"วรากรณ์" สั่งสถานศึกษาทุกแห่งห้ามครูนำเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มาชกมวย
โดยเฉพาะนักเรียนหญิง ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพราะเด็กไม่ล้มมวย รวมทั้งห้ามใช้โรงเรียนเป็นสถานที่ชกมวยด้วย ระบุวิจัยพบเด็กได้รับผลกระทบทางร่างกายเพียบทั้งกะโหลก สมอง ความจำ สายตา มีโอกาสป่วยเป็นโรคประสาทสูง ฯลฯ เผยเหตุพ่อแม่ชื่นชอบเพราะเห็นว่าได้เงิน 50-600 บาท แถมยังมีโอกาสเป็นนักมวยอาชีพ
เมื่อวันที่ 24 ต.ค. นายวรากรณ์ สามโกเศศ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า
จากข้อมูลงานวิจัยศึกษาเชิงสำรวจของคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ในโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กรายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยของสถาบันรามจิตติ ชื่อว่า Child Watch Project พบว่า มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ชกมวยไทยบนเวทีมวยมืออาชีพตามสถานที่ต่างๆ อาทิ สถานศึกษา สถานที่ราชการ วัด ซึ่งมีเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบ 1,000 คน โดยเฉพาะ จ.กาฬสินธุ์ มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ชกมวยกว่า 50 คน และยังพบว่ามีเด็กอายุ 7 ขวบ ที่มีน้ำหนัก 24 กิโลกรัม ซึ่งไม่ถึง 50 ปอนด์ ชกมวยด้วย ยิ่งกว่านั้นพบว่าแนวโน้มเด็กผู้หญิงชกมวยเพิ่มขึ้น โดยที่ผู้ปกครองเป็นผู้สนับสนุน เด็กจึงไม่มีสิทธิเลือก และมีครูในสถานศึกษาเป็นผู้ฝึกสอน
นายวรากรณ์กล่าวว่า
การที่เด็กขึ้นชกมวยดังกล่าวส่วนใหญ่มาจากครอบครัวยากจน พ่อแม่ชื่นชอบกีฬามวย เพราะเห็นว่าการชกมวยแต่ละครั้งจะได้รับค่าตอบแทนประมาณ 50-600 บาท อีกทั้งจะนำไปสู่การเป็นนักมวยอาชีพในอนาคต โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาวที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นสมอง ความจำ สายตา ที่ผ่านมาพบว่าเด็กหลายรายได้รับผลกระทบจากการชกมวย เพราะกะโหลกเด็กที่เจริญเติบโตไม่เต็มที่ถูกกระแทก ในระยะยาวจึงมีโอกาสป่วยระบบประสาทสูงมาก
"ศธ.กังวลว่า ผู้ที่เป็นครูไปเป็นโปรโมเตอร์มวยจำนวนมาก และนิยมนำเด็กระดับป.1-ป.6 ที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 100 ปอนด์ มาชกมวย
โดยไม่จำกัดอายุ และยังไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อย่างเฮดการ์ด มีเพียงกระจับกับฟันยางเท่านั้น ที่สำคัญคนดูชอบใจมวยเด็ก เพราะเด็กล้มมวยไม่เป็น ประกอบกับพ.ร.บ.กีฬามวย ปี 2542 ไม่ได้กำหนดอายุผู้ขึ้นชกมวย เพราะถือว่ามวยไทยเป็นศิลปะประจำชาติ จึงไม่มีกฎหมายคุ้ม ครองเด็ก" รมช.ศึกษาธิการกล่าว
รมช.ศึกษาธิการกล่าวต่อว่า
ศธ.จะส่งหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) ทั่วประเทศ เพื่อกำชับไม่ให้ครูนำนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี มาชกมวย และขอความร่วมมือไม่ให้ใช้สถานศึกษาเป็นสถานที่จัดการแข่งขันมวย นอกจากนี้จะหารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา เพื่อออกกฎกระทรวง พร้อมทั้งแก้ไขพ.ร.บ.กีฬามวย เพื่อคุ้มครองเด็ก เพราะหากไม่ได้กำหนดจะมีมวยเด็กเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ซึ่งกำลังได้รับความนิยม
ด้านคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า
สพฐ.ไม่ได้สนับสนุนให้เด็กชกมวยเพื่อหารายได้ แต่ถ้าชกมวยเพื่อออกกำลังกายไม่ได้ว่า อย่างไรก็ตามจะให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกครั้ง เพื่อหาแนวทางแก้ไขต่อไป
น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป รมช.การพัฒนาสังคมฯ กล่าวถึงกรณีด.ช.อายุ 14 ปี นักมวยเด็กชื่อดังในภาคใต้ ถูกเทรนเนอร์ใช้สายมงคลฟาดศีรษะอย่างรุนแรงจนตาแตก เพราะโกรธที่ชกแพ้ว่า
เรื่องนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก ซึ่ง กระทรวงมีอำนาจในการดูแล กรณีถือว่ามีความผิดที่นำเด็กมาใช้ประโยชน์ใช้แรงงาน ส่วนกฎหมายอีกฉบับคือ พ.ร.บ.มวยอาชีพ ซึ่งออกเมื่อปี 2542 กระทรวงมหาดไทยดูแล ปล่อยให้เด็กอายุ 15 ปี ขึ้นไปชกมวยได้ และมีข้อยกเว้นหากพ่อแม่ยินยอมให้เด็กชกมวย ก็ให้เด็กไปชกมวยได้ โดยการผลักดันของพวกมาเฟียมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ถึงวันนี้สังคมต้องพยายามสื่อสาร ว่าผลกระทบเกิดกับเด็ก โดยคณะทำงานของกระทรวง ซึ่งมีนางสายสุรี จุติกุล นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้วางแผนกันว่าจะจัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขพ.ร.บ.มวยอาชีพ เพื่อไม่ให้เด็กถูกละเมิดอีก
"เด็กอายุ 14 ปีรายนี้ เบื้องต้นแพทย์ตรวจว่าเลนส์แก้วตาแตก หากตาบอด กระทรวงต้องเข้าไปดูแลเต็มที่
โดยให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) ไปรับขึ้นทะเบียนเป็นคนพิการ และได้รับการดูแลสวัสดิการ ส่วนการเอาผิดกับเทรนเนอร์ที่ทำร้ายเด็กจนตาบอดต้องได้รับโทษแน่นอน ที่ผ่านมาเครือข่ายคนทำงานด้านเด็กพยายามขัดขวางการนำเด็กมาชกมวย ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มาชกมวยแต่ก็สู้ไม่ไหว เพราะกลุ่มมาเฟีย การพนันมีผลประโยชน์ในเรื่องนี้จึงชนะ เมื่อเกิดปัญหาอย่างนี้ต้องไปแก้กฎหมายใหม่" น.พ.พลเดชกล่าว