กาญจน์ปิด100ปั๊ม ประมงสงขลา-สุราษฏร์ แห่ขายเรือ

กาญจน์ปิด100ปั๊ม ประมงสงขลา-สุราษฏร์ แห่ขายเรือ

วิกฤตดีเซลพ่นพิษ ปั๊มน้ำมัน 100 แห่งใน จ.กาญจนบุรี พากันปิดตัว เผยกำไรที่ได้รับเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ด้านพ่อค้าเกลือเมืองเพชรเล็งขอปรับค่าขนส่งเพิ่มอีกตันละ 200 บาท สงขลา-สุราษฎร์ฯ แห่ขายเรือประมงหวังเงินสดหมุนเวียน

ผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงลุกลามออกไปเป็นวงกว้าง ที่ จ.กาญจนบุรี พบว่า ปั๊มน้ำมันร่วม 100 แห่ง พากันปิดตัวลง ในขณะที่ 2 จังหวัดทางภาคใต้ มีการประกาศขายเรือประมงเพื่อที่จะเอาเงินสดมาหมุนเวียน

นายพิชัย พูนศักดิ์ไพศาล เลขานุการชมรมผู้ประกอบการน้ำมันจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยว่า หลังจากที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงได้ขยับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 100 แห่ง จาก 200 แห่ง ใน จ.กาญจนบุรี พากันปิดกิจการลง เพราะไม่สามารถแบกรับในเรื่องต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้นได้

"ในฐานะเจ้าของกิจการปั๊มน้ำมัน ซึ่งขึ้นกับ ปตท. เคยสั่งน้ำมันดีเซลเข้ามาจำหน่ายครั้งละ 15,000 ลิตรต่อวัน ปัจจุบันเหลือแค่เพียง 6,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า บางรายที่เคยนำถัง 200 ลิตรมาซื้อไปใช้ ก็ไม่มีขายให้ ต้องทิ้งถังไว้ที่ปั๊ม เพราะต้องเฉลี่ยน้ำมันให้ลูกค้าเท่าๆ กัน ขณะที่การไปรับน้ำมันแต่ละครั้งค่าใช้จ่ายก็สูงมาก จึงต้องร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่น ใช้รถสลับกันวิ่งขึ้นไปรับน้ำมันจากบริษัทแม่แล้วมาแบ่งกัน มิฉะนั้นก็จะไม่คุ้มกัน"

นายพิชัย กล่าวว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ อยากให้รัฐบาลอธิบายความจริงกับประชาชนว่าน้ำมันในคลังมีอยู่มากน้อยแค่ไหน จะเห็นได้ว่าจนถึงขณะนี้รัฐบาลอ้างเพียงว่าน้ำมันเชื้อเพลิงมีเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่มีให้จำหน่าย

ด้าน นายพันธุ์ศักดิ์ วอนเพียร อายุ 54 ปี อดีตเจ้าของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงใน จ.กาญจนบุรี กล่าวว่า ตัดสินใจหยุดกิจการค้าน้ำมันเนื่องจากไม่คุ้มค่าการตลาด โดยมีกำไรในการจำหน่ายเพียง 1-2% ของเงินลงทุนเท่านั้น อยากจะเตือนไปยังผู้ประกอบการทางด้านนี้ให้เตรียมตัวรับมือ โดยส่วนตัวได้ตัดสินใจมาลงทุนทำโรงแรมและรีสอร์ท เพราะถึงแม้ว่าจะเป็นหนี้บ้าง แต่ในอนาคตก็ยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้ทางธุรกิจ


ค้าเกลือขอปรับเพิ่มตันละ 200 บาท


นายระยอง ปิยะโชคณากุล ประธานสหกรณ์การเกษตรชาวนาเกลือบ้านแหลม จำกัด จ.เพชรบุรี กล่าวว่า น้ำมันที่ขึ้นราคามีผลกระทบกับชาวนาเกลือมาก เพราะการทำนาเกลือในปัจจุบันไม่ได้ใช้พลังงานลม แรงานคน และเรือขนส่งเหมือนอดีต การทำนาเกลือในปัจจุบันต้องอาศัยเครื่องมือที่ต้องใช้น้ำมันเป็นพลังงาน ทั้งเรื่องการสูบน้ำเข้านาและการขนส่งเกลือไปขาย เมื่อน้ำมันแพงต้นทุนการผลิตเกลือก็แพงขึ้นเพราะการทำนาเกลือต้องใช้น้ำมัน โดยการทำนาเกลือ 100 ไร่ จะมีต้นทุนผลิตสูงขึ้น 4-5 หมื่นบาท หรือเฉลี่ยไร่ละ 400-500 บาท น้ำมันขึ้นราคานอกจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นสวนทางก็คือ ผู้ค้าเกลือยังซื้อเกลือในราคาถูกลง เพราะอ้างถึงการที่ต้องเสียค่าขนส่งเพิ่ม เนื่องจากต้องส่งไปขายในพื้นที่ต่างจังหวัด

นายเอกชัย เตียเจริญ ผู้จัดการทั่วไปห้างหุ้นส่วนจำกัด เตียมุ่ยกวง พ่อค้าเกลือรายใหญ่ใน จ.เพชรบุรี กล่าวว่า หลังจากน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นทำให้ค่าขนส่งเพิ่มขึ้น แต่ทางโรงงานไม่สามารถปรับราคาเกลือเพิ่มขึ้นได้ ทำให้ผู้ประกอบการค้าเกลือต้องเจอปัญหาขาดทุน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการค้าเกลือได้ประสานไปยังกลุ่มลูกค้าที่ซื้อเกลือขอปรับราคาเกลือเพิ่มขึ้นอีกตันละ 200 บาท เพื่อลดการขาดทุน เนื่องจากปัจจุบันต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 75 เช่น เดิมขนเกลือไประยอง เสียค่าใช้จ่ายเที่ยวละ 4,000 บาท แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีก 3,000 บาท เป็น 7,000 บาท จึงมีความจำเป็นต้องปรับราคาขายส่งเกลือให้สูงขึ้น


ตังเกยอมขายเรือหวังเงินสด


นายไสว เจษยาคม อุปนายกสมาคมประมงสงขลา กล่าวว่า หลังจากน้ำมันดีเซลปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อกิจการประมงอย่างรุนแรง ในขณะนี้ที่บริเวณท่าเทียบเรือประมงใหม่ เขตเทศบาลนครสงขลา มีเรือประมง 28 ลำ ที่ติดป้ายประกาศขายในราคาถูก เพื่อต้องการเงินสดมาใช้เป็นทุนหมุนวียน

"ราคาขายที่วางไว้ขณะนี้ เรือขนาดใหญ่มูลค่า 1 ล้านบาท ประกาศขาย 3 แสนบาทเท่านั้น เช่นเดียวกัน เรือขนาดเล็กที่ราคา 5 แสนบาท ประกาศขาย 1 แสนบาท แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครรับซื้อ ที่ต้องขายเรือเนื่องจากการออกเรือแต่ละครั้งทำให้ขาดทุนต่อเนื่อง เช่น ออกเรือ 10 วัน มีค่าใช้จ่ายทั้งค่าน้ำมัน แรงงาน รวมประมาณ 7 หมื่นบาท แต่รายได้จากการขายสัตว์น้ำได้ประมาณ 6.2 หมื่นบาท ขาดทุนถึง 8,000 บาท ซึ่งเมื่อคำนวณอย่างละเอียด พบว่า หากจอดเรือจะทำให้ขาดทุนเดือนละ 4 แสนบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับการออกเรือจะทำให้ขาดทุนถึงเดือนละ 4 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการเดินเรือทั้งขนาดใหญ่และเล็ก เลือกที่จะหยุดเดินเรือเพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด" นายไสว กล่าว

นายอนันต์ ชูศักดิ์ นายกสมาคมชาวประมงจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ทั้งจังหวัดมีเรือทั้งหมดรวม 3,663 ลำ แบ่งเป็นเรือประมงชายฝั่ง 2,000 ลำ เรือประมงเชิงพาณิชย์ 1,663 ลำ หยุดออกเรือแล้วประมาณ 60-70% เนื่องจากแบกรับภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนไม่ไหว

"ในส่วนของ จ.สุราษฎร์ธานี ทราบว่า ผู้ประกอบการประมาณ 50% ปิดป้ายประกาศขายเรือราคาถูกให้เห็นแทบทุกพื้นที่ชายฝั่ง ที่นำเรือมาเทียบท่า เนื่องจากมีความจำเป็นต้องใช้เงิน เพราะหลังจากหยุดเดินเรือทำให้ขาดรายได้หลักเลี้ยงครอบครัว" นายอนันต์ กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์