บรรเทาพิษโควิด...ไฟเขียวลดเงินสมทบประกันสังคม-อัดฉีดเพิ่มเงินสงเคราะห์บุตร
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน เนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่า
ด้วยโรคติดต่อ ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาที่มีการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 กระทรวงแรงงานได้ออกกฎกระทรวงมาแล้วครั้งหนึ่งที่เป็นการจ่ายเงินเยียวยาในกรณีที่นายจ้างได้หยุดการทำงานช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกันตนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 62 ของค่าจ้างรายวัน ที่เป็นการให้ตลอดระยะเวลาที่ไม่ได้ทำงาน แต่ไม่เกิน 90 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 63-31 ส.ค. 63
แต่เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้น ทางครม.จึงเห็นชอบร่างกฎกระทรวงอีกครั้งในลักษณะเดิม โดยมีสาระสำคัญกำหนดให้กฎกระทรวงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค. 63 พร้อมกับนิยามของคำว่าเหตุสุดวิสัยที่จะจ่ายเงินทดแทนได้ให้หมายถึงภัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่ออันมีผลกระทบต่อสาธารณชนและถึงขนาดที่ให้ผู้ประกันตนไม่สามารถทำงานได้ หรือนายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการได้ตามปกติ การกำหนดให้กรณีมีเหตุสุดวิสัยและหน่วยงานของรัฐสั่งปิดพื้นที่เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายอันส่งผลให้ลุกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างระหว่างนั้น ลูกจ้างดังกล่าวมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวันที่เป็นไปตามมติของคณะกรรมการประกันสังคมโดยให้ได้รับตลอดระยะเวลาที่สั่งปิดพื้นที่ รวมกันแล้วไม่เกิน 90 วัน
อย่างไรก็ตามร่างกฎกระทรวงนี้จะช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนในพื้นที่ที่เสี่ยงอาจจะมีการปิดกิจการ เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ กทม. นนทบุรี นครปฐม ราชบุรี และสมุทรสงคราม คาดว่าจะมีผู้ประกันตนได้รับค่าทดแทนจำนวน 5.7 ล้านคน คิดเป็นเงิน 5,225 ล้านบาท
ซึ่งเป็นการให้ความมั่นใจว่าหากมีการประกาศให้ปิดกิจการชั่วคราว ทางรัฐบาลก็พร้อมจ่ายเงินเยียวยาดูแล โดยเป็นเงินของกองทุนประกันสังคม
น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า พร้อมกันนี้ที่ประชุมครม.ยังได้เห็นชอบลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคม เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการและผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่โดยครม.อนุมัติร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ซึ่งเป็นการปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นเวลา 3 เดือน
1.ลดอัตราเงินสมทบฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 จากเดิมร้อยละ 5 ลดเหลือร้อยละ 3 สำหรับฝ่ายรัฐบาลส่งเงินสมทบอัตราเดิม คือร้อยละ 2.75 ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ให้ปรับลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม จากเดิมเดือนละ 432 บาท เหลือเดือนละ 278 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 64
2.ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 ถึงวันที่ 31 มี.ค. 64 ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตน ตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.05 การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 1.85 และรัฐบาลปรับเป็นร้อยละ 1.45 การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.1 และรัฐบาลปรับเป็นร้อยละ 0.25
3.ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 60 เป็นต้นไป ให้รัฐบาล นายจ้างและผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ออกเงินสมทบเข้ากองทุนเพื่อการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีคลอดบุตร ฝ่ายละร้อยละ 1.5 การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตนฝ่ายละร้อยละ 3 และรัฐบาล ร้อยละ 1 การจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน ในส่วนของนายจ้างและผู้ประกันตน ฝ่ายละร้อยละ 0.5 และรัฐบาลร้อยละ 0.25
การลดอัตราเงินสมทบจะส่งผลดีต่อผู้ประกันตนและนายจ้าง โดยช่วยให้ผู้ประกันตนสามารถนำเงินไปใช้จ่ายเสริมสภาพคล่องประมาณคนละ 460 - 900 บาท เป็นเวลา 3 เดือน คิดเป็นมูลค่ารวม 8,248 ล้านบาท สำหรับนายจ้างจะทำให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบลดลง รวม 7,412 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายและช่วยรักษาการจ้างงานต่อไปได้ ทั้งนี้อาจจะส่งผลกระทบต่อสถานะกองทุนประกันสังคม แต่ทางกองทุนฯและรัฐบาลจะวางแผนระยะยาวต่อไป
ที่ประชุมครม.ยังได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตร สืบเนื่องจากผลกระทบทางสภาวะเศรษฐกิจ รัฐบาลพบว่าครอบครัวที่มีเด็กเล็กประสบปัญหาค่าใช้จ่ายมากขึ้น ดังนั้นเพื่อบรรเทาภาระตามที่คณะกรรมการประกันสังคมได้เสนอกระทรวงแรงงานและครม.เห็นชอบหลักการเพิ่มประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรจึงได้เพิ่มอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรเหมาจ่ายจากเดิม 600 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน เป็น 800 บาทต่อเดือนต่อบุตร 1 คน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 เป็นต้นไป
เครดิตแหล่งข้อมูล : siamrath.co.th