ขับรถส่วนตัว มีคนอยู่ด้วย ต้องสวมแมสก์ ฝ่าฝืนมีความผิด
วันนี้ (26 เม.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ถือเป็นวันแรกที่ กทม.ประกาศให้ประชาชนในพื้นที่ กทม.ต้องสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก หากฝ่าฝืนมีโทษปรับตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท เนื่องจากสถานการณ์โรค COVID-19 มีจำนวนมากขึ้น ดังนี้
-ให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าอย่างถูกต้องหรือถูกวิธีทุกครั้งตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน หรือสถานที่พำนัก
-ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเป็นความผิดตามมาตรา 51 แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
ทั้งนี้เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชนหรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะจึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย.นี้ จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
ขณะที่บรรยากาศในกทม.แม้ปกติส่วนใหญ่จะพบว่ามีการจะสวมใส่หน้ากากอนามัยกันอยู่แล้ว โดยจากการสำรวจย่านถนนข้าวสาร ซึ่งแม้ว่าจะยังไม่เปิดการท่องเที่ยว และแต่บรรดาพ่อค้าแม่ค้า และคนที่เดินทางต่างพร้อมใจกันใส่หน้ากากอนามัย
ขณะที่พื้นที่ย่านเศรษฐกิจสำคัญ เช่น บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และย่านราชประสงค์ พบว่าวันนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เมื่อออกจากบ้าน มายังสถานที่สาธารณะ
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร บอกว่า วันแรกของมาตรการปรับผู้ที่ไม่สวมหน้ากากอนามัยในพื้นที่สาธารณะ และทุกครั้งที่ออกนอกเคหสถาน หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท โดยจะพิจารณาดุลยพินิจของเจ้าพนักงาน
"กทม.จำเป็นต้องเคร่งครัดมาตรการนี้ ไม่มีเจตนาปรับ แต่ต้องการให้ทุกคนมีจิตสำนึก หลังที่ผ่านมาพบมาตรการส่วนบุคคลย่อหย่อนจนนำมาสู่การระบาด"
ทั้งนี้เชื่อว่า แต่ละบ้านมีหน้ากากอนามัยอยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมากทม. ก็นำหน้ากากอนามัยไปแจก รวมทั้งนักการเมืองที่ลงไปเยี่ยมชุมชนก็นำหน้ากากอนามัยไปแจกเช่นกัน หากไม่อยากถูกปรับ ก็ต้องสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันตัวเองแล้ว ยังป้องกันการแพร่เชื้อบุคคลรอบข้าง
ไทยพีบีเอสออนไลน์สัมภาษณ์ น.ส.นิฐิญา พงษ์ราย พนักงานบริษัท ระบุว่าตั้งแต่สถานการณ์ COVID-19 ระบาดระลอกแรก ก็ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเวลาออกมาจับจ่ายซื้อข้าวของเครื่องใช้ ในชีวิตประจำวัน จึงอยากให้ทุกคนที่ออกมานอกบ้านร่วมใจกันใส่เพื่อลดความเสี่ยงต่อบุคคลอื่น
"แต่ก็ยังงงเรื่องเงื่อนไขการสวมใส่หน้ากากอนามัยว่าครอบคลุมในกรณีใดบ้าง เช่น ข้อสงสัยเรื่องการนั่งอยู่ในรถยนต์ส่วนตัวคนเดียว เข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้อยากให้มีความชัดเจนในประเด็นเหล่านี้ "
"คำสั่งบอกออกนอกเคหสถานถ้าไม่ใส่ปรับ 20,000 บาท ในรถยนต์คือนอกเคหสถานแล้วตามตัวประกาศที่ออกเลย"
ส่วนล่าสุดไลน์กลุ่มข่าวสารของ กทม.บอกนิติกรให้ข้อมูลว่าไม่ใส่หน้ากากอนามัยในรถที่ขับคนเดียวไม่ผิดกฎหมาย คือถ้ากองนิติกรกลัวทัวร์ลง เพราะเรื่องนี้เลยให้ความเห็นเอาใจนาย อย่ามาเป็นนิติกรเลย ถ้าไม่อยากให้ทัวร์ลงก็เขียนประกาศลงรายละเอียดให้มันชัดๆ ว่ากรณีไหนยกเว้น กรณีไหนดำเนินคดี เขียนมากว้างๆก็จับแบบกว้างๆ
อัยการเตือนแค่ใส่ใต้คาง-ไม่ปิดจมูกเข้าข่ายผิด
ขณะที่นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9 โพสต์เฟซบุ๊ก โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง ว่า ดึงหน้ากากไว้ใต้คาง ใส่หน้ากากปิดปากแต่ไม่ปิดจมูก ผิดกฎหมาย ปิดมิดชิดปากและจมูก ให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร เซ็นประกาศแล้วคนกทม.คนสงขลา และทุกจังหวัดที่ประกาศแล้ว ต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่ออกจากบ้าน อย่างถูกต้องหรือถูกวิธี ฝ่าฝืนปรับสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท มีผลตั้งแต่วันนี้เหมือนคำสั่งจังหวัดที่ให้สวมหน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง เจตนารมณ์ ของกฎหมายที่รองรับคำสั่ง คือป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ การสวมหน้ากากจึงต้องสวมให้ถูกต้องเพื่อป้องกันโรคระบาด ไม่ใช่เพื่อป้องกันถูกจับปรับไม่เกิน 20,000 บาทเท่านั้น หน้ากากจึงมีไว้เพื่อป้องกันตัวท่านเองไม่ให้ติดเชื้อโควิด ไม่ใช่มีไว้เพื่อป้องกันตำรวจจับ ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามถือว่ามีความผิดตามมาตรา 51 แห่งพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2554 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
นอกจากนี้นายโกศลวัฒน์ ระบุว่า คนที่ไม่อยากใส่ คนที่รู้สึกต่อต้าน ขอให้ไปอ่านข่าวกันบ้างว่าผู้ติดเชื้อ COVID-19 นำเชื้อกลับเข้าไปติดคนที่บ้าน โดยเฉพาะวัยรุ่นที่นำเชื้อไปติดพ่อคุณแม่ที่สูงอายุ ท่านระมัดระวังไม่ออกนอกบ้าน มีวินัยป้องกันตนเองอย่างสูง แต่ลูกหลานเข้ามาหา นำเชื้อมาติดคนสูงอายุในบ้านหลายรายแล้ว เหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นเมื่อไหร่ คงต้องมานั่งเสียใจแล้วคิดกันแบบเดิมๆว่าเรื่องแบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับเรา จึงไม่ควรประมาท ร่วมมือกันอย่างมีวินัยอย่างเคร่งครัด เราปลอดภัย ทุกคนที่ใกล้เราปลอดภัยด้วย จึงจะรอดไปด้วยกัน
"อัยการขอให้ปฎิบัติตามประกาศ ในทุกจังหวัดโดยเคร่งครัด ออกจากบ้านใส่หน้ากากทันทีนั่งรถโดยสารสาธารณะ รถเมล์ รถแท็กซี่ ก็ต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา จังหวัดไหนที่ยังไม่ประกาศ ก็ใส่ได้ถ้าอยากจะรอดไปด้วยกัน แม้กฎหมายนี้จะดูเป็นการบังคับให้เราใส่หน้ากาก แต่ใส่แล้วก็ดีกับเราปลอดภัยกับเรา เรียกได้ว่าดีมากกว่าเสีย แล้วทำไมจะไม่ใส่หน้ากากกัน"
ทั้งนี้นาย ประเสริฐ อธิบดีอัยการภาค 8 ได้ส่งบันทึกคำฟ้อง คำรับสารภาพ คำพิพากษาศาลแขวงสุราษฎร์ธานี ซึ่งศาลท่านได้ระบุกฏหมายครบถ้วนทุกฉบับทุกมาตรา ให้ดูเป็นตัวอย่างแม้ศาลใช้ดุลพินิจปรับ 4,000 บาทรับสารภาพลดครึ่งเหลือ 2,000 บาท
แต่ในจังหวัดอื่นๆ ศาลท่านก็ใช้ดุลพินิจลงโทษตามความเหมาะสมในพฤติการณ์แห่งคดี หากมีพฤติการณ์ไม่ยอมใส่หน้ากากแบบท้าทายกฎหมาย ศาลอาจใช้ดุลพินิจลงโทษหนักกว่านี้ได้ อัตราโทษปรับอย่างสูงไม่เกิน 20,000 บาท ขอบคุณท่านประเสริฐ ที่ช่วยให้ความรู้ประชาชน ประชาชนจะได้ร่วมมือกันปฏิบัติอย่างถูกต้องไม่ให้เกิดประเด็นความขัดแย้งทางสังคม ในการปฎิบัติตามกฏหมาย