เผย 10 ถนนเสียงดังสุดใน กทม.ผลวิจัยชี้ชัด รถเมล์ ขสมก.ตกมาตรฐานเพียบ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 เมษายน 2549 17:22 น.
ดีเดย์จับปรับรถเสียงดังเกินเกณฑ์มาตรฐาน 1 พฤษภาคม ตั้ง 27 ด่านครอบคลุม 50 เขต ชี้รถเมล์ ขสมก.ดังมากสุด พร้อมเผย 10 อันดับถนนเสียงดังสุด ได้แก่ บำรุงเมือง ถนนสุขุมวิท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนตากสิน ถนนพระราม 4 ถนนพหลโยธิน ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนเยาวราช ถนนอิสรภาพ และถนนพระราม 9 ระบุ ปัจจุบันมีรถใน กทม.5.2 ล้านคัน
นายอดิศักดิ์ ทองไข่มุกต์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงว่า วันที่ 26 เมษายนของทุกปีเป็นวันต้านภัยเสียงโลก เพื่อลดมลพิษทางเสียงจากการจราจร ได้ร่วมกับหลายหน่วยงานจัดโครงการสำรวจระดับเสียงและส่งเสริมการใช้ท่อไอเสียมาตรฐานในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ดีเดย์วันที่ 1 พฤษภาคม ตั้งด่าน 27 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต ของ กทม.ตรวจจับปรับรถเสียงดัง โดยเกณฑ์มาตรฐาน คือ ระดับ 70 เดซิเบลเอ จะเน้นรถจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง ที่เสียงดังเกิน 95 เดซิเบลเอ ถูกปรับ 200 บาท หากพบว่าเจตนาปรับแต่งท่อไอเสียให้เกิดเสียงดังจะถูกปรับ 1,000 บาท รถโดยสารประจำทาง ขสมก.เสียงดังเกิน 100 เดซิเบลเอ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท รถที่เสียงดังเกินจะถูกติดสติกเกอร์ห้ามใช้ชั่วคราว ต้องปรับแก้ไขภายใน 30 วัน หากฝ่าฝืนนำมาใช้บนท้องถนนจะถูกสั่งห้ามเด็ดขาด
นายอดิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า กรมควบคุมมลพิษยังมีโครงการอบรมเจ้าหน้าที่และช่างเทคนิคในการตรวจวัดเสียงดัง ตรวจสอบตรวจจับและยกเลิกคำสั่งห้ามใช้รถเสียงดัง อบรมคนขับขี่รถจักรยานยนต์ทั่วไปและรับจ้าง พร้อมทั้งเปิดศูนย์ข้อมูลโทร.1650 ให้ข้อมูลรวมทั้งการร้องเรียนรถเสียงดัง ซึ่งจะเชื่อมข้อมูลไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สายด่วน กทม. สายด่วนของกรมการขนส่งทางบก ตำรวจจราจร ทั้งนี้ มีศูนย์ซ่อมและร้านจำหน่ายอะไหล่รถยนต์จำนวน 90 แห่ง บริการปรับจูนท่อไอเสียและอะไหล่ลดราคาร้อยละ 20 ดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ www.pcd.go.th
ผลการตรวจการได้ยินของประชาชนที่อาศัยริมถนนแถวเยาวราช สะพานควาย ซึ่งมีระดับเสียงสูงกว่ามาตรฐาน 70 เดซิเบลเอ พบว่า มีอาการหูเสื่อมจากการรับฟังเสียงดังเกินไป ประมาณร้อยละ 20 นายอดิศักดิ์ กล่าวและย้ำว่า วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ รถเสียงดังเกินมาตรฐานเราจับปรับแน่ ระดับเสียงริมถนนใน กทม.มีแนวโน้มลดลงตลอด แต่ยังเกินเกณฑ์มาตรฐานอยู่ มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาเชื่อว่าจะช่วยลดระดับเสียงดังลงได้ เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน ดีเดย์จับปรับรถเสียงดังครั้งนี้เป็นความร่วมมือของ กทม.กองบังคับการตำรวจจราจร สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สมาคมผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์ไทย ชมรมคลินิกไอเสียไทยและมูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทย
นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า ปี 2548 พบว่า บริเวณที่มีปัญหาเสียงดังมากระหว่าง 61-90 เดซิเบลเอ ค่าเฉลี่ย 71 เดซิเบลเอ 10 อันดับ โดยเสียงดังที่สุด คือ ถนนบำรุงเมือง ถนนสุขุมวิท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถนนตากสิน ถนนพระราม 4 ถนนพหลโยธิน ถนนสุขสวัสดิ์ ถนนเยาวราช ถนนอิสรภาพและถนนพระราม 9 ผลการตรวจวัดระดับเสียงจากยานพาหนะ พบว่า รถโดยสารประจำทาง ขสมก.มีค่าเกินมาตรฐานร้อยละ 28 รถโดยสารร่วมประจำทาง ขสมก.ร้อยละ 18 รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 13 และรถสามล้อเครื่อง ร้อยละ 8
ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 751 คน พบว่า ร้อยละ 76 ต้องการให้แก้ปัญหาเสียงดังรบกวนมากที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ รองลงมา คือ ร้อยละ 35.3 รถโดยสารประจำทางและร้อยละ 31.6 รถสามล้อเครื่อง นอกจากนี้ ส่วนใหญ่เห็นว่า ควรเข้มงวดกับการตรวจจับรถจักรยานยนต์ที่ดัดแปลงท่อไอเสีย จับร้านจำหน่ายท่อไอเสียผิดกฎหมาย เพิ่มด่านตรวจจับรถเสียงดังให้มากขึ้นและให้ความรู้กับประชาชน
นางมิ่งขวัญ กล่าวว่า ปัจจุบันสถิติรถใช้งานใน กทม.มี 5.2 ล้านคัน เป็นรถจักรยานยนต์และรถยนต์ใกล้เคียงกัน คือ อย่างละ 2.5 ล้านคัน รถโดยสาร 30,000 คัน รถสามล้อเครื่อง 8,000 คัน และรถประเภทอื่นๆ 20,000 คัน