อดุลย์ ทีมหมูป่า : จากเด็กไร้สัญชาติ สู่เป้าหมายเรียนแพทย์ในสหรัฐฯ


อดุลย์ ทีมหมูป่า : จากเด็กไร้สัญชาติ สู่เป้าหมายเรียนแพทย์ในสหรัฐฯ


เมื่อครั้งที่นักประดาน้ำชาวอังกฤษ คือ จอห์น โวลันเธน และริค สแตนตัน ตะโกนถามไปในความมืด ลึกเข้าไปในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ว่า "พวกเธอมีกันกี่คน" ก็มีเสียงพูดภาษาอังกฤษจากสมาชิกทีมหมูป่า ตอบกลับไปว่า "13 คนครับ"

เสียงตอบกลับนั้น เป็นของ ด.ช. อดุลย์ สามอ่อน ที่ภายหลังปรากฏว่า ด.ช. อดุลย์ เป็นผู้สนทนาภาษาอังกฤษกับนักดำน้ำชาวอังกฤษ เพื่อถ่ายทอดคำแนะนำไปยังเพื่อนสมาชิกทีมหมูป่าต่อไป

จากวันนั้นเมื่อกว่า 4 ปีก่อน ที่ยังเป็นเด็กชาย เป็นเด็กชายขอบไร้สัญชาติ ผู้ใจรักในภาษาอังกฤษมาวันนี้ อดุลย์ แนะนำตัวกับบีบีซีไทย จากโรงเรียนเอกชนในรัฐนิวยอร์กของสหรัฐฯ ว่า "ผมไม่ใช่เด็กชายแล้ว เป็นนายอดุลย์ สามอ่อน อายุ 18 ปี และมิถุนายนนี้ จะเข้า 19 ปี"

ปัจจุบัน อดุลย์ เป็นนักเรียนมัธยมชั้นปีที่ 6 หรือเกรด 12 ของโรงเรียน "เดอะ มาสเตอร์ส สคูล" (The Masters School) ในเมืองด็อบบ์ส เฟอร์รี รัฐนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ หลังได้รับทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อหลังจบมัธยมชั้นปีที่ 3 จากประเทศไทย


ชีวิตใหม่ของเหล่าทีมหมูป่า หลังปฏิบัติการถ้ำหลวง

การเสียชีวิตของ "ดอม" หรือ ดวงเพชร พรหมเทพ อดีตกัปตันทีมหมูป่า เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2566 ที่หอพักในโรงเรียนบรู๊ค คอลเลจ ใกล้เมืองเลสเตอร์ ของสหราชอาณาจักร ทำให้เรื่องราวของทีมหมูป่ากลายเป็นที่สนใจอีกครั้ง โดยเฉพาะ อดุลย์ ที่ได้รับทุนให้ศึกษาต่อในโลกตะวันตกเป็นคนแรก

อดุลย์ ยอมรับว่า เหตุการณ์ถ้ำหลวง ได้นำมาสู่ โอกาส" และ "เปิดโลก" จนทำให้เด็กขี้อายคนหนึ่ง เติบใหญ่มาเป็นเด็กหนุ่มกล้าแสดงออก และกล้าฝันไกลถึงการเรียนต่อแพทย์ในระดับมหาวิทยาลัยที่อเมริกา

แต่เส้นทางกว่าจะมาถึงจุดนี้ ไม่ได้มาเพียงเพราะชื่อเสียง แต่เต็มไปด้วยความพยายามและฝ่าฝัน

และนี่คือเรื่องราวของ อดุลย์ หลังผ่านเหตุการณ์ถ้ำหลวงมากว่า 4 ปี และในวันที่สูญเสียต้องสูญเสีย ดอม เพื่อนรัก ไปตลอดกาล



อดุลย์ ทีมหมูป่า : จากเด็กไร้สัญชาติ สู่เป้าหมายเรียนแพทย์ในสหรัฐฯ



จากเด็กชายขอบสู่ "พลเมืองโลก"

หลังเสร็จสิ้นภารกิจช่วยเหลือ "ทีมหมูป่า" นาน 17 วัน เมื่อเดือน ก.ค. 2561 สมาชิกทีมหมูป่าและโค้ชของพวกเขา กลายเป็นที่สนใจของทั่วโลก จนเรียกได้ว่า พวกเขาเป็น "เหล่าเด็กชายที่โด่งดังที่สุดในโลก" ก็ว่าได้

พวกเขาเดินสายแสดงตัวทั้งในไทยและต่างประเทศ ได้ทำสัญญาลิขสิทธิ์การนำเรื่องราวไปทำภาพยนตร์กับเน็ตฟลิกซ์และไพรม์แอมะซอน ท่ามกลางผู้ติดตามในสังคมออนไลน์ ที่เพิ่มเป็นหลักหมื่นถึงหลายแสน

ชนินทร์ วิบูรณ์รุ่งเรือง หรือน้องไตตั้น อดีตทีมหมูป่าอายุน้อยที่สุด เคยบอกกับทีมข่าวบีบีซีว่า "ช่วงแรก ๆ ก็ยาก ต้องปรับตัวเรื่องที่คนรู้จักมากขึ้น ไม่รู้จะวางตัวยังไง เกร็งเวลาเจอกล้อง" แต่ต่อมาก็เริ่มคุ้นชิน

แต่สำหรับ อดุลย์ ที่มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมเกือบ 1 แสนคน มองว่า การที่ทั่วโลกสนใจเรื่องราวของพวกเขา "เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก" และ "เปิดโลกกว้างมากขึ้น"

"ผมเติบโตมาในโบสถ์คริสตจักร ไม่มีโอกาสไปสู่โลกภายนอกมากนัก" อดุลย์ บอกกับบีบีซีไทย โดยยอมรับว่า กิจกรรมในช่วงปีแรก ๆ หลังออกมาจากถ้ำหลวงนั้นเยอะมาก แต่ "ผมมองว่าเป็นโอกาสและประสบการณ์ที่ดีมาก"

อีกหนึ่งโอกาสสำคัญที่เกิดหลังภายกิจถ้ำหลวง คือ การได้รับสัญชาติไทย โดยไทยพีบีเอสรายงานว่า ออกมาจากถ้ำหลวงได้เพียง 1 เดือน ทางการไทยได้จัดพิธีมอบสัญชาติให้สมาชิกทีมหมูป่า 3 คน คือ อดุลย์, ด.ช. มงคล บุญเปี่ยม และโค้ชเอกพล จันทะวงษ์ (ในขณะนั้นเป็นพระเอกพล)

อย่างไรก็ดี นายอำเภอแม่สายยืนกรานในขณะนั้นว่า การมอบสัญชาติให้ทั้งสาม "ไม่เกี่ยวกับการติดถ้ำหลวง" แต่เป็นไปตามกระบวนการ

ต่อมาในปี 2562 สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ โพสต์ว่า อดุลย์ ได้รับทุนการศึกษา "โกลบอล ซิติเซ็น อะวอร์ด" จากมิดเดิลบูรี คอลเลจ เพื่อไปศึกษาภาษาอังกฤษเพิ่มเติมระยะสั้นในสหรัฐฯ

แต่อันที่จริง มีโรงเรียนที่ติดต่อมอบทุนการศึกษาให้อดุลย์ ไปศึกษาต่อตั้งแต่ปีแรกที่เขาออกมาจากถ้ำหลวงแล้ว แต่กว่าจะทำตามความฝันไปเรียนต่อในต่างแดนนั้น เขาต้องพยายามเป็นอย่างมาก

อดุลย์ ทีมหมูป่า : จากเด็กไร้สัญชาติ สู่เป้าหมายเรียนแพทย์ในสหรัฐฯ



จาก TOEFL 30 คะแนน สู่ความฝัน นักเรียนแพทย์

โรงเรียนที่ติดต่อเสนอทุนให้อดุลย์ คือ เดอะ มาสเตอร์ส สคูล ในเมืองด็อบบ์ส เฟอร์รี ในรัฐนิวยอร์ก ที่มีสถิติการสอบเข้ามหาวิทยาลัย "100%" ด้วยหลักสูตรการเรียนที่เน้นกิจกรรม การพัฒนาทักษะทั้งความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ให้แก่เด็ก ๆ โดยมีค่าเทอมต่อปีถึง 2.5 ล้านบาท สำหรับนักเรียนประจำที่อาศัยหอพักของโรงเรียนแบบเต็มสัปดาห์

ทางโรงเรียนติดต่อมอบทุนการศึกษาให้อดุลย์ ผ่านรัฐบาลไทยเมื่อเดือน ธ.ค. 2561 หรือผ่านเหตุการณ์ถ้ำหลวงมาเพียงไม่กี่เดือน ซึ่ง อดุลย์ สนใจโอกาสนี้มาก แต่อุปสรรคแรก คือ การสอบวัดระดับภาษาโทเฟล (TOEFL)

"ผมต้องสอบเข้า เพราะเขาอยากดูทักษะภาษาอังกฤษผมว่าอยู่ระดับไหน" อดุลย์ ที่ศึกษาอยู่ ม.1 จึงไปสอบโทเฟลในเดือน มี.ค. 2562 แต่ผลคะแนนได้ 30 เต็ม 120 คะแนน (โทเฟล ประกอบด้วยการทดสอบทักษะ อ่าน ฟัง พูด เขียน โดยให้คะแนนทักษะละ 0-30 คะแนน)

"เอาแค่ความมั่นใจมาอย่างเดียว... ปีแรก โห ลำบากมาก ผมทำอะไรไม่ได้เลย ได้แค่นั่งฟังทั้งคาบ ตอบโต้ไม่ได้" 
อดุลย์ เล่า

แม้ผลคะแนนไม่ผ่านเกณฑ์ แต่ทางโรงเรียนยังให้โอกาส, อดุลย์ จึงทุ่มเทเวลา 2 ปีต่อจากนั้น เพื่อติวเข้มภาษาอังกฤษ กับอาจารย์ชาวอังกฤษ รวมถึงได้รับทุนไปเรียนภาษาที่เมืองซานฟรานซิสโกของสหรัฐฯ เป็นเวลา 1 เดือน ก่อนสอบโทเฟลใหม่อีกครั้ง ซึ่งทางโรงเรียนเห็นพัฒนาการที่ดี จึงตัดสินใจให้ทุนการศึกษาเขาในที่สุด

"เขาดีใจที่เห็นความพยายาม เลยให้โอกาสเรา พอจบ ม.3 ผมก็เดินทางมานี่เลย"
 อดุลย์ บอกบีบีซีไทยผ่านการสัมภาษณ์ผ่านซูม

แต่ชีวิตในสหรัฐฯ ช่วงเริ่มต้นนั้น ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ, เขายอมรับว่า ต้องเริ่มทุกอย่างจากศูนย์ ยังสื่อสารกับคนอื่นไม่ได้มากนัก โดยเฉพาะในวิชาที่มีการโต้ตอบในชั้นเรียน อย่าง ภาษาอังกฤษและประวัติศาสตร์

"เอาแค่ความมั่นใจมาอย่างเดียว... ปีแรก โห ลำบากมาก ผมทำอะไรไม่ได้เลย ได้แค่นั่งฟังทั้งคาบ ตอบโต้ไม่ได้"
 อดุลย์ เล่า โดยบางช่วงพูดเป็นคำภาษาอังกฤษที่ชัดเจน

แต่อดุลย์ไม่ยอมแพ้ พยายามฝึกฝนภาษาอังกฤษให้ดีขึ้น ทั้งการเรียนพิเศษภาคฤดูร้อน การเรียนภาษาอังกฤษแบบเข้มข้นที่เมืองบอสตัน 5 สัปดาห์เต็ม ซึ่งทางโรงเรียนและเพื่อน ๆ ต่างชาติ ล้วนให้การสนับสนุน

ทำให้เมื่อเข้า ม.6 หรือเกรด 12 "ทุกอย่างลงตัว เรียนได้เหมือนปกติ"

ในวันที่อดุลย์พูดคุยกับบีบีซีไทย ใกล้จะเข้าสู่ช่วงปัจฉิมนิเทศระดับมัธยมปลายแล้ว โดยเขาเปิดเผยว่า ได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย ตั้งใจศึกษาในสาขา "พรีเมดิคัล" หรือหลักสูตรการศึกษาก่อนเข้าแพทยศาสตร์ ซึ่งประเมินแล้ว จะต้องใช้เวลาเรียนและเป็นแพทย์ฝึกหัด เกือบ 10 ปี

"ผมอยากเป็นหมอ" เขาประกาศ ก่อนอธิบายถึงที่มาความตั้งใจว่า พ่อแม่ต้องเข้าโรงพยาบาลบ่อย ๆ เพราะ "ป่วยง่าย" ตัวเขาเองก็เข้าโรงพยาบาลบ่อยครั้งในสมัยเด็ก ดังนั้น เมื่อประตูแห่งโอกาสและการศึกษาเปิดออกแล้ว เขาจึงตั้งใจเรียนหมอ "เพื่อทำอะไรให้พ่อแม่บ้าง"

แต่อีกเหตุผลสำคัญ คือ "ผมเคยให้สัมภาษณ์ว่าอยากทำงานยูเอ็น (สหประชาชาติ) อยากไปช่วยคนในหลาย ๆ ที่ ผมคิดว่าสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ คือการเป็นหมอ ไปช่วยคนโดยรักษาเขา" โดยความคิดหนึ่ง คือเปิดคลินิกสุขภาพในบ้านเกิด เพื่อช่วยเหลือด้านสุขภาพและสาธารณสุขแก่คนชายขอบ เป็นต้น

จาก "อดุลย์ หมูป่า" สู่ "อดุลย์ คนปกติ"

แม้ในไทย เขาเป็น "อดุลย์ ทีมหมูป่า" ผู้ทักทายนักดำน้ำอังกฤษด้วยภาษาอังกฤษ แต่เมื่อเดินทางไปถึงสหรัฐฯ อดุลย์ เล่าว่า แทบไม่มีใครเข้ามาสอบถามเขาถึงประสบการณ์ในถ้ำหลวงเลย

"เขาให้ความเป็นส่วนตัวกับทุกคนมาก... ไม่มีใครมองว่าเราเป็นเด็กที่อยู่ในถ้ำ เป็นเด็กมีชื่อเสียง" พร้อมบอกบีบีซีไทยว่า เขามองตัวเองว่า "ไม่ได้โดดเด่นอะไร เป็นแค่คนปกติ"

อดุลย์ มองว่า การที่คนรอบข้างไม่ได้ซักถามถึงประสบการณ์ในถ้ำหลวงมากนัก แตกต่างจากสมัยอยู่ที่ประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกันที่เคารพในสิทธิการพูดที่อยู่ในกรอบของการเคารพ "ความเป็นส่วนตัว" และการไม่ใช้คำพูดที่ทำให้ผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์เลวร้าย "เจ็บปวด" จากการต้องคิดถึงสิ่งที่ตนเองเผชิญ

"เขามีเสรีภาพในการพูดก็จริง แต่ว่าเขาก็ต้องระวังด้วยว่าพูดอะไร... เพราะเขาไม่อยากให้เรารู้สึกเจ็บปวด" ดังนั้น เรื่องราวการเป็นทีมหมูป่า และเหตุการณ์ถ้ำหลวง จึงจำกัดอยู่ในวงสนทนาแคบ ๆ ของเพื่อนสนิทเท่านั้น

อีกสิ่งสำคัญที่เขาได้เรียนรู้จากชีวิตเกือบ 3 ปีในสหรัฐฯ คือ คุณภาพชีวิต และโอกาสที่เด็กทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียม รวมถึงความทะเยอทะยานของเยาวชน ยกตัวอย่าง การสอบคะแนนเต็ม 10 เพื่อน ๆ ของเขาจะต้องให้ได้ 9 คะแนนขึ้นไปให้ได้

อดุลย์ ทีมหมูป่า : จากเด็กไร้สัญชาติ สู่เป้าหมายเรียนแพทย์ในสหรัฐฯ


การเสียชีวิตของ ดอม

ตอนที่เขารับทราบข่าวยืนยันการเสียชีวิตของ ดวงเพชร พรหมเทพ หรือ ดอม อดีตกัปตันทีมหมูป่า และเพื่อนสนิท, อดุลย์ เล่าว่า เขากำลังนั่งทำการบ้านอยู่ในห้องพัก

เขาแทบไม่เชื่อข่าวนี้ และมองว่า "เป็นข่าวปลอม" เพราะเพิ่งได้พูดคุยกับ ดอม ที่ทักมาปรึกษาเรื่องการสอบวัดระดับภาษาอังกฤษ เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านั้น

"ผมทำตัวไม่ถูกเลย ทำการบ้านไม่ได้ เช้าวันต่อมา ผมอีเมลไปบอกครูว่า ผมไม่ไปเรียนนะ... เราไม่เชื่อว่าน้องดอมเขาไปแล้วจริง ๆ" อดุลย์ กล่าวด้วยน้ำเสียงที่เริ่มสั่นเครือ พร้อมบอกว่า ทุกวันนี้เขายังรู้สึกว่าดอมยังมีชีวิตอยู่

อดุลย์ เป็นสมาชิกทีมหมูป่าคนแรกที่ได้รับทุนและเดินทางไปศึกษาในต่างประเทศ ก่อนที่ ดอม จะเดินทางไปศึกษาที่สถาบันสอนฟุตบอลในอังกฤษ เมื่อปีที่แล้ว, การปรับตัวกับชีวิตในต่างเมือง และการใช้ภาษาอังกฤษ เป็นสิ่งที่ทั้งคู่แลกเปลี่ยนกันบ่อยครั้ง

ตอนนี้ ครอบครัวและรัฐบาลไทย กำลังประสานกับทางการอังกฤษ เพื่อนำร่าง ดอม กลับมาประกอบพิธีทางศาสนาในบ้านเกิดที่เชียงราย โดยอดุลย์ ระบุว่า ถ้ากำหนดพิธีศพชัดเจนแล้ว เขาตั้งใจจะเดินทางกลับไทย เพื่อร่วมพิธีและอำลาดอมเป็นครั้งสุดท้าย

"อยากเห็นน้องดอมเล่นให้ทีมชาติ" นี่เป็นคำที่ อดุลย์ ตั้งใจจะกล่าวหน้าศพของดอม

ในฐานะที่เป็นสมาชิกทีมหมูป่า หนึ่งเดียวในเวลานี้ ที่กำลังทำตามความฝันในต่างประเทศ, อดุลย์ คิดว่า การเป็น "ทีมหมูป่า" และ "เหตุการณ์ถ้ำหลวง" เป็นใบเบิกทางก็จริง แต่ไม่ได้รับประกันความสำเร็จ สุดท้ายความพยายามของตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญ

"จากถ้ำหลวง มาจนถึงตอนนี้ 4 ปี สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับตัวผม คือทัศนคติมองโลก และการเป็นตัวของผมเอง" อดุลย์ ระบุ โดยอธิบายว่า แต่ก่อนเขาเป็นคนนิ่งเงียบ แต่เวลานี้ เป็นคนกล้าพูด กล้าแสดงออกมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่า เป็นผลจากโรงเรียนและสิ่งแวดล้อม

และเมื่อถามว่า ถ้านั่งไทม์แมชชีนย้อนเวลากลับไปก่อนที่จะปั่นจักรยานกับผองเพื่อนทีมหมูป่า ไปยังถ้ำหลวง เขาอยากเปลี่ยนแปลงอะไรไหม

นายอดุลย์ นิ่งคิดไปครู่หนึ่งก่อนตอบว่า "ไม่มีครับ ไม่มีอะไรที่อยากแก้ไข ให้มันเป็นแบบที่มันควรเป็น"

อดุลย์ ทีมหมูป่า : จากเด็กไร้สัญชาติ สู่เป้าหมายเรียนแพทย์ในสหรัฐฯ


อดุลย์ ทีมหมูป่า : จากเด็กไร้สัญชาติ สู่เป้าหมายเรียนแพทย์ในสหรัฐฯ


อดุลย์ ทีมหมูป่า : จากเด็กไร้สัญชาติ สู่เป้าหมายเรียนแพทย์ในสหรัฐฯ

เครดิต :
เครดิต : เนื้อหาข่าว คุณภาพดี BBC NEWS


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
คุณ : me
สถานะ : บุคคลทั่วไป
IP : 203.151.136.238

203.151.136.238,,238.136.151.203.sta.inet.co.th ความคิดเห็นที่ 3 [อ้างอิง]
wellcome


[ วันอาทิตย์ ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 11:24 น. ]
ตามข่าวteenee.com จาก LineToday เข้าไปคลิ๊กกดติดตามได้เลย
กระทู้เด็ดน่าแชร์