ย้ายพนง.เก็บค่าทางด่วนกว่า 2 พันคนทำที่อื่น ใช้ระบบ free flow แทน
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นที่มีการทดลองเทคโนโลยีระบบ free flow ของกทพ.ไปบ้างแล้วพบว่าผลที่ออกมายังไม่ค่อยเป็นที่พอใจและยังไม่แม่นยำ จำเป็นต้องพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้น พร้อมพัฒนาระบบติดตามทวงหนี้ผู้ฝ่าฝืนลักลอบไม่จ่ายค่าผ่านทางไปด้วย เพราะถือเป็นความท้าทายต้องมีรูปแบบที่ถูกต้องและเหมาะสม
นายสุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า กทพ.จะลงทุนไม่อั้นในการพัฒนาระบบ free flow ทั้งการติดตั้งระบบตรวจจับทะเบียนรถ การติดตั้งระบบ RFID (Radio Frequency Identification )ในตัวรถยนต์ เพื่อติดตามและบ่งชี้ความเป็นตัวตนเฉพาะเจาะจงของรถแต่ละคันที่ส่งสัญญาด้วยคลื่นวิทยุ ทั้งนี้ ระบบ free flow ของกทพ.จะมีทางเลือกในการจ่ายค่าผ่านทางหลายรูปแบบ อาทิ ใช้ก่อนจ่ายที่หลังเช่นเดียวกันกับ ค่าน้ำ ค่าไฟ หรืออาจจะจ่ายทันทีต่อครั้งแบบ Pay Paid ก็ได้ และจะมีกำหนดระยะเวลาที่ต้องจ่ายหากไม่จ่ายกทพ.จะให้หน่วยงานติดตามทวงหนี้ส่งส่งบิลเรียกเก็บย้อนหลังไปที่บ้าน คาดว่าระบบ free flow ของกทพ.จะสมบูรณ์และนำมาใช้กับทุกด่านเก็บค่าผ่านทางได้ภายใน 2 ปีหลังจากนี้หรือช่วงปี 65 ส่วนพนักงานกทพ.ที่ประจำตู้เก็บค่าผ่านทางจะถูกฝึกอบรมให้ไปทำงานอื่นโดยไม่มีนโยบายเอาพนักงานออกอย่างแน่นอน ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานเก็บค่าผ่านทางประมาณกว่า 2 พันคน
นายสุรเชษฐ์ ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการทดลองระบบยกเลิกไม้กั้นตามด่านเก็บค่าผ่านทางบนทางด่วนบางแห่งนั้น ขณะนี้ได้ยกเลิกแล้ว เนื่องจากพบว่ามีผู้ใช้บริการฝ่าฝืนลักลอบไม่จ่ายค่าผ่านทางแต่ละวันประมาณ 2% หรือคิดเป็นรายได้ที่กทพ.ต้องสูญเสียวันละประมาณ 1.4 ล้านบาท จากรายได้การเก็บค่าผ่านทางเฉลี่ยวันละประมาณ 70 ล้านบาท
ขณะเดียวกันก็จะยกเลิกระบบบัตร EMV (Euro/ MasterCard และ Visa) ที่จะมาใช้ชำระค่าผ่านทางด่วนของกทพ. แทนเงินสดที่ช่องเก็บเงินค่าผ่านทางในรูปแบบ Touch & Go ซึ่งชำระได้ทั้งบัตรที่เป็นเครดิตและเครดิตด้วย เพราะหากระบบ free flow สมบูรณ์ก็จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ส่วนบัตรอีซี่พาส (Easy Pass) ที่มีอยู่นั้นก็อาจจะให้ใช้จนหมดแล้วยกเลิกเปลี่ยนเป็นระบบ free flow ทั้งหมดในอนาคต