ผู้สื่อข่าวราย งานเมื่อวันที่ 28 ต.ค. ว่า ได้รับการเปิดเผยจากนายวีระ โรจน์พจนรัตน์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ว่า
ได้รับรายงานจากกรมศิลปากร ว่า มีการขุดพบท่อนซุงโบราณ ประมาณ 90 ต้น บริเวณที่ทำการก่อสร้างอาคารสำนักงานเขตคลองสานหลังใหม่ ติดกับป้อมป้องปัจจามิตร ซึ่งเป็นป้อมกำแพงเมืองโบราณที่ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถานไว้กับกรมศิลปากรตั้งแต่ปี 2528 จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ขนาดของท่อนซุงมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12-18 นิ้ว ยาว 4-5 เมตร มีลักษณะปลายแหลม บางท่อนเริ่มผุพังและเปื่อยยุ่ยแล้ว
จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ก่อสร้างที่พบเห็นท่อนซุงดังกล่าวพบว่าขณะที่มีการขุดดินเพื่อทำการก่อสร้างนั้น
ได้พบท่อนซุงจำนวนมากวางเรียงอย่างเป็นระเบียบลักษณะแนวยาวอยู่ ใต้ดิน เจ้าหน้าที่จึงใช้รถแบ็กโฮตักขึ้นมากองไว้ด้านบน และได้หยุดการก่อสร้างไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้สั่งการให้กรมศิลปากรเร่งตรวจสอบความสำคัญและอายุของท่อนซุงดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ ยังพบว่าในบริเวณดังกล่าวมีการขุดพบภาชนะดินเผา แผ่นอิฐโบราณ และกระดูกสัตว์หลายชิ้นด้วย ซึ่งอาจจะใช้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์สำคัญในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
ขุดเจอซุงเก่า เขตคลองสาน
นายเขมชาติ เทพไชย รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า
ขณะนี้กรมศิลปากรส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการเขตคลองสาน เพื่อขอให้ระงับการขุดไว้ชั่วคราวแล้ว เนื่องจากเกรงว่าอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อวัตถุ ที่พบได้ ขณะเดียวกัน ตนทราบว่า ท่อนซุงที่ขุดพบอยู่ นอกเขตการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน แต่อาจจะมีความเชื่อมโยงกับป้อมป้องปัจจามิตร เพราะลักษณะการวางผังของป้อมจะเป็นรูปดาวห้าแฉก จะทำให้มีฐานรากกระจายออกในวงกว้าง ดังนั้น จึงสั่งการให้นักโบราณคดีดำเนินการตรวจสอบแล้ว ในเบื้องต้นสันนิษฐานว่า ท่อนซุงอาจจะเป็นฐานรากของป้อมป้องปัจจามิตรที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 มีอายุกว่า 100 ปี และอาจจะต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะในการตรวจสอบเนื้อไม้อย่างละเอียดอีกครั้งว่าเป็นไม้อะไร และมีแผนผังการวางรูปแบบไหนด้วย เพราะที่ผ่านมากรมศิลปากรไม่ค่อยได้เจอเหตุการณ์ หรือศึกษาเรื่องของฐานรากมากนัก
“การที่ทางสำนักงานเขตคลองสานได้ขุดฐานรากของป้อมป้องปัจจามิตรขึ้น ถือว่าเป็นการพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ โดยทางกรมศิลปากรได้ทำการตรวจสอบแล้วว่า ไม้ซุงดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อตัวป้อม เพราะเป็นฐานที่อยู่บริเวณนอกตัวป้อม ซึ่งการขุดค้นพบฐานรากนั้นจะมีความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาวิธีการสร้างป้อม หรือสถานที่สำคัญในสมัยโบราณ ว่า คนโบราณมีวิธีการสร้างรากฐานอย่างไร เนื่องจากแต่ละยุคสมัย ทั้งสุโขทัย และอยุธยา ใช้วิธีการวางรากฐานที่ไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม การขุดค้นพบในครั้งนี้จะกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ โบราณสถานมากขึ้นอีกด้วย” รองอธิบดีกรมศิลปากรกล่าว
สำหรับประวัติของป้อมป้องปัจจามิตร สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
ควบคู่กับการขุดคลองผดุงกรุงเกษม เป็นป้อมสำคัญที่ใช้ ป้องกันข้าศึกตามริมแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับสถานที่ตั้งป้อมอยู่บนฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านตะวันตก ตรงข้ามกับป้อมปิดปัจนึกบริเวณปากคลองผดุงกรุงเกษม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ใช้ป้อมดังกล่าวเป็นสถานที่ตั้งเสาธงสัญญาณแจ้งข่าวเรือสินค้าเข้าออกพระนคร ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการย้ายเสาธงมาอยู่ใกล้ป้อม คือที่ตั้งใน ปัจจุบันบริเวณเขตคลองสาน เมื่อกรมเจ้าท่าเลิกใช้เสาธงสัญญาณนี้แล้ว ได้แจ้งความจำนงต่อกรมศิลปากรว่าจะรื้อออก แต่กรมศิลปากรเห็นว่าควรจะอนุรักษ์ไว้เป็นหลักสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อไป