เปิดเหตุผล ตัดคนรวยแจกหนึ่งหมื่น นายกฯตบบ่าให้กำลังใจ


เปิดเหตุผล ตัดคนรวยแจกหนึ่งหมื่น นายกฯตบบ่าให้กำลังใจ


จุลพันธ์ เผยเหตุเปิดทางเลือกตัดสิทธิคนรวย แจกเงินดิจิทัล ด้าน ‘เศรษฐา' รับทราบ พร้อมตบบ่าให้กำลังใจ มั่นใจโครงการเกิดแน่ 100%

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ที่กระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สาเหตุที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตกำหนดเป้าหมาย 3 กลุ่มในการแจกเงินนั้น เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้มีการยื่นข้อเสนอให้ดูแลเฉพาะกลุ่มเปราะบางเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15-16 ล้านคน เนื่องจากมองว่าเศรษฐกิจและการบริโภคเริ่มฟื้นตัวแล้ว

นายจุลพันธ์กล่าวว่า
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมอนุกรรมการยังมีความเห็นต่าง เนื่องจากมองว่าประชาชนยังมีความเดือดร้อนและรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพใหญ่เป็oสำคัญ หากใช้เม็ดเงินงบประมาณลงไปเพียง 1.5 แสนล้านบาท อาจจะกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ ขณะที่การกำหนดกลุ่มเป้าหมายเกณฑ์คนรวยนั้น กรณีกำหนดเกณฑ์ตัดสิทธิผู้ที่มีความพร้อมทางสังคม มีรายได้ 25,000 บาทต่อเดือนและหรือมีเงินฝากในบัญชี 100,000 บาท และกลุ่มผู้มีรายได้เดือนละ 50,000 บาทต่อเดือน และหรือมีเงินฝากในบัญชี 500,000 บาท ส่วนนี้เป็นตัวเลขที่มีอยู่ในข้อมูลของภาครัฐที่แบ่งตามความเหมาะสม

"จากการปรับเกณฑ์จ่ายเงินดิจิทัลเราก็รอฟังเสียงนักวิชาการและประชาชนว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งเมื่อการประชุมวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา ก็มีการแสดงความคิดเห็นกันอย่างล้นหลาม ซึ่งวันนี้มีการรายงานผลประชุมให้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับทราบ ท่านก็ไม่ติดใจเรื่องการกำหนดเป้าหมายตัดสิทธิคนรวย ท่านยังตบบ่าผมและให้กำลังใจว่าขอให้เดินหน้าต่อ เพราะเรื่องการเมืองก็เป็นเช่นนี้" นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์กล่าวด้วยว่า
รัฐบาลพูดเสมอว่าหากมีความจำเป็นต้องตัดกลุ่มคนรวยออกก็จะหาตัวเลขที่ใช้แบ่งกลุ่มได้เหมาะสมที่สุด ซึ่งหากจะไปดูทรัพย์สินอย่างอื่นในการแบ่งเกณฑ์ความรวย เช่น ที่ดิน ก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ หรือหากเป็นทรัพย์สินอื่นๆ เช่น หุ้น ส่วนนี้ก็มีความเคลื่อนไหวตลอดเวลา เพราะฉะนั้น จึงเลือกใช้เกณฑ์รายได้ที่มาจากการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของกรมสรรพากร และเงินฝากในบัญชี ซึ่งยังมีกลไกในการตรวจสอบได้

"การดูเกณฑ์รายได้จะต้องมีเกณฑ์ชัดเจน ซึ่งจะต้องไปหารือรายละเอียดเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เหมาะสม โดยจะไม่มีการนับรวมสินทรัพย์อื่นๆ เช่น สลากออมทรัพย์ พันธบัตร เป็นต้น ยืนยันว่าโครงการจ่ายเงินดิจิทัลจะเกิดขึ้นแน่นอน 100% ซึ่งถ้าให้ผมเลือกก็ต้องเลือกดูแลประชาชนทั้ง 49 ล้านคน หรือตัดออกไปแค่คนมีรายได้เกิน 50,000 บาท แต่สุดท้ายก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดใหญ่ตัดสินใจ ซึ่งอาจจะไม่เลือกทั้ง 3 แนวทางดังกล่าวนี้เลยก็ได้"
นายจุลพันธ์กล่าว

นายจุลพันธ์ระบุว่า
ขณะที่กรณีการใช้แหล่งที่มาของงบประมาณ ซึ่งวางเป้าหมายใช้งบประมาณเป็นหลัก ผ่านการตั้งงบผูกพันนั้น ได้มีการหารือร่วมกับสำนักงบประมาณถึงข้อกฎหมายพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณแล้วไม่มีปัญหา สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ตาม จะต้องรอคณะกรรมการชุดใหญ่เห็นชอบอีกครั้ง ซึ่งในการดำเนินการจะต้องดูให้ละเอียด


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์