คลัง แจง แจกเงิน เราชนะ-ม.33 รวดเร็ว ช่วยเหลือปชช.ถึง 41 ล้านคน
หลังมีเสียงวิจารณ์มาตรการเยียวยาสถานการณ์โควิดทั้ง 3 ระลอก ของรัฐบาลว่าแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และควรนำเงินมาเยียวยากลุ่มคนที่เดือดร้อนจริง ๆ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่ได้รับผล กระทบจากมาตรการของรัฐบาล
วันที่ 9 พ.ค.64 น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในระลอกเดือนเมษายน 2564 ที่ได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 และเตรียมความพร้อมของมาตรการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร ในระยะเร่งด่วนจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ดังกล่าว
รวมทั้งมาตรการสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปเมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลายจนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศได้
ภายใต้ข้อจำกัดจากสถานการณ์ตามที่กล่าวข้างต้น เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงพิจารณาใช้มาตรการเยียวยาที่ดำเนินการอยู่แล้วและยังไม่สิ้นสุดโครงการ ได้แก่ โครงการเราชนะ และโครงการ ม.33 เรารักกัน โดยเพิ่มวงเงินให้อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เพื่อช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพแก่ประชาชนโดยปัจจุบันทั้งสองโครงการมีผู้ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและได้รับสิทธิรวมกันประมาณ 41 ล้านคน ซึ่งสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ครอบคลุมประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศที่ได้รับความเดือดร้อนแล้ว
ทั้งนี้ การเพิ่มวงเงินให้แก่ผู้ได้รับสิทธิทั้งสองโครงการจะทำให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปด้วยความรวดเร็วกว่าการให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงพื้นที่ เนื่องจากสามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลของทั้งสองโครงการที่ภาครัฐมีอยู่ในปัจจุบันได้ทันที
ขณะที่การให้ความช่วยเหลือแบบเฉพาะเจาะจงจะต้องทำการสำรวจข้อมูลใหม่ รวมทั้งตรวจสอบและคัดกรองผู้ได้รับผลกระทบ จึงต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการนานกว่า และกระบวนการดังกล่าวอาจทำให้การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนี้ การเพิ่มวงเงินช่วยเหลือเพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ผู้ได้รับสิทธิดังกล่าวยังจะช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจฐานรากจากร้านค้าต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจรายย่อย รวมถึงผู้ประกอบการร้านอาหาร จึงเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบรายย่อยในท้องที่อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
สำหรับโครงการคนละครึ่งเฟส 3 เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไปเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง โดยในเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
ในส่วนของมาตรการด้านการเงิน คณะรัฐมนตรีในคราวการประชุม เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 ได้มีมติเห็นชอบ 2 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราวในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชนและบรรเทาความเดือดร้อนจากโควิด-19 ทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำ กลุ่มอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงเกษตรกรและผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย
โดย ธนาคารออมสิน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายละ 10,000 บาท ด้วยหลักเกณฑ์ที่ผ่อนปรนกว่าสินเชื่อปกติ ดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 ปี ปลอดชำระทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยใน 6 เดือนแรก
รวมทั้ง มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ โดยการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจของลูกหนี้ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออก พ.ร.ก.ให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 250,000 ล้านบาท และ 2.มาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ วงเงิน 100,000 ล้านบาท
ในส่วนของมาตรการด้านภาษี รัฐบาลได้ออกมาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและผู้ทำบัญชีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีความรุนแรงและครอบคลุมทั่วประเทศและสนับสนุนการทำธุรกรรมภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงช่วยลดความแออัดและความเสี่ยงจาก โควิด-19 อีกทั้งช่วยเพิ่มสภาพคล่องในมือผู้ประกอบการให้มีมากขึ้นและนานขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการต่าง ๆ ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด