ราชกิจจาฯ ประกาศเพิ่มวิธีตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์


  ราชกิจจาฯ ประกาศเพิ่มวิธีตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2567 ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวงการทดสอบปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ขับขี่ พ.ศ. 2567 ระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 และมาตรา 142 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 นายกรัฐมนตรีออกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
 
ข้อ 1 ให้ยกเลิก
(1) กฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522
(2) กฎกระทรวงฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2560) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522

ข้อ 2 การทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือไม่ ให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ขับขี่ โดยวิธีตรวจวัดจากลมหายใจด้วยเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอลในเลือดโดยการเป่าลมหายใจ (BREATH ANALYZER TEST) และอ่านค่าของแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ วิธีการทดสอบตามวรรคหนึ่ง ให้ปฏิบัติตามวิธีการตรวจสอบของเครื่องตรวจแต่ละชนิด

ข้อ 3 ในกรณีที่ไม่สามารถทดสอบผู้ขับขี่โดยวิธีตรวจวัดจากลมหายใจได้ ให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายของผู้ขับขี้โดยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

(1) ตรวจวัดจากปัสสาวะ
(2) ตรวจวัดจากเลือด

การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายตามวรรคหนึ่ง ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ขับขี่ก่อนจึงจะดำเนินการได้

ข้อ 4 การทดสอบโดยวิธีตรวจวัดจากปัสสาวะตามข้อ 3 (1) ให้ทดสอบจากตัวอย่างปัสสาวะของผู้ขับขี่ โดยในการเก็บตัวอย่างดังกล่าวต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(1) จัดให้มีภาชนะที่เหมาะสมสำหรับเก็บตัวอย่างปัสสาวะพร้อมฝาปิดให้แก่ผู้ขับขี่
(2) จัดให้ผู้ขับขี่ขับถ่ายปัสสาวะในสถานที่ที่เป็นส่วนตัว โดยมีการควบคุมการเก็บตัวอย่าง เพื่อป้องกันมิให้มีการสับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลง
(3) จัดให้มีการระบุข้อมูลเกี่ยวกับตัวอย่างปัสสาวะบนฉลากของภาชนะตาม (1) และมีการปิดผนึกภาชนะดังกล่าวด้วย โดยให้ผู้ขับขี่ลงลายมือชื่อกำกับบนฉลากนั้น

เมื่อได้เก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ขับขี่ตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานจราจร แล้วแต่กรณี ส่งตัวอย่างปัสสาวะไปยังโรงพยาบาลหรือสถานที่และภายในระยะเวลาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด เพื่อให้ห้องปฏิบัติการทางเคมีตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในตัวอย่างปัสสาวะดังกล่าว ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม

ข้อ 5 การทดสอบโดยวิธีตรวจวัดจากเลือดตามข้อ 3 (2) ให้หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานจราจร แล้วแต่กรณี ส่งตัวผู้ขับขี่ไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ภายในระยะเวลาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดด้วยวิธีทางการแพทย์ซึ่งต้องไม่เป็นอันตรายอย่างอื่นต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น ทั้งนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม

ข้อ 6 ในกรณีที่ผลการทดลอบปรากฎว่าผู้ขับขี่มีบริมานแลลกอฮอล์ในร่างกายดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเมาสุรา

(1) ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ขับขี่ในกรณี ดังต่อไปนี้
(ก) ผู้ขับขี่ซึ่งมีอายุต่ำกว่า 20 ปี
(ข) ผู้ชับขี่ซึ่งได้รับใบอนุญาตขับรถชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
(ค) ผู้ขับขี่ซึ่งมีใบอนุญาตขับขี่สำหรับรถประเภทอื่นที่ใช้แทนกันไม่ได้
(ง) ผู้รับขี่ซึ่งไม่มีใบอนุญาตขับขี่ หรืออยู่ระหว่างพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่

(2) ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ขับขี่ซึ่งมิใช่ผู้ขับขี่ตาม (1)

ข้อ 7 ในการตรวจวัดจากลมหายใจหรือปัสสาวะ ให้เทียบผลการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายที่ได้รับจากเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดโดยการเป้าลมหายใจหรือผลทดสอบทางเคมีจากการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอลในตัวอย่างปัสสาวะ แล้วแต่กรณีโดยใช้ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเป็นเกณฑ์มาตรฐาน ดังต่อไปนี้

(ก) กรณีตรวจวัดจากลมหายใจ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับ 2,000
(ข) กรณีตรวจวัดจากปัสสาวะ ให้ใช้ค่าสัมประสิทธิ์ในการแปลงค่าเท่ากับเศษ 1 ส่วน 1.3

ให้ไว้ ณ วันที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2567

ภูมิธรรม เวชยชัย
รองนายกรัฐมนตรี
ปฏิบัติราชการแทน นายกรัฐมนตรี




  ราชกิจจาฯ ประกาศเพิ่มวิธีตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์