มติเสียงข้างมาก ไฟเขียวดีลควบรวมกิจการทรู-ดีแทค แบบมีเงื่อนไข
"กสทช." ไม่มีอำนาจ ตัดสินควบรวม ทรูฯ ดีแทค หลังมีมติเสียงข้างมากรับทราบเท่านั้น พร้อมกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม
วันที่ 20 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อเวลา 20.45 น. วันที่ 20 ต.ค. 2565 ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยกรณีการรวมธุรกิจดังกล่าว เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลกระทบต่อสาธารณะ กสทช. ทุกท่านจึงได้ใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลทุกด้านอย่างละเอียดรอบคอบ
ซึ่งในวันนี้ที่ประชุม กสทช. ได้มีการหารือ อภิปราย รวมถึงแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่วมกันในทุกๆ ด้าน โดยใช้เวลาในการประชุมประมาณ 11 ชั่วโมง จากนั้นที่ประชุม กสทช. จึงได้มีมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ส่วนเสียงข้างน้อยขอสงวนความเห็น ไม่อนุญาตการรวมธุรกิจ ซึ่งมติรับทราบการควบรวมธุรกิจหมายถึง กสทช.ไม่มีอำนาจในการอนุญาต จึงมีมติเพียงรับทราบ โดยการควบรวมฯ สามารถทำได้ ซึ่ง กสทช.จะเป็นเพียงผู้กำกับดูแลออกกฏกติกาเงื่อนไขการประกอบกิจการเท่านั้น
อย่างไรก็ตามที่ประชุมเห็นชอบประเด็นการพิจารณาว่าการรวมธุรกิจกรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกับตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 หรือไม่ โดยมีผลของการลงมติดังนี้
ที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กสทช. และ กสทช. ต่อพงศ์ฯ) มีมติเห็นว่าการรวมธุรกิจในกรณีนี้ ไม่เป็น การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยนัยของผลตามข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม (ประกาศฉบับปี 2561) และให้พิจารณาดำเนินการตามประกาศฉบับปี 2561 โดยรับทราบการรวมธุรกิจและเมื่อ กสทช. ได้รับรายงานการรวมธุรกิจแล้ว กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข/มาตรการเฉพาะตามข้อ 12 ของประกาศฉบับปี 2561
ที่ประชุมเสียงข้างน้อย (กสทช. รองศาสตราจารย์ ดร. ศุภัชฯ และ กสทช. ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรองฯ) มีมติเห็นว่ากรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันและให้พิจารณาดำเนินการพิจารณาตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดย กสทช. อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการหรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศดังกล่าว
กสทช. พลอากาศโท ดร. ธนพันธุ์ฯ ของดออกเสียง เนื่องจากยังมีประเด็นปัญหาการตีความในแง่กฎหมายจึงยังไม่สามารถพิจารณาได้อย่างชัดเจนจึงของดออกเสียง โดยจะขอทำบันทึกในภายหลัง
อนึ่ง เนื่องจากการลงมติที่ประชุมดังกล่าวข้างต้นมีคะแนนเสียงเท่ากัน ดังนั้น ประธานที่ประชุมได้ใช้อำนาจตามข้อ 41 ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม กสทช. พ.ศ. 2555 ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
แหล่งข่าวระดับสูงจากบอร์ด กสทช.เปิดเผยว่า กระบวนการพิจารณา 2 รูปแบบ คือ
1.รับทราบรายงานการรวมธุรกิจ ตามข้อ 12 ประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 เป็นเพียงการรับทราบไม่ได้พิจารณาอนุญาต
2. การรวมธุรกิจ "มีลักษณะเป็น การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้เป็นการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ปี 2549 โดยการเข้าซื้อหรือถือหุ้นเกิน 10% หรือซื้อสินทรัยพ์ทั้งหมด หรือบางส่วน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
อย่างไรก็ตามเมื่อที่ประชุมบอร์ด รับทราบรายงานการรวมธุรกิจ ตามข้อ 12 ของประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 จะต้องกำหนดตลาดที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะออกมาตรการ หาก HHI มากกว่า 2,500 อุปสรรคการเข้าตลาดเพิ่มขึ้นมีนัยสำคัญ การครอบครองโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น ผลกระทบการแข่งขัน อาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ สำหรับผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด ( SMP) มาบังคับใช้
"ตอนนี้สิ่งที่ต้องถกกันน่าจะเป็นประเด็นเกี่ยวกับการมีอำนาจหรือไม่มีอำนาจ ของ กสทช.หาก กสทช.ตัดสินว่าอนุญาตให้ควบรวม ก็ต้องออกมาตรการกำกับดูแลออกมา แต่ถ้าไม่อนุญาต ก็ไม่ต้องมีมาตรการใดๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ หากกสทช.ตัดสินรับทราบ และออกมาตรการฯ ออกมา ก็จะส่งผลให้ กลุ่มที่คัดค้านเดินหน้าฟ้อง กสทช. ขณะเดียวกัน หาก กสทช.พิจารณา การรวมธุรกิจ ตามประกาศข้อ 8 ของกทช. ซึ่งจะมีการออกมาตรการห้าม และกำหนดมาตรการเฉพาะ ก็อาจจะส่งผลให้ ทรูฯ และดีแทค ฟ้อง กสทช.เช่นกัน ดังนั้น กสทช. ไม่ว่าจะพิจารณารูปแบบใด ก็จะโดนทั้งขึ้นทั้งร่อง" แหล่งข่าวกล่าว