ลูกบ้านเฮ! กทม.เปิดช่อง แก้ไขแอชตัน อโศก ไม่ต้องทุบทิ้ง
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ลูกบ้านเฮ! กทม.เปิดช่อง แก้ไขแอชตัน อโศก ไม่ต้องทุบทิ้ง
ลูกบ้านเตรียมเฮ! "กทม." เปิดช่อง แก้ไข "แอชตัน อโศก" ยื่นขอไม่ต้องทุบทิ้ง แต่บริษัทต้องลงทุนซื้อที่ทำทางเข้าออกเพิ่ม "อนันดา" เตรียมแจงกลต.พรุ่งนี้ ก่อน ถก กทม.-รฟม. ผ่าทางตัน
จากกรณที่เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ในการสั่งเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างคอนโดมิเนียมหรูโครงการ "แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21" สร้างความปั่นป่วนให้กับเจ้าของห้องชุด 580 ครอบครัว ที่โอนกรรมสิทธิไปแล้ว จากจำนวนห้องชุดในโครงการ 668 ห้องนั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "มติชน" ว่า ภายในสัปดาห์นี้บริษัทจะขอเข้าพบนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) รวมถึงผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เพื่อหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาและเยียวยาผลกระทบของโครงการคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก โดยที่ไม่ต้องทุบตึก หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ โดยบริษัทจะเร่งสรุปแนวทางแก้ปัญหาที่ชัดเจนภายในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ตามที่ได้ขอเวลา 14 วัน(วันทำการ)
นายประเสริฐกล่าวว่า ขณะเดียวกันวันที่ 31 กรกฎาคมนี้ บริษัทจะทำหนังสือรายงานความคืบหน้าต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยเนื้อหายังคงตามเดิมที่บริษัทออกแถลงการณ์ไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม โดยยืนยันว่าการทําโครงการแอชตัน อโศก มีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมาย รวมทั้งข้อกําหนดที่เกี่ยวข้องกับการขออนุญาตต่างๆ รวมทั้งสภาพที่ดินของโครงการอย่างรอบคอบรัดกุม อีกทั้งการพิจารณาอนุมัติโครงการ ผ่านการพิจารณาอนุมัติจากภาครัฐไม่ตํ่ากว่า 8 หน่วยงานและผลแห่งคําพิพากษาหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งต่อเจ้าของร่วมอาคารชุด และบริษัท เพราะหากหน่วยงานราชการผู้มีอํานาจหน้าที่ไม่เห็นชอบและอนุมัติแล้วโครงการนี้จะไม่สามารถก่อสร้างได้ตั้งแต่แรกและจะไม่เกิดความเสียหายขึ้น ส่วนจะมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่นั้น จะต้องเป็นกระบวนการต่อไป เพราะต้องดูว่าหน่วยงานไหนรับผิดชอบอย่างไร คงยังอีกนาน
"สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหา การซื้อตึกแถวเพื่อทำเป็นทางเข้าออกกว้าง 12 เมตรติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร เพื่อไปออกซอยสุขุมวิท 19 ก็เป็นแนวทางเลือกหนึ่ง แต่อาจจะมีทางเลือกอื่นอีกเรากำลังดูช่องทางด้านกฎหมายเพิ่มเติมว่าจะมีช่องทางใดที่จะแก้ไขปัญหาได้อีกบ้าง คิดว่าจะมีแนวทางออกโดยที่ไม่ต้องทุบตึก และยังได้สัญญาณที่ดีจากรองผู้ว่าฯกทม.(วิศณุ ทรัพย์สมพล) ออกมาให้ข่าวว่าให้ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราทำผิด แต่เป็นการปฎิบัติตามสั่งศาลปกครองสูงสุด อย่างไรก็ตามแม้จะเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง แต่ลูกบ้านยังอยู่อาศัยได้ต่อเนื่อง และขณะนี้ยังไม่มีลูกบ้านทิ้งดาวน์โครงการแต่อย่างใด"นายประเสริฐกล่าว
นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า กรมได้รับการสอบถามเรื่องการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ตามพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งกรมได้ตอบไปตามข้อเท็จจริงของกฎหมาย ถ้าเป็นเจ้าของที่ดินและมีที่ดินติดถนนสาธารณะ มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตรยาวต่อเนื่องกันก็สามารถทำได้ แต่ต้องดูใบอนุญาตจากรฟม.และกทม.ด้วยว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่
"เท่าที่ติดตามข่าวของแอชตัน อโศก คงมีทางออกเดียวเท่านั้น คือ ซื้อที่ดินหรือตึกแถวโดยรอบเพื่อทำทางเข้าออกกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดกับถนนสาธารณะ ให้เป็นไปตามข้อกฎหมาย แต่คงไม่ถึงกับต้องรื้อตึก แต่ถ้าแก้ไขไม่ได้ คงต้องรื้อถอน แต่คงเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ และเชื่อว่าบริษัทและกทม.คงมีทางออกร่วมกันได้"นายพงศ์รัตน์กล่าว
แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยว่า วันที่ 3 สิงหาคมนี้ผู้บริหารกทม.จะมีการแถลงข่าวกรณีโครงการแอชตัน อโศก โดยกทม.พร้อมปฎิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ จากนั้นกทม.จะทำหนังสือแจ้งบริษัทให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง รวมถึงจะดำเนินการตามขั้นตอนของพ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยสำนักงานเขตวัฒนาจะต้องออกคำสั่งตามมาตรา 40 ให้เจ้าของอาคารระงับการใช้อาคารและมาตรา 41 ให้ยื่นขออนุญาตเปลี่ยนแปลงแก้ไขทำให้ถูกต้องตามกฎหมายภายในเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน หากมีเหตุอันควรสามารถขยายเวลาออกไปอีกก็ได้
"ทางออกมีแต่บริษัทต้องลงทุนเพิ่ม คือ ต้องซื้อตึกแถวทำทางเข้าออกให้กว้าง 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร เพื่อออกสุขุมวิทซอย 19 หรือซื้อที่ดินสมาคมนามธารีอยู่ด้านทิศใต้ เป็นที่ว่างอยู่เพื่อทำทางออกไปถนนอโศกมนตรีและมาขออนุญาตก่อสร้างใหม่ เป็นทางออกเดียวที่จะทำให้ไม่ต้องทุบตึก แพงเท่าไหร่บริษัทก็ต้องซื้อ เพราะเป็นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ ก่อนหน้านี้กทม.เคยแนะนำไปแล้ว แต่บริษัทไม่ยอมทำตาม เชื่อว่าสามารถใช้ทางผ่านของรฟม.ได้และคิดว่าทางผ่านรฟม.เป็นทางสาธารณะ"แหล่งข่าวกล่าว
รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำกับดูแลสำนักการโยธา เปิดเผยว่า นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้สั่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ สำหรับคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองกลางในการเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างคอนโดฯ แอชตัน อโศก โดยให้มีผลย้อนหลังนั้น ซึ่งเรืองดังกล่าวทางนายชัชชาติจะเป็นผู้แถลงรายละเอียดอีกครั้งในวันที่ 3 สิงหาคมนี้
"จากการพูคุยเบื้องต้นกับผู้ว่าชัชชาติ นั้น ทางกทม.พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้ กทม. โดยสำนักงานเขตวัฒนา ในฐานะเจ้าของพื้นที่ เตรียมส่งหนังสือถึง บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด (บริษัทร่วมทุนระหว่าง บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ถือหุ้น 51% และบริษัท มิตซุย ฟุโดซัง จากประเทศญี่ปุ่น ถือหุ้น 49%) เจ้าของโครงการแอชตัน อโศก ในการออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้อง ซึ่งการเพิกถอนใบรับแจ้งการก่อสร้างดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าคอนโดฯ แอชตัน อโศก จะต้องมีการรื้อถอนอาคาร โดยยังมีแนวทางบริษัทผู้เป็นเจ้าของโครงการ สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างใหม่ได้ที่สำนักงานเขตวัฒนา"
ทั้งนี้บริษัทจะต้องยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างอีกครั้ง โดยจะต้องทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่ศาลสั่ง ซึ่งก็คือ เพิ่มทางเข้า-ออกโครงการ ให้มีความกว้างของถนน 12 เมตร และอยู่ติดกับถนนสาธารณะที่มีความกว้าง 18 เมตร ซึ่งเป็นไปตามที่กฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายผังเมืองกำหนด หากบริษัทเจ้าของโครงการสามารถปรับปรุงแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางเข้า-ออกแล้วเสร็จ ก็สามารถยื่นขอใบแจ้งก่อสร้างได้
"ขอเวลาให้ทีมกฎหมายของกรุงเทพมหานครพิจารณารายละเอียด ตามคำพิพากษาอย่างถี่ถ้วน ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติจะเป็นผู้แถลงด้วยตัวเอง เนื่องจากมีผลกระทบกับพี่น้องประชาชน"