนเวลาการตรวจสอบผลสอบ เนื่องจาก สกอ.ยังประมวลผลคะแนนได้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ สทศ.ไม่สามารถประกาศผลคะแนนในเวลา 08.30 น.ได้ จึงขอเลื่อนเวลาประกาศผลออกไปก่อน

หลังจากนั้นเพียง 2 นาที เว็บไซต์ดังกล่าวได้เปลี่ยนแปลงข้อความ ระบุว่า เนื่องจาก สกอ.และสทศ. ยังประมวลผลคะแนนได้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้ สทศ.ไม่สามารถประกาศผลคะแนนในเวลา 08.30 น. ได้ จึงขอเลื่อนเวลาประกาศผลออกไปก่อน และในเวลา เวลา 09.20 น. มีประกาศอีกว่า เนื่องจาก สกอ.และ สทศ. มีความจำเป็นต้องตรวจสอบคะแนนของผู้เข้าสอบอีกจำนวนหนึ่ง จึงขอเลื่อนเวลาการประกาศผลโดยจะพยายามดำเนินการประกาศโดยเร็วที่สุด และขออภัยอย่างยิ่งมา ณ โอกาสนี้

อ๋อย รุดประชุมด่วน เลื่อนประกาศคะแนน

เมื่อเวลา 10.30 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ ได้เดินทางมาที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อร่วมประชุมติดตามแก้ไขปัยหาการประกาศผลโอเน็ต-เอเน็ต พร้อมด้วย ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ รักษาการประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันทดสอบทางการศึกษา (สทศ.) และ รศ.ประทีป จันทร์คง รักษาการ ผอ.สทศ. โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง

นายจาตุรนต์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เพื่อให้การตรวจข้อสอบและการตรวจหาผู้เข้าสอบให้เกิดความสมบูรณ์ที่สุด จึงขอประกาศเลื่อนการประกาศผลสอบโอเน็ต-เอเน็ต จากวันที่ 30 เม.ย.เป็นวันที่ 1 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 09.00 น. โดยคาดว่านักเรียนที่มีข้อมูลสมบูรณ์ไม่มีปัญหาประมาณ 95% หรือประมาณ 3.2 แสนคน โดยในส่วนที่ยังมีปัญหาอีกประมาณ 20,000 คน จะต้องตรวจสอบโดยจะนำข้อมูลที่ค้นพบเพิ่มเติม 19,000 ข้อมูล มาจัดหาคะแนนให้ผู้เข้าสอบให้ชัดเจน โดยเชื่อว่าจะไม่กระทบกับข้อมูลที่ตรวจสอบสมบูรณ์ไปแล้วข้างต้น และหวังว่าจะทำให้จำนวนผู้มีปัญหาลดน้อยลงจาก 20,000 คนได้

การประกาศผลในวันที่ 1 พ.ค.จะไม่กระทบต่อแผนรับสมัครแอดมิชชัน และการเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ซึ่งหาก สกอ.ยังยืนยันที่จะประกาศผลในวันที่ 30 เม.ย.ก็สามารถทำได้ แต่ถ้าเสียเวลาไปอีกประมาณไม่กี่ชั่วโมงก็สามารถประกาศได้ครบทุกคน จึงได้ชั่งน้ำหนักและยอมเลื่อนการประกาศออกไปอีก 1 วัน ซึ่งเป็นทางออกที่ดีที่สุด และสำหรับผู้ที่เข้าสอบแต่ได้คะแนนไม่ครบทุกวิชา ให้มาแจ้งข้อมูลที่ศูนย์ประสานงานรับสมัครแอดมิชชันทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป นายจาตุรนต์ กล่าว

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญจาก สกอ.และ สทศ.มาประสานแลกเปลี่ยนข้อมูล และจะพยายามรวบรวมให้แล้วเสร็จภายในเวลา 15.00 น. จากนั้นจะใช้เวลาที่เหลือตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อประกาศผลได้ทันในวันที่ 1 พ.ค. โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบ 3 เรื่องใหญ่ คือ

1.ผู้ที่เข้าสอบแต่ได้คะแนนไม่ครบหรือไม่มีคะแนน 2.ตรวจสอบกระดาษคำตอบและคะแนนที่ค้นพบเพิ่มเติมว่าเป็นของใคร เพื่อนำมาหักล้างกับนักเรียนกลุ่มที่ยังมีปัญหาอยู่ และ 3.มีชื่อและมีคะแนน แต่ต้องการตรวจสอบว่าตรงกันหรือไม่ เนื่องจากมีปัญหาฝนรหัสผิดพลาด ซึ่งการประกาศผลครั้งนี้จะแยกระหว่างผลสอบที่รับรองว่าถูกต้อง กับส่วนที่ยังเป็นปัญหาอยู่ออกจากกันให้ชัดเจน เพื่อแจ้งให้นักเรียนทราบและมาขอตรวจสอบข้อมูลของตนเอง ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนน้อยมาก

รักษาการ รมว.ศธ.กล่าวอีกว่า ปัญหาใหญ่ที่ทำให้ทั้งหมดเป็นเรื่องยากคือ ระบบบัญชีที่จะดูว่าใครเข้าสอบ เข้าสอบที่ไหน วิชาอะไร มีข้อสอบกี่ชุด กระดาษคำตอบที่ตรวจใหม่กี่ชุด ตรวจใหม่แล้วเป็นอย่างไร ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องทำบัญชีไว้ แต่ระบบบัญชียังมีปัญหา ซึ่งเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดของทั้งระบบ คงต้องมีนักบัญชี หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาช่วยในการบันทึกรับ-ส่งข้อมูลให้ชัดเจน เมื่อไม่ชัดเจนจึงทำให้ระบบการตรวจสอบยากขึ้น แต่ถ้ามีระบบบัญชีที่ดีก็จะบอกได้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

เมื่อถามว่า จะแสดงความรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 อย่างไร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ความผิดพลาดที่เกิดซ้ำขึ้นอีก เพียงแต่เป็นการค้นพบปัญหาที่มีอยู่แล้วและทำให้แก้ปัญหาได้ ไม่ใช่การสร้างปัญหาใหม่ ส่วนความเชื่อมั่นต่อระบบแอดมิชชันนั้น ต้องแยกแยะการสอบโอเน็ตและเอเน็ต กับระบบแอดมิชชัน ซึ่งเมื่อการสอบโอเน็ต และเอเน็ตมีปัญหาก็ต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความถูกต้องแม่นยำ ในขณะเดียวกันก็ต้องวางระบบและแก้ไขให้การสอบในครั้งต่อไปมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ปัญหาทางเทคนิคที่ส่งผลต่อการตรวจข้อสอบ ไม่ใช่ปัญหาของระบบแอดมิชชัน ที่ถึงขั้นจะต้องยกเลิกระบบนี้ แต่หากเห็นว่าระบบแอดมิชชันมีปัญหาและจำเป็นต้องมีการปรับปรุงตนก็พร้อมรับฟัง นายจาตุรนต์ กล่าว

ผอ.สทศ.ลาบวช /แอดมิชชั่นยืนกำหนดเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเข้าห้องประชุม รศ.ประทีป จันทร์คง รักษาการ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้รู้สึกเครียด และอยากจะหาที่สงบจิตใจ

ตั้งใจไว้แล้วว่าเสร็จงานนี้แล้วจะลาบวช เพื่ออนุโมทนาให้กับเด็กจำนวนมากที่ตนได้ทำกรรมกับเด็กกลุ่มนี้ไว้ ซึ่งแม้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นทั้ง 100 % จะไม่ใช่ของผมทั้งหมด แต่ในฐานะที่เป็นรักษาการ ผอ.สทศ. ต้องรับผิดชอบ และเชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเกรรมเก่าของตัวเองที่ต้องชดใช้คืน รศ.ประทีปกล่าว

ด้านศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช กล่าวว่า สกอ.ได้เตรียมการสนับสนุน สทศ.อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกรณีที่คาดว่าจะเกิดปัญหาขึ้นในช่วงการรับสมัครแอดมิชชั่นนี้ ทั้งนี้ในวันพรุ่งนี้ (1 พ.ค.) ศูนย์ตรวจสอบคะแนนทั่วประเทศจะเปิดดำเนินการในเวลา 09.00 น. โดยในกรุงเทพฯ จะมีจุดให้บริการอยู่ที่ ศาลาพระเกี้ยว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาคารจักรพันธุ์เพ็ญศิริ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของ สทศ.ไปรอรับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนอยู่ด้วย

อย่างไรก็ตามการประกาศผลคะแนนในวันพรุ่งนี้จะมีความถูกต้องกว่า 99% ซึ่งหากนักเรียนจะมาขอตรวจกระดาษคำตอบก็ขอให้ดำเนินการในภายหลัง แต่ขอให้กลุ่มที่มีปัญหาได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดก่อนเป็นคิวต้นๆ

สำหรับการประกาศผลคะแนนจะมีผู้เข้าสอบกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่มีคะแนน ซึ่งคอมพิวเตอร์จะขึ้นว่าไม่พบข้อมูลก็ขอให้รีบติดต่อ สทศ.ทันทีทั้งนักเรียนที่อยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด แต่หากต้องการจะขอตรวจสอบกระดาษคำตอบเพียงอย่างเดียว ก็ให้ยื่นคำร้องผ่านศูนย์ตรวจสอบคะแนนทั่วประเทศในต่างจังหวัดทั้ง 10 ศูนย์ หรือยื่นผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่ง สทศ.จะส่งข้อมูลกระดาษคำตอบกลับไปให้ศูนย์ดังกล่าวในภายหลัง

การประกาศผลคะแนนล่าช้าครั้งนี้ ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการยื่นสมัครแอดมิชชั่น ดังนั้น ตารางการับสมัครแอดมิชชั่นที่กำหนดไว้จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้ดำเนินการไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เดิม เพราะที่กำหนดจะประกาศผลในวันที่ 30 เม.ย.นั้นก็เป็นการประกาศก่อนวันรับสมัครที่จะเริ่มในวันที่ 1 พ.ค.อยู่แล้ว แต่ทั้งนี้จะขยายเวลาให้นักเรียนสามารถชำระเงินค่าสมัครได้ถึงวันที่ 9 พ.ค. ส่วนข้อมูลที่เพิ่มเติมขึ้นมาจำนวน 19,000 รายการนั้น เป็นข้อมูลหลงทางที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการสะดุด และทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนขึ้น แต่ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อภาพรวมทั้งหมดของระบบแอดมิชชั่น ขณะเดียวกันข้อมูลที่พบทำให้มีข้อสอบเพิ่มเติมเข้ามา ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยทำให้จำนวนคนที่ไม่มีคะแนนลดจำนวนลง ศ.(พิเศษ)ดร.ภาวิช กล่าว

ด้านคุณหญิงสุมณฑา กล่าวว่า เนื่องจากกระดาษคำตอบมีมากถึง 2.5 ล้านฉบับ ซึ่งหลังการประกาศผลหากทุกคนต้องการตรวจกระดาษคำตอบของตนเอง ก็คงจะทำให้เกิดความโกลาหล ขอให้มั่นใจในกระบวนการในการตรวจข้อสอบ แต่อาจจะมีบางส่วนที่ตกหล่นบ้างซึ่งก็จะเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านี้ได้แจ้งให้ สทศ.ทราบเพื่อดำเนินการตรวจสอบและแก้ปัญหาต่อไป

ทั้งนี้การตรวจสอบกระดาษคำตอบนั้นจะเปิดโอกาสให้กับกลุ่มที่มีปัญหา 2 กรณีก่อนคือ 1.กรณีที่มาเข้าสอบแต่ไม่มีคะแนน และ 2.กลุ่มที่คะแนนในการประกาศครั้งหลังลดลงกว่าการประกาศ 2 ครั้งแรกมาก และส่งผลกระทบต่อการสมัครเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่ง 2 กรณีนี้ถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการให้ก่อน ส่วนกรณีอื่นๆ ขอให้รอไปก่อนและจะพยายามประสานไม่ให้เกิดความผิดพลาดต่อคะแนนโอเน็ต และเอเน็ตเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่ออนาคตของเด็กอย่างแน่นอน

แจง 19,000 พลาดในการส่งข้อมูล

รศ.ประทีป กล่าวว่า ปัญหาข้อมูล 19,000 รายการที่เพิ่มขึ้นมาจนเป็นเหตุให้ต้องเลื่อนการประกาศคะแนน เกิดจากขั้นตอนการหากระดาษคำตอบในส่วนที่ยังไม่สมบูรณ์ในช่วงแรก โดย สทศ.ได้แจ้งรายการไปให้ทางศูนย์เก็บกระดาษคำตอบช่วยค้นหาให้ แต่เมื่อทางศูนย์กระดาษคำตอบส่งข้อมูลกลับมา ไม่ได้แจ้งว่าพบรายการใด หรือไม่พบรายการใดบ้าง ขณะที่ สทศ.เข้าใจว่าได้ข้อมูลมาทั้งหมดแล้ว จึงระบุว่ายังมีผู้ที่ยังไม่มีคะแนน 20,000 คน แต่เมื่อมีการขนย้ายกระดาษคำตอบจาก ม.ศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มาที่ สทศ.ได้ค้นหากระดาษคำตอบอีกครั้ง ก็ได้พบกระดาษคำตอบที่เคยแจ้งขอไปแต่ไม่พบในครั้งแรก จึงได้แจ้งให้ สกอ.ได้รับทราบเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยคาดว่าข้อมูลที่ค้นเพิ่มขึ้นมานี้เป็นกระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบที่ยังมีปัญหา 20,000 คนในเบื้องต้น

หลังจากนี้จะนำข้อมูลดังกล่าวไปเปรียบเทียบกับฐานข้อมูล เชื่อว่าจำนวนผู้ที่ยังมีคะแนนไม่ครบจะลดจำนวนลง และข้อมูลนี้ไม่กระทบกับคะแนนผู้เข้าสอบ 330,000 คนที่มีการตรวจสอบสมบูรณ์แล้วดังนั้นการประกาศผลในวันที่ 1 พ.ค.จึงเป็นข้อมูลที่สมบูรณ์ถูกต้องแล้ว รศ.ประทีป กล่าว

รักษาการ ผอ.สทศ.กล่าวอีกว่า ยอมรับว่ามีปัญหาการจัดทำระบบบัญชีผู้เข้าสอบจริง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้คุมสนามสอบไม่มีความชำนาญ เพราะการสอบโอเน็ตมีผู้เข้าสอบจำนวนมาก ทางสทศ.ต้องเพิ่มสนามสอบและกระจายลงในอำเภอต่างๆ ให้ครบถ้วน เช่น อำเภอจอมทอง ที่ไม่เคยเป็นสนามสอบวัดความรู้ หรือสนามสอบเอนทรานซ์มาก่อน แม้ทางศูนย์สอบภูมิภาคจะอบรม ทำคู่มือการจัดสอบแล้วแต่ก็ยังมีความผิดพลาด ซึ่งต่างจากการสอบเอนทรานซ์ที่สนามสอบจะเป็นสนามสอบเดิม เช่น ร.ร.เตรียมอุดมศึกษา ร.ร.ศรีอยุธยา ที่จะมีความชำนาญมากกว่า

ด้าน ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ กล่าวว่า หากในวันพรุ่งนี้ (1 พ.ค.) สามารถประกาศผลคะแนนได้ ก็คาดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่หากยังไม่สามารถประกาศผลได้ก้คงต้องเรียกประชุม ทปอ.โดยด่วน ทั้งนี้ ในฐานะคณะกรรมการตรวจสอบผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ตนจะเดินทางมาตรวจสอบการตรวจข้อสอบอีกครั้ง เพื่อติดตามว่ามีปัญหาถึงขั้นต้องเรียกประชุมคณะกรรมการตรวจสอบทั้งหมดหรือไม่

ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (1 พ.ค.) ในเวลา 11.00 น. นายจาตุรนต์ พร้อมคณะผู้เกี่ยวข้องจะเปิดแถลงข่าวสรุปผลการประกาศผลโอเน็ต และเอเน็ต ที่ สกอ.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์