เยอรมนี แถลงไม่พบหลักฐาน กษัตริย์ไทย ทรงงานละเมิดกฎหมาย
สื่อเยอรมนีแห่งนี้รายงานว่า เมื่อเดือนที่แล้ว ในการเดินขบวนไปสถานทูตเยอรมนีในกรุงเทพฯ ผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยได้เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีสอบสวนว่า พระมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระราชบัญชาใด ๆ จากเยอรมนีหรือไม่
กระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีได้ตอบคำถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคกรีนส์ เป็นลายลักษณ์อักษรว่า ทางกระทรวงคาดว่า พระมหากษัตริย์ของไทยไม่ได้ทรงตัดสินพระราชหฤทัยที่ "เป็นการแทรกแซงระบบกฎหมายของเยอรมนี กฎหมายระหว่างประเทศ หรือ หลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการรับรองระหว่างประเทศ" ขณะทรงประทับอยู่บนแผ่นดินเยอรมนี
ไมเคิล ฟิชเชอร์ ผู้สื่อข่าวของดีพีเอรายงานจากกรุงเบอร์ลินว่า ขณะนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงประทับอยู่ในประเทศไทย แต่พระองค์ทรงครอบครองวิลลาแถบเทือกเขาบาวาเรียนแอลป์ส (Bavarian Alps) ขณะที่ในช่วงก่อนหน้าของปีนี้ ระหว่างล็อกดาวน์ซึ่งสืบเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 พระองค์ทรงประทับอยู่ที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่งใน การ์มิช-พาร์เทินเคียร์เชิน (เมืองชนบททางใต้ของรัฐบาวาเรีย ติดกับพรมแดนประเทศออสเตรีย ถือเป็นแหล่งเล่นสกีที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง) แม้ว่าจะมีกฎห้ามพักค้างคืน
ดีพีเอระบุว่า ในจดหมายที่ยื่นต่อทางสถานทูตในกรุงเทพฯระหว่างการประท้วงเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้ประท้วงชาวไทยได้ร้องขอให้รัฐบาลเยอรมนี เปิดเผยประวัติการเสด็จพระราชดำเนินของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อตรวจสอบว่า พระองค์ทรงบริหารราชการแผ่นดิน เช่น การลงพระปรมาภิไธยรับรองงบประมาณประจำปีของรัฐบาลไทยจากเยอรมนีหรือไม่
ในการตอบเป็นลายลักษณ์อักษร นายมิเกล แบร์เกอร์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า "จากข้อมูลที่ได้มาจากรัฐบาลไทย การประทับของพระมหากษัตริย์ไทยในเยอรมนีเป็นเรื่องส่วนพระองค์"
แต่นางมาร์กาเรเทอ เบาเซอ ส.ส. จากพรรคกรีนส์ ซึ่งได้ยื่นกระทู้ถามต่อรัฐสภา กล่าวว่า ไม่น่าเป็นไปได้
ประมุขของรัฐ ซึ่งใช้เวลาประทับในเยอรมนีครั้งหนึ่งนานหลายเดือน "แน่นอนว่า ต้องมีการออกพระราชบัญชาที่ส่งผลประทบต่อสถานการณ์ในประเทศของพระองค์" ดีพีเอ อ้างคำพูดของนางเบาเซอทั้งในรายงานข่าวภาษาเยอรมันและอังกฤษ
ดีพีเอ ซึ่งเป็นสำนักข่าวนานาชาติของเยอรมนี และมีผู้สื่อข่าวประจำในเมืองสำคัญทั่วโลกรวมทั้งในกรุงเทพฯ รายงานคำพูดของเธอด้วยว่า "คำถามที่ว่า รัฐบาลเยอรมนีกำลังทำอะไรในการต่อต้านพฤติกรรมผิดกฎหมายเช่นนั้น ยังคงไม่ได้มีคำตอบ" เธอกล่าวต่อว่า "เมื่อพิจารณาจากการกระทำที่รุนแรงเพิ่มมากขึ้นต่อฝ่ายต่อต้านในประเทศไทย ดิฉันขอความชัดเจนว่า ทรงมีพระบัญชาใดไปถึงรัฐบาลจากแผ่นดินเยอรมนี"
"ผมคิดว่านี่เป็นตัวเลือกหนึ่งที่เราจะหารือกับสหภาพยุโรป แต่ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องคุยเรื่องนี้กับฝ่ายไทยอีกครั้ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ เพราะไทยมีผลประโยชน์จากข้อตกลงการค้าที่เหมาะสม และผมเชื่อว่าเราอาจใช้ข้อเรียกร้องของเราเป็นเครื่องต่อรองได้ แต่ผมไม่ตัด (ตัวเลือกการหารือกับอียู) หากรัฐบาลทหารยังคงพฤติกรรมแบบเดิม เราต้องรอดูเรื่องนี้ต่อไป และเราอาจต้องใช้มาตรการนั้น" นายมาส กล่าว