อภิรักษ์ เดินหน้าสร้างรถไฟฟ้าทีละเฟส เหตุไม่อยากให้คนกรุงรอนาน เริ่มสุขุมวิทสายแรก
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 เมษายน 2549 16:45 น.
อภิรักษ์ ประกาศเดินหน้าลุยรถไฟฟ้าทันที ชี้ชัดจะสร้างทีละเฟสเหตุไม่อยากให้คนกรุงรอนาน พร้อมเตรียมยื่นขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจาก สภา กทม.ระบุเหตุที่เร่งไม่ใช่หวังผลทางการเมือง แต่ต้องการแก้ปัญหาจราจรให้เร็วที่สุด ฟันธงจะเริ่มก่อสร้างในสายสุขุมวิท ก่อนในปี 2549 ส่วนอีก 2 เส้นทางจะก่อสร้างในปี 2550 และจะทยอยเปิดให้บริการได้ในปี 2552
วันนี้(28 เม.ย.)นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) พร้อมด้วยนางบรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าฯกทม. และผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) เดินทางตรวจโครงการก่อสร้างระบบขนส่งมวลชน กรุงเทพมหานคร (กทม.) ส่วนต่อขยายรถไฟ้าบีทีเอส ที่บริเวณ สถานีรถไฟฟ้า เจริญนครที่กำลังก่อสร้างอยู่ จากนั้นขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส ดูการให้บริการจากสถานีตากสินไปสุดสถานีอ่อนนุช และหมอชิต รวมถึงตรวจเส้นทางก่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า สายหมอชิต-เกษตร
นายอภิรักษ์ กล่าวว่า ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า 3 เส้นทางที่กทม.จะทำการก่อสร้าง ได้แก่ เส้นทางตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 4.5 กิโลเมตร อ่อนนุช-สุขุมวิท 107 (แบริ่ง )5.25 กิโลเมตร และหมอชิต-ม.เกษตร ระยะทาง 5.1 กิโลเมตร ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งหมดประมาณ 24,000 ล้านบาท โดยกทม.เฉลี่ยงบ 3 ปี ก็จะเหลือปีละประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาทในการก่อสร้างแต่ละปี โดยให้รองผู้ว่าฯที่ดูแลหารือกับสจส.เพื่อให้ได้ข้อสรุปชัดเจนในสัปดาห์หน้าในการตัดบางโครงการที่ยังไม่เร่งด่วน ใน 16 โครงการก่อสร้างสะพาน ทางลอด เพื่อนำงบมาใช้สร้างรถไฟฟ้า ซึ่งในการเริ่มต้นก่อสร้างจะใช้งบประมาณไม่มาก
อย่างไรก็ตาม หลังจากการตรวจพื้นที่วันนี้ (28 เม.ย.) ตนได้สั่งการให้สจส. ลองศึกษา โดยเฉพาะส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ซึ่งมีระยะทางค่อนข้างยาว ใช้เวลาถึง 3 ปี มี 4 สถานี อาจแบ่งทำเป็น 2 เฟส แล้วให้เปิดบริการทีละเฟสๆละ 2 สถานี ส่วนสายหมอชิต-ม.เกษตรฯ อาจต้องมีการปรับเส้นทาง เพื่อหลีกเลี่ยงการเวนคืนพื้นที่ให้ต้องเวนคืนน้อยที่สุด
นายอภิรักษ์ กล่าวอีกว่า การที่จะขออนุมัติวงเงินก่อสร้างรถไฟฟ้าเพิ่มเติมที่จะต้องได้รับการอนุมัติความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครนั้น ตนจะหารือกับประธานสภากทม.อีกครั้งในเรื่องการขอขยายเวลาของการเปิดสภาเพิ่มเติม เนื่องจากเมื่อวันพุธที่ผ่านมาเป็นการประชุมสมัยสุดท้ายก่อนที่จะปิดสภาให้ไปเตรียมการเลือกตั้งส.ก.
ทั้งนี้ตนไม่อยากให้มองว่ากทม.ทำไปด้วยความรีบร้อนเพื่อหวังผลทางการเมืองในการเลือกตั้งแต่ได้มีการหารือกันแล้วและมันเป็นโยบายที่ทุกฝ่ายต่างก็เห็นด้วย ซึ่งหากใครไม่เห็นด้วย ณ เวลานี้ โดยส่วนตัวตนคิดว่าคนนั้นก็คงจะแปลกแล้ว
ด้านนางบรรณโศภิษฐ์ กล่าวถึงการพิจารณาตัดบางโครงการใน 16 โครงการก่อสร้างสะพาน ทางลอด ว่า กทม.จะพิจารณาเลือกจากความเร่งด่วนในการก่อสร้าง โครงการใดยังไม่เร่งด่วนก็ชะลอไว้ก่อน โดยยึดหลักการ ขนคนมากกว่าขนรถ เพื่อช่วยแก้ปัญหาจราจรและประหยัดพลังงาน
ส่วนที่สจส.จะเสนอให้ปรับย้ายหรือรื้อสะพานข้ามแยกพหลโยธินและแยกเกษตรนั้นสจส.ได้นำเสนอแผนดังกล่าวให้ทราบแล้วในเบื้องต้นและตนก็เห็นด้วย เนื่องจากอยู่ในแผนที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้แล้วเสร็จ พร้อมกันนี้ตนยังได้สั่งให้ทางสจส.ไปปรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการใช้วงเงิน และกรณีที่ยังไม่ได้รับผลการอนุมัติการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) จากสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม(สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะมีแผนการอย่างไรระหว่างรอผลการอนุมัติดังกล่าวซึ่งในวันจันทร์ที่ 1 พ.ค.นี้จะได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมผู้บริหารกทม.ในวันอังคารที่ 2 พ.ค.2549
สำหรับแนวเส้นทางต่อขยายสายอ่อนนุช-แบริ่ง กทม.ได้ดำเนินการประกวดราคาตั้งแต่ปี 2546 และได้ชะลอการลงนามสัญญา เพื่อรอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการลงทุนและผูกพันงบประมาณ โดยบริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดิเวลลอปเมนต์จำกัด มหาชน เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ซึ่งกทม.จะนัดผู้รับเหมามาเจราให้รับดำเนินการในราคาที่ประกวดไว้แล้ว ในช่วงนี้จะมี 4 สถานี ได้แก่ ที่บริเวณ ซอยสุขุมวิท 62 ,สุขุมวิท 101 , สุขุมวิท 103 และบริเวณหน้ากรมอุตุนิยมวิทยา
ส่วนเส้นทางต่อขยายสถานีตากสิน-บางหว้า มี 5 สถานี คือ บริเวณคลองสำเหร่ ถนนรัชดาภิเษก ถนนวุฒากาศ ถนนเพชรเกษม และคลองบางจาก ส่วนเส้นทางสถานีหมอชิต-ม.เกษตร จะต่อจากแนวโครงการปัจจุบันผ่านจิตรโภชนา ไปตามถนนพหลโยธิน เข้าแยกลาดพร้าว สิ้นสุดที่ม.เกษตร ทั้งนี้จะเริ่มก่อสร้างในสายสุขุมวิท ก่อนในปี 2549 ส่วนอีก 2 เส้นทางจะก่อสร้างในปี 2550 และจะทยอยเปิดให้บริการได้ในปี 2552