แฉนักโทษขาใหญ่บังคับสักรับเข้าแก๊งผวาติดเอดส์

แฉนักโทษขาใหญ่บังคับเด็กใหม่สักรับเข้าแก๊ง

ผวาโรคติดเชื้อ-เอดส์ ราชทัณฑ์เร่งหามาตรการป้องกันการสัก เหตุพ้นโทษออกไปสังคมไม่ยอมรับ แถมเป็นสัญลักษณ์ของคนคุก นักจิตวิทยาชี้สักเพื่อให้ดูมีอำนาจ-พลัง
นอกจากการสักจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้ที่หลงใหลในศิลปะแขนงนี้แล้ว บรรดาผู้ต้องขังในเรือนจำก็นิยมการสักมากเช่นเดียวกัน แต่ในจำนวนนี้เป็นการบังคับข่มขู่จากนักโทษขาใหญ่ อุปกรณ์ก็ทำขึ้นเอง ใช้วนคนแล้วคนเล่า ทำให้ผู้ต้องขังเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อต่างๆ ประกอบกับเมื่อพ้นโทษออกมาแล้วไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม จนกรมราชทัณฑ์ต้องเร่งหามาตรการป้องกัน
 

 เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 15 พฤศจิกายน

 สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านอาชญาวิทยา กรมราชทัณฑ์ จัดสัมมนาหัวข้อ "รอยสักผู้ต้องขัง...ปัญหาในการปรับตัวและการยอมรับจากสังคม" ณ รร.ริชมอนด์ เพื่อหามาตรการป้องกันการสักในเรือนจำ ให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษออกไปปรับตัวเข้ากับสังคมได้ ป้องกันหวนกลับมาเป็นนักโทษอีก
 

 น.ส.ปรียาภรณ์ ศรีมงคล รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า

กรมราชทัณฑ์รู้สึกเป็นห่วงปัญหาที่ตามมาจากการสัก เพราะอุปกรณ์ที่นำมาสักไม่สะอาด ทำให้เกิดโรคติดเชื้อต่างๆ โดยเฉพาะโรคเอดส์ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าป้องกันยาก เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอ ไม่อาจดูแลได้ทั่วถึง ประกอบกับอุปกรณ์ในการสัก เช่น เข็ม น้ำหมึก ผู้ต้องขังสามารถซุกซ่อนมาจากการฝึกอาชีพ หรือไม่ก็ลักลอบให้ญาตินำมาให้ โดยเจ้าหน้าที่ตรวจไม่พบ นอกจากปัญหาการติดโรคแล้วเวลาพ้นโทษออกไป ผู้ต้องขังส่วนใหญ่มีฐานะยากจน เมื่อสังคมไม่ยอมรับก็ไม่สามารถลบรอยสักได้ เนื่องจากต้องใช้เงินค่อนข้างสูง เป็นเหตุให้รอยสักติดตัวไปตลอด กลายเป็นสัญลักษณ์ของคนที่เคยติดคุกไป
 

 ด้าน น.ส.บุศรา เพชรประเสริฐ ตัวแทนจากกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า

ปัญหาผู้ต้องขังสักกันมากมีสาเหตุมาจากเกิดความกดดันทางจิตใจ เมื่อเข้าไปอยู่ในเรือนจำเกรงจะเข้ากับผู้ต้องขังรายอื่นๆ ที่อยู่มาก่อนไม่ได้ อีกสาเหตุเกิดจากขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ที่ต้องสักก็เพื่อให้ดูมีอำนาจและพลังมากกว่าเดิม
 

 "คม ชัด ลึก" ได้รับการเปิดเผยจากนายเก่ง (นามสมมติ) วัย 25 ปี อดีตผู้ต้องขังคดียาเสพติดว่า

เข็มสักจะเป็นเข็มเย็บผ้าธรรมดา ฆ่าเชื้อด้วยการเผาไฟ ซึ่งขณะนั้นยังไม่นึกกลัวโรคที่จะตามมา เพราะเห็นว่ารอยสักจะช่วยให้ดูน่าเกรงขามในหมู่นักโทษมากขึ้น ประกอบกับคึกคะนองตามประสาวัยรุ่น ตลอดจนลดความเบื่อที่ต้องถูกคุมขัง อย่างไรก็ตาม มีนักโทษหน้าใหม่หลายรายเช่นกันที่ถูกขาใหญ่บังคับสัก เพื่อรับเข้าเป็นสมาชิกในแก๊ง

 "นักโทษที่เข้ามาใหม่ดูท่าทางเรียบร้อย ไม่ค่อยทันโลกเท่าไร นักโทษขาใหญ่ก็จะบังคับให้มาเป็นลูกน้อง โดยจะสักเป็นสัญลักษณ์บริเวณข้อเท้าหรือไม่ก็ข้อมือ" นายเก่ง กล่าว
 

 ถึงวันนี้เมื่อเก่งพ้นโทษออกมาใช้ชีวิตในสังคมเขาเริ่มมีความคิดที่จะลบรอยสักเหล่านี้ออก

โดยเก่งให้เหตุผลว่ามันทำให้ไม่มีความน่าเชื่อถือ หลายคนมองด้วยความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ หรือถึงขั้นมองเป็นอาชญากรไปเลย เก่งบอกว่าครั้งหนึ่งเขาเคยไปสมัครงานช่วงปิดภาคเรียนกับเพื่อนที่ไม่มีรอยสัก ปรากฏว่าเพื่อนได้ทำงาน ซึ่งตรงกันข้ามกับเขา ทุกวันนี้เวลาออกไปนอกบ้านก็ต้องปกปิดรอยสักให้มิดชิด รู้สึกไม่อยากให้คนอื่นมองว่าเป็นคนไม่ดี หากย้อนเวลากลับไปได้ก็คงไม่สัก
 

 ด้านนายแมน (นามสมมติ) วัย 22 ปี อดีตผู้ต้องขังคดียาเสพติดเช่นกัน เปิดเผยว่า

ก่อนติดคุกเคยชื่นชอบรอยสักมาก่อน แต่เนื่องจากค่าสักค่อนข้างแพง กระทั่งเข้าไปอยู่ในเรือนจำจึงให้นักโทษด้วยกันสักให้ ทุกคนเรียกว่าอาจารย์ เพราะติดคุกมานานกว่าและมีฝีมือในการสัก โดยเสียค่าสักเป็นบุหรี่เพียงซองเดียว ขณะสักยอมรับว่าเจ็บมากแต่ก็พอทนได้ 
 อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนแมนจะมีความคิดที่ต่างออกไปจากเก่ง เนื่องจากเขาต้องการเก็บรอยสักนี้ไว้เป็นที่เตือนใจว่า ครั้งหนึ่งตัวเองเคยทำความผิดจนต้องติดคุกมาแล้ว
 

 ทั้งนี้ จากงานวิทยานิพนธ์ของนางพิมพรรณ รัตนวิเชียร บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับเรื่องรอยสักกับการประกอบอาชญากรรมของผู้ต้องขังพบว่า มีการพูดถึงการติดเชื้อจากการสักในเรือนจำ โดยผู้ต้องขังถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคต่างๆ เช่น โรคผิวหนังจากการสัก แผลอักเสบ แผลเป็น หรือโรคติดเชื้อทางโลหิตอย่างไวรัสตับอักเสบบี และโรคเอดส์ ซึ่งมีผู้ต้องขังติดเชื้อเอดส์จากการสักสูงถึง 105 คน จากจำนวนนักโทษที่สำรวจ 332 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 36 ซึ่งเป็นอัตราค่อนข้างสูง
 

 ผลการวิจัยยังชี้ด้วยว่า

นอกจากปัญหาโรคติดเชื้อต่างๆ แล้ว ปัญหาการยอมรับทางสังคมก็เป็นอีกเรื่องที่ผู้ต้องขังประสบ เมื่อออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอกแล้วไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ สมัครงานหรือประกอบอาชีพไม่ได้ เนื่องจากมีรอยสักซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม โดยหลายคนมองว่าคนที่มีรอยสักเป็นบุคคลที่น่ากลัว และตราหน้าว่าเป็นคนขี้คุก ทำให้นักโทษหลายรายเมื่อออกไปสู่สังคมภายนอกแล้วไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไร จึงก่ออาชญากรรมจนต้องวนเวียนเข้าคุกอีกหลายๆ รอบ


 งานวิจัยชิ้นนี้ยังเปิดเผยข้อมูลการสัมภาษณ์นักโทษด้วยว่า

ครั้งแรกผลัดกันสักกับเพื่อนในกลุ่ม ก่อนจะพัฒนามาเป็นอาจารย์สักเมื่อฝีมือดีขึ้น โดยอุปกรณ์ที่ใช้จะหามาเอง เช่น หมึกลอตติ้งสีดำที่ผู้ต้องขังทำงานกองนอก รับจ้างลักลอบหิ้วเข้ามาใส่หลอดขาย 1 หลอดมีค่าเท่ากับบุหรี่ 1 ซอง ซึ่งการสักแต่ละครั้งจะใช้หมึก 2-3 หลอด ส่วนเข็มเย็บผ้าจะขายในราคา 10 เล่มต่อบุหรี่ 1 ซอง นอกจากนี้ จะใช้น้ำมันเจียวในซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแทน
 

 จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งสำรวจผู้ต้องขัง 10,544 คน พบนักโทษมีรอยสักมากถึง 5,311 คน คิดเป็นร้อยละ 50.36 ผู้ต้องขังที่มีรอยสักส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 10-29 ปี 2,254 คน รองลงมาคือ 30-39 ปี 1,863 คน โดยเป็นการลักลอบสักจากในเรือนจำ 2,983 คน สักจากนอกเรือนจำ 1,878 คน สักจากทั้งในและนอกเรือนจำ 404 คน และไม่ทราบข้อมูลอีก 46 คน


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์