ไทยคงแผนเดิม ใช้วัคซีน Sinovac สธ.ขอ ปชช. อย่าตระหนกผลวิจัยบราซิล
หน้าแรกTeeNee ที่นี่ข่าววันนี้, ข่าวหน้าหนึ่ง ข่าวอื่นๆ ไทยคงแผนเดิม ใช้วัคซีน Sinovac สธ.ขอ ปชช. อย่าตระหนกผลวิจัยบราซิล
เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดถึงกรณีมีการเผยแพร่ผลการทดลองวัคซีนโควิด-19 ของไซโนแวค ประเทศจีน ที่ศึกษาในมนุษย์ระยะ 3 ดำเนินการในบราซิลออกมา มีประสิทธิผลประมาณ 50.4% โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นตัวเดียวกับที่ประเทศไทยจะนำเข้ามา จำนวน 2 ล้านโดส ว่าขณะนี้ไทยขอข้อมูลโดยตรงไปยังบริษัทไซโนแวคแล้ว อยู่ระหว่างรอการตอบกลับอย่างเป็นทางการว่าข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นอย่างไร ส่วนขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไทย ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดที่จำเป็นให้ทราบอยู่แล้ว
"จากการติดตามการแถลงผลการศึกษา มีการใช้คำว่าประสิทธิภาพในภาพรวมอยู่ที่ 50.4% หมายความว่าระหว่างคนฉีดกับไม่ฉีดมีอัตราการติดเชื้อแตกต่างกัน โดยป้องกันไม่ให้ติดเชื้อเลยอยู่ที่ 50.4% ประเด็นคือการทดลองนี้ทำในพื้นที่ที่มีการระบาดสูง อาสาสมัครส่วนใหญ่คือบุคลากรทางการแพทย์ที่มีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว อาจส่งผลต่อภาพรวมของการติดเชื้อ
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงคำแถลงของบริษัทผู้ผลิตวัคซีนและสถาบันวิจัยให้ข้อมูลเท่านั้น เราต้องรอคำชี้แจงอย่างเป็นทางการ เฉพาะตอนนี้ข่าวที่ออกมาไม่มีผลกระทบต่อแผนการฉีดวัคซีนของไทย ทุกอย่างยังเป็นไปตามแผน แต่ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นข้างหน้าก็ว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง แต่ตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบ และผมคาดว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามแผน คือกุมภาพันธ์จะสตาร์ทได้" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าว
ข้อดีของวัคซีนจีนเมื่อเทียบกับอีก 2 บริษัทนั้น ของจีนเป็นวัคซีนเชื้อตายเป็นเทคโนโลยีดั้งเดิมที่คุ้นชิน และมีข้อมูลว่าประเทศจีนนำไปฉีดให้ทหารและบุคลากรการแพทย์หลายแสนคนยังไม่พบผลข้างเคียงอะไรที่น่ากังวล ในขณะที่เราพบว่าการพัฒนาวัคซีนของบางเจ้ามีผลข้างเคียงทำให้คนที่รับวัคซีนนั้นไม่สามารถไปปฏิบัติงานได้ หรือต้องได้รับการดูแลจากบุคลากรการแพทย์จำนวนเปอร์เซ็นต์ไม่น้อย
การพิจารณาวัคซีนที่จะเอาเข้ามานั้นต้องดูประสิทธิภาพ คุณภาพ และคุณสมบัติการบริหารจัดการในไทย เรื่องราคา และจำนวนที่จะมีให้ แต่ให้ความมั่นใจกับประชาชนว่า วัคซีนที่จะเอามาใช้ประสิทธิภาพต้องยอมรับได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่าหากเกิน 50% ขึ้นไป สามารถยอมรับให้นำมาใช้ได้ ผลข้างเคียงต้องไม่มาก
เดิมการยื่นขอขึ้นทะเบียนต้องส่งข้อมูลให้ครบถ้วน แต่สำหรับวัคซีนโควิด 19 ต้องดำเนินการให้เร็ว จึงให้ทยอยส่งข้อมูลได้ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ค่อยๆ ทยอยดูข้อมูล แต่การจะพิจารณาให้ขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ต้องรอให้ข้อมูลครบทั้งหมดก่อน เช่นเดียวกับผู้ที่ต้องการนำเข้าก็ต้องมาขออนุญาตจากอย. เช่นกัน โดยต้องมีเอกสารข้อมูลประสิทธิภาพ ประสิทธิผลและความปลอดภัยวัคซีนที่จะมีการนำเข้ามาถึงจะได้รับการอนุญาตนำเข้าได้
" ประกาศ "
ร่วมแสดงความคิดเห็น