มาเเล้ว! ศรีสุวรรณ ร้องสอบ หลวงพี่อุเทน ลั่นเรื่องนี้ไม่ใช่กิจของสงฆ์
วันที่ 19 มี.ค.65 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า วันนี้สมาคมฯ ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังมหาเถรสมาคม (มส.) ผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) กรณี หลวงพี่อุเทน หรือ พระอุเทน สิริสาโร เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ ได้ทำการบวชพราหมณ์ให้กับ 2 ผู้ต้องหาในคดีอาญาที่เป็นข่าวครึกโครมอยู่ในขณะนี้นั้น มีเจตนาที่จะเลี่ยงบาลี ที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม (มส.) ฉบับที่ 17 พ.ศ.2536 หรือไม่
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ข้ออ้างที่ว่ามิใช่เป็นการบวชพระแต่เป็นแค่การบวชพราหมณ์นั้น ไม่อาจรับฟังได้ เนื่องจากการบวชพราหมณ์เป็นกิจของศาสนาพราหมณ์ ที่กำหนดไว้ว่าการบวชสามารถกระทำได้ในวันเดียวในรอบปี คือวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 4 เท่านั้น และห้ามโกนผม โกนคิ้ว ที่สำคัญผู้บวชจะต้องมีเชื้อสายพราหมณ์ โดยบรรพบุรุษจะต้องบวชพราหมณ์สืบเนื่องอย่างไม่ขาดสายคือพ่อจะต้องบวชพราหมณ์ ลูกจึงจะบวชพราหมณ์ได้ โดยจะต้องเรียนท่องบทสวดคัมภีร์ของพราหมณ์ให้ได้ก่อนถึงวันบวช เมื่อบวชพราหมณ์แล้วจะต้องถือเพศเป็นพราหมณ์ ครองผ้าขาวตลอดชีวิต ลาสิกขาจากเพศพราหมณ์ไม่ได้จนสิ้นอายุขัย หรือเสียชีวิตก่อนวัยด้วยเหตุต่างๆ เท่านั้น
การที่เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ แสร้งบวชพราหมณ์ให้กับ 2 ผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา แต่กลับมีวัตรปฏิบัติดั่งเช่นนักบวชในพุทธศาสนา เช่น การปลงผม โกนคิ้ว นั่งกรรมฐาน เดินธุดงค์ ถือกรดสะพายบารต แถมยังมีการนำไปทำพิธีแก้กรรมปลดปล่อยวิญญาณกลางสุสานอีกด้วยนั้น ไม่ใช่ลักษณะของนักบวชในศาสนาพราหมณ์ 100% หากแต่น่าจะเป็นเล่ห์ฉลหรือการเลี่ยงบาลี เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา นำไปประกอบในการใช้ต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อขอลดหย่อนโทษทางอาญาหากศาลพิพากษาว่ามีความผิดเท่านั้น
"การกระทำของเจ้าอาวาสวัดท่าไม้ จึงไม่น่าจะเป็นกิจของสงฆ์ ไม่ปรากฏในพระไตรปิฎก หรือในพระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกแต่อย่างใด หากแต่น่าจะเป็นการเลี่ยงบาลีที่จะไม่ปฏิบัติตามกฎมหาเถรสมาคม (มส.) ฉบับที่ 17 พ.ศ.2536 ข้อ 14 ที่บัญญัติห้ามพระอุปัชฌาย์ต้องงดเว้นการอุปสมบทแก่คนต้องห้าม อาทิ คนทำผิดหลบหนีคดีอาญาแผ่นดิน คนต้องหาในคดีอาญา เป็นต้น" นายศรีสุวรรณ กล่าว
นายศรีสุวรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า เพื่อเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนามิให้ถูกอลัชชีนำไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง จึงได้มีคำร้องไปยังมหาเถรสมาคม(มส.) ผ่าน ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ขอให้ดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าว ว่าเป็นการดำเนินการที่อยู่ในพระธรรมวินัยหรือกิจของสงฆ์ในพระพุทธศาสนาหรือไม่ และเป็นการเลี่ยงบาลีที่จะปฏิบัติตามกฎของมหาเถรสมาคมหรือไม่ หากพบว่าเป็นความผิดให้ดำเนินการลงโทษตามพระธรรมวินัยขั้นสูงสุดต่อไป