ยังไม่เข็ด โอเน็ต ทปอ.แย้มไต๋ปี49 ใช้แอดมิชชั่นส์อีก

ยังไม่เข็ด "โอเน็ต" ทปอ.แย้มไต๋ปี49 ใช้แอดมิชชั่นส์อีก

ประธาน ทปอ.และอธิการบดี มศว เผยแนวโน้มที่ประชุม ทปอ.จะพิจารณาให้ตรึงใช้องค์ประกอบแอดมิชชั่นส์ของปีการศึกษา 2549 ต่อไปอีก 1 ปี หลังเกิดปัญหาการสอบโอเน็ตและเอเน็ต โดยยังไม่เพิ่มจีพีเอเป็นร้อยละ 30 ในปี 2550 แต่จะไม่มีการเว้นวรรคใช้แอดมิชชั่นส์แน่นอน เตรียมสรุปให้รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ เป็นผู้พิจารณาชี้ขาด

จากกรณีที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ประกาศผลทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ หรือโอเน็ต และแบบทดสอบทางการศึกษาขั้นสูงแห่งชาติ หรือเอเน็ต ซึ่งใช้ประกอบการสมัครรับคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือระบบแอดมิชชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2549 ผิดพลาด 2 ครั้ง และคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ประธานกรรมการ สทศ. ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ขณะที่นายประทีป จันทร์คง รักษาการผู้อำนวยการ สทศ. ประกาศจะไม่ขอเข้ารับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการ สทศ.ตัวจริง

ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และ สทศ.ต้อง ระดมผู้เชี่ยวชาญและคณาจารย์ร่วมกันตรวจข้อสอบโอเน็ตและเอเน็ตใหม่ทั้งหมด ทั้งข้อสอบปรนัยและอัตนัย และจะประกาศผลการสอบใหม่อีกครั้งในวันที่ 30 เมษายน โดยที่ สกอ.ได้ขยายปฏิทินรับสมัครในระบบแอดมิชชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2549 ทั้งระบบแอดมิชชั่นส์รับตรงและระบบแอดมิชชั่นส์กลาง ไปจนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม จากนั้นจะประกาศผลการรับสมัครแอดมิชชั่นส์รับตรงรอบแรก วันที่ 14 พฤษภาคม และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าศึกษา ในวันที่ 20 พฤษภาคม ส่วนระบบแอดมิชชั่นส์กลางจะประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิสอบสัมภาษณ์และตรวจร่างกาย ในวันที่ 24 พฤษภาคม และประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าศึกษา ในวันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2549

จากปัญหาดังกล่าวทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และนักเรียนที่ได้รับผลกระทบเรียกร้องให้ทบทวนองค์ประกอบการพิจารณาในระบบแอดมิชชั่นส์ในปี 2550 ใหม่ โดยจะมีการหารือในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในวันที่ 29 เมษายนนี้ ที่สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

ด้าน ศ.ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ ให้เป็นประธานตรวจดูระบบการสอบโอเน็ตและเอเน็ต กล่าวว่า จะเข้าไปตรวจสอบระบบในสัปดาห์นี้ว่ามีจุดบกพร่องอย่างไร แล้วเป็นระบบที่ใช้ได้หรือไม่ ถ้าเป็นระบบที่ใช้ไม่ได้ก็ให้เลิกใช้ไป หรือใช้ได้แล้วหาวิธีปรับแก้ไม่ให้ผิดอีก แล้วจะทำให้ผลสอบโอเน็ตและเอเน็ตใช้ได้สำหรับปีการศึกษา 2550 หรือไม่ โดยจะรายงานให้รักษาการ รมว.ศึกษาธิการทราบ และนำไปให้ ทปอ.ประกอบการตัดสินใจในการประชุมวันที่ 29 เมษายน

สำหรับการหารือ ทปอ.จะไม่หารือว่าเว้นวรรคหรือชะลอใช้ระบบแอดมิชชั่นส์ในปีต่อไปแน่นอน หรือจะให้กลับไปใช้เอนทรานซ์แบบเดิม เพราะขณะนี้เดินหน้ามาแล้ว และทีมงานที่ทำเอนทรานซ์กระจัดกระจาย การรวมตัวใหม่ทำได้ยาก จะไม่เป็นธรรมสำหรับนักเรียนที่เตรียมตัวสอบตามที่ประกาศไปแล้ว ถ้าหากจะพูดคุยกันจะเป็นลักษณะว่าระบบแอดมิชชั่นส์ที่ใช้นี้จะเอาคะแนนโอเน็ตและเอเน็ต หรือจะเอาคะแนนสอบกลางอย่างเดียว อย่างไหนจะเหมาะสมกว่า

นอกจากนี้ จะพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของคะแนนของชั้นเรียนว่าน่าเชื่อถือเพียงพอหรือไม่ ถ้าปีนี้เกิดความไม่เชื่อถือ การจะตรึงเพิ่มในองค์ประกอบของผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ (จีพีเอ) ไว้ที่เดิมก่อน คือร้อยละ 20 แต่การจะลดลงคงทำได้ไม่ง่าย หาก ทปอ.มีข้อสรุปแล้วก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรักษาการ รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งเป็นผู้ออกประกาศจะเห็นด้วยหรือไม่

ด้าน ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ในการประชุม ทปอ.คงจะมีการหารือกันถึงมติของ ทปอ.ที่ให้ใช้แอดมิชชั่นส์ไปแล้วว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะในองค์ประกอบที่จะใช้ระบบแอดมิชชั่นส์นั้นจะยืดหยุ่นอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่าผลจีพีเอที่จะใช้ต่อไปในปีการศึกษา 2550 เพิ่มเป็นร้อยละ 30 แต่เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น จะยังยึดตามมติเดิมต่อไป หรือจะใช้ระบบแอดมิชชั่นส์ในองค์ประกอบของปีการศึกษา 2549 ไปอีก 1 ปีก่อน คือ จีพีเอ ร้อยละ 20 และผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (จีพีเอเอ็กซ์) ร้อยละ 10 รวมเป็นร้อยละ 30 เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น แต่หากที่ประชุม ทปอ.เสียงส่วนใหญ่ยังจะเดินหน้ามติเดิมก็ยินดีสนับสนุน

ทั้งนี้ในปีการศึกษา 2549 แอดมิชชั่นส์ได้ให้ค่าน้ำหนักการพิจารณาผลการเรียนในชั้น ม.ปลาย ถึง 30% แบ่งเป็นองค์ประกอบผลการเรียนเฉลี่ยสะสมรวม 6 ภาคเรียนในชั้น ม.ปลาย หรือเทียบเท่า (จีพีเอเอ็กซ์) 10% และผลการเรียนเฉลี่ยรายกลุ่มสาระการเรียนรู้ชั้น ม.ปลาย (จีพีเอ) 20% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 40% ในปีการศึกษา 2550 (จีพีเอเอ็กซ์ 10% และจีพีเอ 30%) เมื่อถึงปีการศึกษา 2551 จะเพิ่มเป็น 50% (จีพีเอเอ็กซ์ 10% และจีพีเอ 40%) ในขณะที่ค่าน้ำหนักผลการสอบโอเน็ตและเอเน็ตจะลดลงเรื่อยๆ จากค่าน้ำหนักรวม 70% ในปีการศึกษา 2549 ลดลงมาเป็น 60% ในปีการศึกษา 2550 และเหลือ 50% ในปีการศึกษา 2551

อนึ่งที่ผ่านมา กลไกและกระบวนการรับสมัครและการสอบโอเน็ตและเอเน็ตที่ผ่านมามีปัญหามาก ไม่ว่าจะเป็นเสียงร้องเรียนในเรื่องการใช้ระบบสมัครสอบผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นปัญหากับนักเรียนชนบท การต้องเสียค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการสมัครสอบมากกว่าระบบเอนทรานซ์ ปัญหาการไม่ทราบรายละเอียดระเบียบการสอบ เพราะอยู่ห่างไกลอินเทอร์เน็ต การจัดห้องสอบให้นักเรียนไม่ตรงกับที่ สทศ.ประกาศในอินเทอร์เน็ต

รวมทั้งการเปลี่ยนให้ใช้ปากกาสีดำกากบาทคำตอบในข้อสอบโอเน็ตและเอเน็ต แทนที่จะให้ใช้ปากกาสีน้ำเงินหรือดินสอ ปัญหาเรื่องที่ สทศ.ใช้ข้อสอบเพียงชุดเดียว ไม่สลับชุดเหมือนเอนทรานซ์ ปัญหาอินเทอร์เน็ตล่มบ่อยจนดูประกาศผลสอบไม่ได้ นักเรียนไปนั่งสอบจริง แต่ สทศ.กลับระบุในใบแจ้งผลสอบว่าขาดสอบ ผลคะแนนสอบออกมาผิดพลาดเป็นศูนย์ สทศ.คำนวณคะแนนผลสอบผิด ฯลฯ

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์