ชลน่าน จ่อออกกฎ พกยาบ้าไม่ถึง10เม็ด เป็นผู้เสพ รอดคุก!?
นพ.ชลน่านกล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ภายใต้ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยยึดหลัก "เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย" สนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด ด้วยการพัฒนารูปแบบการเข้ารับบริการที่เชื่อมโยงตั้งแต่ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด สถานฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ.2564 และได้กำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลภายใน 100 วัน (Quick win) โดยมีเป้าหมายการดำเนินการ 3 เรื่อง คือ 1.จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาวให้ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชุมชนที่ประสงค์จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ 146 แห่ง รองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้ทั้งสิ้น 1,957 เตียง แบ่งเป็น รูปแบบ Intermediate Care 692 เตียง และ Long Term Care 1,265 เตียง โดยจะเปิดบริการผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในรูปแบบมินิธัญญารักษ์ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566 นี้
"ฝากให้ทางสาธารณสุขของเราเข้าไปมีส่วนร่วมกับชุมชนในการบำบัดผู้ติดยาเสพติด เพราะลักษณะ Community Based ทำร่วมกับหลายกระทรวง อย่างที่มีการทำศูนย์ต่อสู้ยาเสพติดระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ก็ฝากพวกเราให้ความใส่ใจ ชิงนำการทำงานให้ได้แต่ไม่ใช่แย่งกันทำงาน อยากให้เราเกิดความสุขในการทำงาน เราสามารถนำเขาได้ จริงอยู่ว่าในเชิงโครงสร้างกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นแกนนำในงานนี้ แต่ด้วยความเคารพ เมื่อผมดูแผนงานของเขาแล้ว พบว่าเขาจะต้องใช้งบประมาณเป็นตัวตั้ง ถ้าไม่มีเงิน เขาบอกเขาทำไม่ได้ ขณะที่พวกเราทำงานในพื้นที่ เราไม่เคยเอาเงินเป็นตัวตั้ง เราใช้กลุ่มเป้าหมาย ใช้สภาวะที่เราปฏิเสธไม่ได้คือการมีผู้ป่วย ดังนั้นเราต้องใช้จุดเด่นของเรา เพราะต่อไปจะต้องทำงานผสมผสานกันในหลายภาคส่วน เราต้องยอมรับว่ายาเสพติดเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เป็นซ้ำได้ ฉะนั้นถ้าเราเข้าใจการดูแลก็จะป้องกันการเป็นซ้ำได้มากขึ้น แต่ถ้าบอกว่าหมอต้องรักษาหาย แต่พอกลับมาเป็นบ้าอีก ก็โทษหมอ ไม่โทษตัวเอง ชุมชนหรือครอบครัว เพราะสิ่งที่จะป้องกันการเป็นซ้ำมากที่สุดคือการทำอย่างไรไม่ให้เขากลับไปเสพ ซึ่งนั่นไม่ใช่หน้าที่ สธ.โดยตรงแต่เราไม่ปฏิเสธหน้าที่ เพราะเราก็มีส่วนร่วมในการเป็นชุมชนป้องกันเรื่องยาเสพติดด้วย" นพ.ชลน่านกล่าว
เมื่อถามว่าทำไมจะต้องกำหนดที่ 10 เม็ด นพ.ชลน่านกล่าวว่า เราใช้เหตุผลในทุกมิติรองรับ ทั้งด้านการแพทย์ เรื่องฤทธิ์ของยา มิติทางด้านเศรษฐกิจ การบังคับใช้กฎหมายและพฤติกรรมของการเป็นผู้ค้าที่ส่วนใหญ่จะทำบรรจุห่อละ 10 เม็ด อย่างไรก็ตาม เมื่อตำรวจตรวจพบผู้ครอบครองยาบ้าแล้ว ก็จะต้องมีการสืบสวนคดีต่อไป เพราะถ้าเป็นการครอบครอง 1 เม็ดแต่หากมีพฤติกรรมเป็นการค้า ก็จะถือว่าเป็นผู้ค้ายาเสพติด