ชี้แจงยกเลิก 2 โรคต้องห้ามรับราชการ แต่ยังมีคัดกรองช่วงสัมภาษณ์


ชี้แจงยกเลิก 2 โรคต้องห้ามรับราชการ แต่ยังมีคัดกรองช่วงสัมภาษณ์

เมื่อวันที่ 21 ก.ค.66 พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีครม.มีมติเมื่อวันที่ 18 ก.ค. อนุมัติร่างกฎ ก.พ. ยกเลิกโรคจิต-โรคอารมณ์ผิดปกติ ออกจากร่างกฎ ก.พ. ที่กำหนดโรคต้องห้ามในการรับราชการ ว่า

หลักการปฏิบัติยังคงคล้ายเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงมาก โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เคยเสนอเรื่องนี้ไปแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งสร้างความฮือฮามาก เป็นการพิจารณานำถ้อยคำว่า "การกำหนดให้โรคจิต (Psychosis) หรือโรคอารมณ์ผิดปกติ(Mood Disorder) ที่ปรากฎอาการเด่นชัดรุนแรงหรือเรื้อรังและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่" ออก หากมองในทางปฏิบัติ ถ้าเป็นการสอบเข้าระบบราชการ แล้วผู้สมัครสอบมีความเจ็บป่วยด้วยโรครุนแรง หรือเรื้อรั้ง การจะสามารถสอบผ่านนั้นค่อนข้างยากอยู่แล้ว หรือหากเป็นกระบวนการสอบสัมภาษณ์ที่ต้องมีใบรับรองแพทย์ประกอบ หากผู้สมัครสอบมีข้อบ่งชี้ว่าเจ็บป่วยรุนแรง เช่น หูแว่ว แพทย์จะต้องระบุไว้ในข้อมูลการตรวจร่างกาย หรือใบรับรองแพทย์ ซึ่งคณะกรรมการที่สัมภาษณ์นำไปพิจารณาได้




เมื่อถามถึงหลายคนมองว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม ส่วนหนึ่งเกิดจากข้าราชการ เช่น ทหาร ตำรวจ หรือผู้ที่สามารถครอบครองอาวุธได้ ถ้าหากตัดเกณฑ์นี้ออกจะเกิดปัญหาภายหลังหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพจิตเกิดขึ้นกับใครก็ได้ เวลาใดก็ได้ ดังนั้น การสรุปเป็นครั้งๆ แล้วไปเหมารวม ก็อาจเกิดความคลาดเคลื่อนได้ ไม่ว่าคนมีเครื่องแบบ คนมีหรือไม่มีอาวุธ ถ้าเราไปเผชิญกับสิ่งที่รุมเร้าก็จะเกิดปัญหาได้ ทางที่ดีคือทุกองค์กร ควรดูแลและสนับสนุนให้บุคลากรมีสุขภาพจิตที่ดี เมื่อไรที่พบผู้มีความเสี่ยง ก็จะต้องมีการช่วยเหลือแก้ไข ซึ่งเราย้ำเสมอว่าผู้ป่วยจิตเวชรักษาได้

ถามย้ำว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดจากภาวะทางสุขภาพจิต อาจเกิดขึ้นภายหลังที่เข้ามาทำงานแล้วหรือไม่ พญ.อัมพร กล่าวว่า ใช่ แต่สิ่งที่น่าเสียดายไม่ว่าจะเกิดก่อนหรือเกิดหลังคือ คนรอบข้างปล่อยให้เขาเดินหน้าเข้าสู่ความเสี่ยงเรื่อยๆ ดังนั้นความใส่ใจและการช่วยเหลือดูแลกันเป็นยาวิเศษของงานสุขภาพจิต และเป็นตัวป้องกันความรุนแรงได้ในทุกมิติ




เมื่อถามว่าทุกหน่วยงานควรจะมีการดูแลสุขภาพจิตของคนในองค์กรอย่างไร พญ.อัมพร กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ เช่นการหารือร่วมกับกระทรวงแรงงาน เพื่อดูว่าพอจะสามารถออกกฎกระทรวง หรือพระราชกฤษฎีกาตรงไหนบ้างเพื่อมาดูแลเรื่องนี้ได้ หรือการนำบัญญัติสถานประกอบการ ที่จริงๆ มีการระบุว่าสถานประกอบการต้องดูแลสุขภาพจิตของคนทำงาน แต่อาจจะไม่ได้เป็นข้อกำหนดที่เป็นการกำหนดโทษ เป็นเพียงคำแนะนำด้านการส่งเสริมสุขภาพ ดังนั้น เราอาจต้องนำเรื่องนี้มาทำให้เกิดรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันกระทรวงแรงงานก็ได้ขับเคลื่อนเรื่องนี้แล้ว จึงมีสถานประกอบการต้นแบบอยู่หลายแห่ง ขณะเดียวกันก็จะต้องหารือร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กองทุนสำหรับดูแลผู้ประกันตนให้เข้ามาช่วยเรื่องนี้ด้วย


เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์