นร.เคว้งต่อ!เลื่อนโอเน็ต พบคะแนนตกหล่นอีก1.9หมื่นรายการ

นร.เคว้งต่อ!เลื่อนโอเน็ต พบคะแนนตกหล่นอีก1.9หมื่นรายการ

สกอ.-ทปอ.ประกาศเลื่อนการประกาศผลสอบโอเน็ต-เอเน็ต ออกไปอย่างไม่มีกำหนด หลัง สทศ.ยื่นคะแนนผีให้ สกอ.เพิ่มอีก 19,000 รายการ และยังพบกระดาษคำตอบที่ยังไม่ได้สแกนอีกเพียบ ขณะที่แพทย์ 9 สถาบันพร้อมประกาศผล 5 พ.ค.นี้ ส่วนแพทย์จุฬาฯ ไม่กำหนดประกาศผล ต้องรอปัญหาโอเน็ต-เอเน็ตยุติทั้งหมดก่อน หวั่นต้องประกาศซ้ำ เสียชื่อสถาบัน

ความคืบหน้าการเตรียมความพร้อมในการประกาศผลทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ หรือโอเน็ต และผลทดสอบการศึกษาขั้นสูงแห่งชาติ หรือเอเน็ต ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รอบที่สาม โดยทีมตรวจข้อสอบโอเน็ตและเอเน็ตของ สกอ. ได้ปิดหีบการตรวจสอบคะแนนไปเมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 29 เมษายน แต่เมื่อช่วงเย็นวันเดียวกัน สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้นำคะแนนมาส่งเพิ่มเติมให้ สกอ.อีก 19,000 รายการ ทำให้เกิดปัญหา เพราะ สกอ.ได้ปิดหีบการตรวจสอบคะแนนไปแล้วตั้งแต่เช้า เพื่อให้ทันการประกาศผลในเวลา 08.30 น. วันที่ 30 เมษายน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังเกิดปัญหา ทาง ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ได้เชิญ รศ.ประทีป จันทร์คง ผู้อำนวยการ สทศ. รศ.ดร.วันชัย ริ้วไพบูลย์ เลขานุการคณะกรรมการแก้ปัญหาการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ มาประชุมด่วน

ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช ให้สัมภาษณ์เมื่อเวลา 23.10 น.ว่า ไฟล์ข้อมูลคะแนนจากกระดาษคำตอบที่ทาง สทศ.ส่งเข้ามาเพิ่มอีก 19,000 ฉบับ เบื้องต้นยังไม่มั่นใจว่าคะแนนดังกล่าวจะเป็นผู้สมัครกี่ราย และต้องนำไปเปรียบเทียบกับกระดาษคำตอบทั้ง 2.5 ล้านใบ ซึ่งการตรวจสอบไม่สามารถทำได้เสร็จในคืนนี้แน่นอน นอกจากนี้เพิ่งได้รับข้อมูลว่า สทศ.ยังพบกระดาษคำตอบที่หลงหูหลงตาอีกจำนวนมาก ไม่สามารถบอกได้ว่ามีจำนวนเท่าไร แต่ได้เริ่มสแกนกระดาษคำตอบกลุ่มนี้ตั้งแต่เวลา 16.00 น.จนถึง 22.00 น. ก็ยังไม่แล้วเสร็จ

เป็นที่แน่นอนว่าการประกาศผลจะเกิดขึ้นไม่ได้ และยังคาดการณ์ไม่ได้ด้วยว่าจะประกาศผลใหม่ได้ในวันใด หากเสี่ยงประกาศผลตามกำหนดการเดิมอาจเกิดคะแนนผิดพลาดสลับคนได้เหมือน 2 ครั้งก่อน ซึ่งจากการที่มีคะแนนเข้ามาใหม่ 19,000 รายการนี้ และกระดาษคำตอบที่ยังตกหล่นอีกจำนวนมากคาดจะส่งผลกระทบให้คะแนนในฐานะข้อมูลที่เตรียมประกาศผลในวันที่ 30 เมษายน คลาดเคลื่อนอย่างน้อย 100,000 รายการ ศ.(พิเศษ) ดร.ภาวิช กล่าว

คุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทปอ.ได้หารือเรื่องการดูแลนักเรียนที่ไม่มีผลคะแนนโอเน็ตและเอเน็ต โดยจะให้แต่ละมหาวิทยาลัยผ่อนปรนให้นักเรียนที่ไม่มีคะแนนสามารถสมัครแอดมิชชั่นส์ โดยเลือกคณะ หรือสาขาวิชาได้ 4 อันดับตามปกติ และจะรอคะแนนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม หากนักเรียนรายนั้นมีคะแนนปรากฏขึ้น และเป็นคะแนนที่สูงกว่าคะแนนต่ำสุดของแต่ละคณะที่เจ้าตัวเลือกไว้ ให้มหาวิทยาลัยพิจารณารับเข้าเรียนได้ อย่างไรก็ตาม ทปอ.เชื่อว่าท้ายสุดแล้วจะไม่มีผู้ที่เข้าสอบที่ไม่มีคะแนน เพราะผู้สมัครสอบที่ไม่มีคะแนนส่วนใหญ่น่าจะเป็นผู้ที่ไม่เข้าสอบ

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการที่เด็กกลุ่มนี้จะต้องเลือกคณะโดยที่ไม่เห็นคะแนนของตนเองก่อน ไม่ถือว่าเป็นการเสียเปรียบผู้สมัครรายอื่น เพราะว่าผู้สมัครแต่ละคนก็ต้องเลือกคณะโดยที่ไม่มีคะแนนสูงต่ำของปีที่แล้วมาเปรียบเทียบเหมือนกัน เพราะแอดมิชชั่นส์เริ่มใช้ปีนี้เป็นปีแรกจึงไม่มีคะแนนสูงต่ำมาให้เปรียบเทียบ เพราะฉะนั้น จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ใดๆ เพื่อคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากไม่ทำให้เกิดผลดีแล้วยังจะทำให้เด็กกลุ่มอื่นมาร้องเรียนเพิ่มเติมอีก และไม่สามารถที่จะจัดสอบให้เด็กที่หากระดาษคำตอบไม่เจอจริงๆ ได้ เพราะอำนาจในการจัดสอบทั้งหมดเป็นของ สทศ.

ต้องแยกระหว่างคำว่า รับผิดชอบและการดูแลเด็กกลุ่มนี้ ในส่วนของความรับผิดชอบ เด็กกลุ่มนี้ต้องไปถามทาง สทศ.เองว่ากระดาษคำตอบของเขาอยู่ที่ไหน ส่วนมหาวิทยาลัยทำได้แค่ช่วยดูแลเด็กกลุ่มนี้ รอหาคะแนนได้ระยะหนึ่ง จะให้รอจนถึงปีหน้าคงเป็นไปไม่ได้ หากปรากฏว่าเด็กคนใดไม่มีคะแนน คงรับเข้าเรียนไม่ได้" คุณหญิงสุชาดา กล่าว

ศ.น.พ.อาวุธ ศรีศุกรี คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยในฐานะกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) 9 สถาบัน ว่า ขณะนี้ กสพท.กำลังอยู่ระหว่างรอทาง สกอ.ส่งผลโอเน็ตและเอเน็ตให้พิจารณา หากการประกาศในวันที่ 30 เมษายนนี้ ไม่มีปัญหา ทาง กสพท.จะให้เวลาแต่ละสถาบันรวบรวมคะแนนและผลสอบทั้งหมดส่งให้ภายในวันที่ 4 พฤษภาคม เพื่อนำคะแนนส่วนนี้เข้าไปรวมกับผลคะแนนสอบตรง หากข้อมูลทั้งหมดเรียบร้อย ตัวเลขทุกอย่างนิ่ง ไม่มีปัญหาอะไรขัดข้อง กสพท.จะประกาศผลคะแนนนักเรียนได้ภายในวันที่ 5 พฤษภาคม ทางอินเทอร์เน็ต ที่เวบไซต์ www.si.mahidol.ac.th โดยไม่ต้องรอผลโอเน็ตและเอเน็ตที่มีปัญหาอีกประมาณ 2 หมื่นคน เพราะทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอนตามกำหนดตารางเวลาไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม หาก สกอ.ประกาศผลโอเน็ตและเอเน็ตทั้ง 2 หมื่นคนภายหลัง กสทพ.จะนำผลดังกล่าวมาพิจารณาทีหลัง โดยยืนยันว่าจะให้ความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะพิจารณาคะแนนก่อนหรือหลัง จะทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือให้นักเรียนได้รับประโยชน์ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

"หากผลออกมาเรียบร้อยเป็นที่ยอมรับเราจะพิจารณาเด็กส่วนใหญ่ก่อน พวกที่ประกาศทีหลังอีกประมาณ 2 หมื่นราย จะนำมาพิจารณาทีหลัง แต่ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่า หลังจากประกาศผลโอเน็ตและเอเน็ตในวันที่ 30 เมษายน จะเกิดปัญหาอะไรขึ้นอีกหรือไม่ แต่จะพยายามให้ประโยชน์อย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ หากสถาบันแพทย์ 9 สถาบัน รวบรวมคะแนนได้ภายในวันที่ 4 พฤษภาคม แล้วส่งผลให้ช่วงกลางวันของวันที่ 5 พฤษภาคม ตอนกลางคืนของวันเดียวกัน ก็สามารถประกาศผลได้เลย เพราะ กสพท.ไม่มีปัญหาอะไร เราเป็นเพียงปลายทาง ปัญหาหลักอยู่ที่ สกอ. ส่วนจะมีการรับนักศึกษาแพทย์เพิ่ม หรือจะมีการพิจารณาเป็นพิเศษหรือไม่นั้น คงจะให้คำตอบหลังทราบผลนักเรียนทั้งหมดก่อน" ศ.น.พ.อาวุธ กล่าว

ส่วนผู้มีรายชื่อซ้ำกับทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ 224 คนนั้น ศ.น.พ.อาวุธ กล่าวว่า ไม่มีปัญหาแล้ว เพราะผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดได้เลือกว่าจะเรียนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ หรือจะเรียนในคณะแพทย์ 9 สถาบัน ไปตั้งแต่วันที่ 15-16 เมษายน ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่า มีผู้สมัครใจเข้าศึกษาต่อคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล 56 คน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 5 คน และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1 คน รวม 62 คน ที่เหลือเลือกเรียนต่อที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงขั้นตอนตรวจร่างกายเท่านั้น

ทั้งนี้ กสพท.9 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ด้าน ผศ.นันทนา ศิริทรัพย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังยืนยันผลคะแนนที่คณะแพทยศาสตร์โครงการแพทย์จุฬาฯ รอบรู้คู่คุณธรรม 200 คน ซึ่งผู้ผ่านการคัดเลือก สอบสัมภาษณ์ ตรวจร่างกาย ทำสัญญาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 เมษายน ขอให้ทั้ง 200 คนสบายใจได้ว่าจะไม่มีการคัดออกแน่นอน แม้ภายหลังจะทราบคะแนนสอบโอเน็ตและเอเน็ตรอบ 3 จะมีผู้ได้คะแนนสูงกว่าคนที่ได้ลำดับที่ 200 ก็จะพิจารณารับเพิ่ม จะไม่มีการนำคนใหม่ไปเบียดผู้ผ่านคัดเลือกไปแล้วเด็ดขาด ถือเป็นการช่วยเหลือเด็ก เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่ความผิดของเด็ก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปัญหาอยู่ที่ว่า ผลโอเน็ตและเอเน็ตรอบ 3 จะมีความชัดเจนแน่นอนมากน้อยเพียงใด จะยังมีปัญหาไปนานเท่าไร เพราะคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ จะไม่ประกาศผลหลายครั้ง คงต้องรอให้ปัญหาทุกอย่างถูกแก้ไขหมด 100% ถึงจะประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกทีเดียว จะไม่ยอมประกาศแล้วประกาศซ้ำอีก เพราะเกรงว่าจะเสียชื่อสถาบัน ถ้าวันไหนผลโอเน็ตและเอเน็ตประกาศชัดเจน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ พร้อมจะประกาศผลทันที

"ถึงแม้ว่าในวันที่ 30 เมษายนนี้ สกอ.จะสามารถประกาศผลคะแนนโอเน็ตและเอเน็ต 95% ได้ แต่ยังต้องรอเด็กที่มีปัญหาเรื่องกระดาษคำตอบอีก 2 หมื่นคน อย่างนี้ทางคณะแพทย์ จุฬาฯ คงยังไม่สามารถประกาศผลคัดเลือก หรือพิจารณาคะแนนเด็กที่มีคะแนนสูงกว่าลำดับที่ 200 ได้ เพราะต้องรอให้แก้ปัญหาเด็กทั้งหมด ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าจะให้รอไปอีกนานแค่ไหน ตอนนี้รู้สึกอึดอัดใจและลำบากใจมาก มันพูดยาก จะให้มานั่งประกาศแล้วประกาศอีก จุฬาฯ คงทำไม่ได้ เพราะมันเสียชื่อสถาบัน ตอนนี้เราได้สอบถามไปยัง สกอ. ทาง สกอ.ก็โยนให้ไปถามสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) อย่างนี้ทางคณะแพทย์เองทำงานลำบาก บางทีปัญหาบางอย่างต้องมีวันจบและปิดฉากได้แล้ว บอกตามตรง วันนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะประกาศผลได้วันไหน" ผศ.นันทนา กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์