เปิดต้นทุนค่าไฟไทย ม.ค.-เม.ย. สูญเงินหลักพันล้านให้2โรงไฟฟ้า


เปิดต้นทุนค่าไฟไทย ม.ค.-เม.ย. สูญเงินหลักพันล้านให้2โรงไฟฟ้า

ข้อมูลที่น่าสนใจที่ปรากฏจากฐานข้อมูล กฟผ. พบว่า ช่วงสี่เดือนแรกของปี 2566 กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ 83,475 ล้านบาท ประกอบด้วยผู้ผลิตไฟฟ้า 13 เจ้าแต่มี 2 เจ้า คือ อีสเทิร์น เพาเวอร์ แอนด์ อิเลคทริค และ ราชบุรีเพาเวอร์ ที่ กฟผ. ชำระเงินให้ รวม 1,452.46 ล้านบาท แต่ไม่ปรากฎปริมาณการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566

เส้นทางค่าไฟแพง ผ่าโครงสร้างบิลค่าไฟ ใครเป็นใครในผู้ได้ประโยชน์

เหตุผลหลัก ๆ ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ต่อสาธารณะคือ ปัจจัยเรื่องปริมาณก๊าซธรรมชาติทั้งในและนอกประเทศที่ลดลง รวมทั้งแหล่งผลิตในเมียนมา ผลจากสงคราม ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากตลาดจร ที่ต้องไปซื้อมาทดแทนยิ่งแพงขึ้น จึงส่งผลมายังบิลค่าไฟของครัวเรือนไทย

ขณะเดียวกันภาคประชาชนที่ติดตามนโยบายพลังงาน กลับบอกว่า นี่ไม่ใช่เหตุผลเพียงประการเดียว แต่เป็นเพราะโครงสร้างค่าไฟฟ้ากับการจัดการพลังงานของประเทศนั้น มีธุรกิจพลังงานที่ได้ประโยชน์อยู่เบื้องหลัง



เปิดต้นทุนค่าไฟไทย ม.ค.-เม.ย. สูญเงินหลักพันล้านให้2โรงไฟฟ้า

ค่าไฟฟ้าแพง เพราะ ปริมาณไฟฟ้าสำรองมากเกินไป ?

หนึ่งในข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภคถึงสาเหตุค่าไฟฟ้าที่คนไทยต้องจ่ายนั้นแพง เป็นเพราะว่า การคิดค่าไฟฟ้านั้นแบกรับเอาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในส่วนที่เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin ) เอาไว้ หรืออธิบายได้ง่าย ๆ ว่า ประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้ามากเกินกว่าการใช้งานจริง

สภาองค์กรของผู้บริโภค อธิบายโดยยกตัวอย่างกำลังการผลิตไฟฟ้าเมื่อเดือน ก.ย. 2564 ว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 46,102 เมกะวัตต์ (ไม่รวมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก) ขณะที่ความต้องการสูงสุดของปีนี้อยู่ที่ 30,135 เมกะวัตต์ นั่นหมายความว่า ประเทศไทยมีกำลังสำรองสูงถึง 53%

หากดูตัวเลขในปีนี้ กำลังการผลิตรวมทั้งระบบ 48,571.51 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ เดือน ก.ย. 2565) ขณะที่เมื่อดูความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุดของปีนี้ สูงสุดในเดือน เม.ย. อยู่ที่ 32,254.50 เมกะวัตต์ จะเห็นว่ามีสัดส่วนที่ไม่ต่างกัน

ในมุมมองของภาคประชาชนที่ติดตามนโยบายพลังงาน อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค บอกกับบีบีซีไทยว่า ข้อมูลที่มีการพูดคุยกันในวงวิชาการ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองควรอยู่ที่ 15% ของปริมาณการใช้เท่านั้น แต่เมื่อดูเลขปัจจุบัน หากคำนวณปริมาณจากกำลังผลิตติดตั้ง ปริมาณไฟฟ้าที่ประเทศไทยมีทั้งจากการผลิตของ กฟผ. เอง การซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชนรายใหญ่รายเล็ก และการซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงกว่าความต้องการใช้อยู่ที่ราว ๆ 50-55% ตามตัวเลขที่ปรากฏ

"จะเห็นว่ามันสูงมาก และมันไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขเฉย ๆ แต่เป็นผลในทางรูปธรรมที่แสดงอยู่บนหน้าเว็บไซต์ของ กฟผ. เอง ซึ่งแต่เดิมไม่เคยเปิดเผย"

เปิดต้นทุนค่าไฟไทย ม.ค.-เม.ย. สูญเงินหลักพันล้านให้2โรงไฟฟ้า

สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ด้วยว่า ภาระส่วนนี้ถูกแปลงออกมาเป็นค่าการผันแปรอัตโนมัติ (Float Time) หรือค่าเอฟที (ค่า Ft) และถูกนำมาบวกรวมเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนด้วย

แต่เรื่องภาวะปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงเกินนี้ อีกด้านหนึ่ง ผู้กำกับกิจการพลังงานของประเทศหรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) บอกกับบีบีซีไทยว่า การจะชี้ว่าปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงเกินไปหรือไม่ ต้องพิจารณาสัดส่วนที่มาของเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตกระแสไฟฟ้าด้วย เพราะมีโรงไฟฟ้าบางประเภท ที่ไม่สามารถนำมานับรวมว่าเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองได้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ กกพ. กล่าวโดยสรุปง่าย ๆ ว่า ในการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า หากมี 100 โรง โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งของ กฟผ. และเอกชน (IPP) จะเดินเครื่องประมาณ 90% เท่านั้น เพื่อสำรองการผลิตส่วนหนึ่งไว้ในกรณีที่เกิดปัญหาและเตรียมความพร้อมสำหรับช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด


เปิดต้นทุนค่าไฟไทย ม.ค.-เม.ย. สูญเงินหลักพันล้านให้2โรงไฟฟ้า

ขณะเดียวกันสัดส่วนไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียนที่เริ่มเพิ่มมากขึ้น ก็จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เข้ามาสำรอง เพราะพลังงานหมุนเวียนมีความไม่แน่นอน หากต้องการใช้ในช่วงขาดแคลนไม่สามารถสั่งเดินเครื่องผลิตไฟได้ทันที

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องกายภาพของประเทศ ที่ไทยมีจุดอ่อนอยู่บริเวณภาคใต้ เพราะว่าสายส่งไฟฟ้ามีอยู่เพียงหนึ่งเส้นด้วยลักษณะของภูมิประเทศที่เป็นแนวยาว (ช่วงตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ลงไป) จึงต้องมีระบบเผื่อไว้ เพราะหากลักษณะของพื้นที่เป็นโครงข่ายเหมือนใยแมงมุมที่โยงถึงกันหมดก็สามารถสำรองกำลังผลิตไว้จำนวนไม่สูงมากได้

ข้อมูลตัวเลขที่ เลขาธิการ กกพ. อ้างกับบีบีซีไทย ชี้ให้เห็นถึงสัดส่วนไฟฟ้าจาก 2 กลุ่ม ที่ไม่ได้นำมาคิดเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าที่รองรับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ ได้แก่ ไฟฟ้าจากกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทสัญญา Non-Firm หรือผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก ที่พลังงานหมุนเวียนจาก ลมและแสงอาทิตย์ 7,533 เมกะวัตต์ และกลุ่มโรงไฟฟ้าประเภทสัญญา Firm ขนาดใหญ่ โดย เลขาธิการ กกพ. บอกว่า เป็นโรงไฟฟ้าที่มีข้อจำกัดในการเดินเครื่องทั้งสิ้น 4 แห่ง เป็นโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ประเภทเผาเชื้อเพลิงและโรงไฟฟ้าจากพลังน้ำ รวม 6,961 เมกะวัตต์

"การกำหนด reserve margin (ปริมาณไฟฟ้าสำรอง) ไม่ใช่หารกันง่าย ๆ มันมีหลายองค์ประกอบอยู่ ที่เขาคิดรวมอยู่ เป็นวิชาการพอสมควร ประกอบกับตัว physical (กายภาพ) ของประเทศ การใช้เชื้อเพลิง ไฟเราต้องไปทั่วประเทศ แต่ว่าก๊าซเรามีอยู่แค่นี้ ก็ต้องมีบาลานซ์กับส่วนข้างบน หรือหากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หลุดไปทั้งโรง ไฟข้างล่างจะขึ้นไปช่วยทันไหม มันคือองค์ประกอบหลาย ๆ อันประกอบกัน แต่จะเป็นเท่าไหร่ ต้องไปถามนโยบาย ผมไม่ก้าวล่วง ว่าเขาจะกำหนดเท่าไหร่"


เปิดต้นทุนค่าไฟไทย ม.ค.-เม.ย. สูญเงินหลักพันล้านให้2โรงไฟฟ้า

ตัวเลขโดยรวม เท่ากับว่า จากกำลังผลิตติดตั้งทั้งระบบ 45,000-48,000 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าส่วนของ 2 กลุ่มที่กำลังผลิตรวมกันแล้วได้ราว ๆ 14,000 เมกะวัตต์ จะไม่ถูกนับรวมด้วย ตัวเลขที่ทาง กกพ. คำนวณออกมา ทำให้เห็นว่าปริมาณกำลังผลิตสำรองที่สามารถพึ่งพาได้ไม่ถึง 30%

"หากตัดกลุ่มนี้ออกไป ทำให้โรงไฟฟ้าที่จะเดินเครื่องจริง ๆ มีสักเท่าไหร่ มันไม่ได้สูงอย่างที่เขา (ภาคประชาชน) บอก ที่เค้าบอกว่า reserve (ปริมาณไฟฟ้าสำรอง) สูง เพราะว่านับหมด ทั้งแสงอาทิตย์ นับกี่แผงที่ใช้ได้จริง ๆ แต่มันใช้ไม่ได้จริง... มันไม่สามารถซัพพอร์ตความมั่นคงทางพลังงานได้" นายคมกฤชกล่าว

"Reserve มันไม่ได้สูง เพียงแต่ว่าโรงไฟฟ้ามันทับซ้อนนิดนึง เพราะว่ามันเป็นโรงไฟฟ้ารุ่นเก่า"

เปิดต้นทุนค่าไฟไทย ม.ค.-เม.ย. สูญเงินหลักพันล้านให้2โรงไฟฟ้า

ค่าไฟขึ้น เพราะก๊าซขาดแคลน- แพงขึ้น ใช่เหตุผล (เดียว) จริงหรือ?

เลขาธิการ กกพ. กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ค่าไฟฟ้าสูงขึ้นนั้นมาจากต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก

ในการขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ เอฟที รอบเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 กกพ. ระบุถึงสาเหตุการปรับขึ้นค่าเอฟที เกิดจากปริมาณก๊าซธรรมชาติทั้งอ่าวในประเทศ และที่นำเข้าจากเมียนมาลดลง การชะลอการลงุทนของผู้ผลิตก๊าซแอลเอ็นจี และภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ความต้องใช้เพิ่มขึ้นในยุโรป การคิดค่าเอฟทีรอบนี้ จึงเป็นการพิจารณาให้สะท้อนต้นทุน โดยยังไม่รวมที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระต้นทุนแทนผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 83,010 ล้านบาท

"ตัวนี้ที่เป็นปัจจัยทำให้กระทบมาก ๆ และประกอบ กับก๊าซในแหล่งเอราวัณหาย เกิดสงครามทำให้ก๊าซแอลเอ็นจีแพง แล้วก๊าซพม่าก็จะหายไปอีก ตัวนี้จะส่งผลกระทบต่อภาคพลังงานมากกกว่า อันนี้คือสถานการณ์ตลาด"

เปิดต้นทุนค่าไฟไทย ม.ค.-เม.ย. สูญเงินหลักพันล้านให้2โรงไฟฟ้า


อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ระบุว่า ค่าไฟฟ้าแพงนั้นเกิดจากคนไทยต้องจ่ายราคาค่าไฟที่รวมเอาค่าซื้อไฟฟ้าปริมาณสำรองของประเทศ เข้าไปด้วยนั้น ประเด็นนี้ในเอกสารของ กกพ. เอง ก็ระบุถึงสูตรการคำนวณค่าเอฟที "ในการทยอยเรียกเก็บเงินเพื่อชดเชยต้นทุนให้กับ กฟผ." อยู่ด้วย

แล้วเงินส่วน 83,010 ล้านบาท ที่ กฟผ. รับภาระต้นทุนแทนผู้ใช้ไฟฟ้าในค่าเอฟทีรอบที่ผ่านมา เป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เลขาธิการ กกพ. บอกกับบีบีซีไทยว่า คือ ภาระค่าใช้จ่ายที่ กฟผ. ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าขนาดเล็กของเอกชน (SPP) ที่ กฟผ. ไปรับซื้อไฟฟ้ามา โดยเป็นเงินอุดหนุนต้นทุนค่าซื้อก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามสถานการณ์ของก๊าซธรรมชาติที่ขาดแคลนและต้องซื้อก๊าซในตลาดแอลเอ็นจีแพงขึ้น

"ต้นทุน (ค่าซื้อก๊าซธรรมชาติมาผลิตไฟฟ้า) ตรงนี้มันเพิ่มทั้งหมด แต่ว่าราคาตรงนี้นโยบายรัฐบาลบีบไว้ไม่ให้เพิ่ม เพราะฉะนั้นประชาชนจ่ายในราคาที่ถูก แต่ กฟผ. จ่ายในราคาต้นทุนที่แพง เพราะฟิกซ์ด้านนี้ไว้ ต้นทุนของเอกชนไม่เพิ่มขึ้น" เลขาธิการ กกพ. กล่าว



เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี BBC NEWS


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์