คนอมก๋อย ยกข้อมูล โต้ ศรีสุวรรณ กรมอุทยานฯ ตรวจสอบเเล้ว
วันเดียวกัน นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว พบว่าไม่ได้อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่งหมู่บ้านแม่เกิบห่างจากเขตฯป่าอมก๋อยกว่าร้อยโล รวมทั้งอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติแม่เงา(เตรียมการ) ประมาณ 30-40 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าหมู่บ้านแม่เกิบจะอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอมก๋อย
ขณะที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์(สบอ.)ที่ 16 (เชียงใหม่) กรมอุทยานแห่งชาติฯ รายงานเพิ่มเติมว่า บ้านแม่เกิบ เป็นหย่อมบ้านของบ้านศาลาเท ม.15 ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าอมก๋อย มีราษฎรเป็นชาวไทยภูเขาเผ่ากระเหรี่ยง มีประชากร 177 คน 41 ครัวเรือน โดยหมู่บ้านตั้งอยู่บนภูเขาสูงชัน ทุรกันดาร มีระยะทาง 240 กม. จากเชียงใหม่โดยเส้นทางจากอมก๋อย เข้าพื้นที่ต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ราษฎรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ หลักคือ ทำนาข้าวไร่หมุนเวียน เพื่อบริโภค และรับจ้างทั่วไป
ในพื้นที่มี ศศช.บ้านแม่เกิบ (ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวง) สังกัด สนง.กศน.ชม. มีครู 2 คน และ นักเรียน 44 คน ตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งหน่วยจัดการต้นน้ำแม่จ๊าง ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นระยะทาง 38 กิโลเมตร โดยชุมชนมีการตั้งถิ่นฐานในบริเวณดังกล่าวมาก่อนมีการตั้งโครงการพัฒนาป่าไม้ที่สูงหน่วยที่ 3(แม่จ๊าง) หรือหน่วยจัดการต้นน้ำแม่จ๊างในปัจจุบัน ในปี พ.ศ.2522
ด้าน นายอดิศร นุชดำรงค์ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า หมู่บ้านแม่เกิบแยกออกมาจากหมู่บ้านเดิมที่อยู่บริเวณใกล้เคียง เนื่องจากเกิดไฟไหม้หมู่บ้านเก่า ซึ่งชุมชนเชื่อว่าหมู่บ้านที่ถูกไฟไหม้ไปแล้วไม่ควรอยู่ต่อ จึงอพยพมายังพื้นที่ปัจจุบันแต่ยังคงอยู่ในพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้านอยู่
ซึ่งหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำ ชั้น 1,2 จึงไม่สามารถเข้าโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) ได้ แต่อย่างไรก็ตามกรมป่าไม้ได้มีข้อตกลงร่วมกับชุมชนตามโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ตามแนวทางของมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 แล้วโดยสำรวจและกำหนดเป็นแปลงจะรับรอง จำนวน 72 แปลง ซึ่งจะเป็นการอยู่ร่วมกับป่าอย่างเกื้อกูล เช่น โครงการสร้างป่าสร้างรายได้ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เป็นต้น
ด้าน นายพิบูลย์ ธุวมณฑล ประธานเครือข่ายชาติพันธุ์ อ.อมก๋อย ให้สัมภาษณ์ IMN เครือข่ายสื่อชนเผาพื้นเมือง ระบุว่า หมู่บ้านแม่เกิบ เรียกชื่อตามลำห้วยที่ไหลผ่านทางด้านทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ชื่อว่าสูงห้วยแม่เกิบ เป็นหมู่บ้านของชนชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงโปว์
หมู่บ้านแม่เกิบตั้งรกรากในพื้นที่แห่งนี้มากว่า 100 ปีแล้ว ส่วนใหญ่จะนับถือผีประกอบอาชีพปลูกข้าวไร่หมุนเวียน และเลี้ยงสัตว์ เช่น วัว ควาย หมู และไก่เป็นต้น มีประปาภูเขามีน้ำใช้ตลอดทั้งปี