นักวิชาการชี้ ประเทศไทยครองแชมป์อันดับ 2 มีนักเรียนประถมและมัธยมถูกเพื่อนนักเรียนรังแกถึงร้อยละ 40 รองจากญี่ปุ่นที่มีนักเรียนถูกรังแกสูงถึงร้อยละ 60
เผยเด็กที่ถูกรังแกจะเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า ขณะที่นักเรียนที่เป็นผู้รังแกจะเคยชินกับการละเมิดกฎ โตขึ้นจะเสี่ยงต่อการเป็นอันธพาลเอาความรุนแรงไปใช้ในครอบครัว กลายเป็นวัฏจักรทำให้ลูกเคยชินกับความรุนแรงด้วย ครูจำนวนมากที่ยังไม่เห็นว่าการรังแกกันเป็นปัญหาใหญ่
เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดประชุมปฏิบัติการพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาพฤติกรรมนักเรียน
โดยเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ อาทิ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เข้าร่วมประชุมพร้อมผู้บริหารของ สพฐ.และผู้อำนวยการสถานศึกษา โดยมีคุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เป็นประธาน
ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า
ถ้าดูจากข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรมรังแกกันใน โรงเรียนของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหานี้เช่นกัน พบว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับ 2 ที่มีสัดส่วนนักเรียนถูกรังแกถึงร้อยละ 40 รองจากประเทศญี่ปุ่น โดยประเทศญี่ปุ่นมีนักเรียนร้อยละ 60 ถูกรังแก ถัดมาเป็นประเทศอังกฤษและอเมริกา ประมาณร้อยละ 20-25 ซึ่งมีปัญหานักเรียนรังแกกันได้ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นตามมา เช่น ปัญหานักเรียนฆ่าตัวตายเพราะทนความกดดันที่ถูกรังแกไม่ไหว ในญี่ปุ่นมีนักเรียนฆ่าตัวตายจำนวนมาก เดือนที่แล้วมีประมาณ 4-5 ราย ขณะที่ประเทศอังกฤษมีนักเรียนฆ่าตัวตาย เพราะถูกรังแกทุกปี
สำหรับผลสำรวจปัญหานักเรียนรังแกกันของประเทศไทยนั้น เก็บข้อมูลระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2549
โดยใช้แบบสอบถามถามความเห็นครู 1,300 คน และนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 3,047 คน โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร นนทบุรี ลพบุรี ชลบุรี จันทบุรี ขอนแก่น สงขลา และเชียงใหม่ พบว่าปัญหาการรังแกกันของนักเรียนในโรงเรียนระดับประถมปลาย และ ม.ต้น อยู่ในอันดับสูงทั่วประเทศ โดยนักเรียนร้อยละ 40 เคยถูกรังแก เดือนละ 2-3 ครั้ง หรือบ่อยกว่านั้น ซึ่งจะเกิดมากที่สุดในเด็กชั้น ป.4 และลดตามระดับชั้นที่สูงขึ้น และเกิดขึ้นกับทั้งเด็กชายและหญิงในอัตราที่ใกล้เคียงกัน เว้นในชั้น ป.5 และ ม.1 ที่เด็กชายจะถูกรังแกมากกว่า
พฤติกรรมการรังแกกันของทุกภูมิภาค จะอยู่ในรูปของการทำร้ายด้วยวาจามากที่สุด
เช่น ล้อเลียนให้อับอาย การแสดงความเหยียดหยามดูถูกเชื้อชาติหรือผิวพรรณ ยกเว้นในภาคตะวันออก ส่วนรองลงมา คือ การรังแกด้วยการแย่งเงินและของใช้ และการข่มขู่บังคับ ซึ่งนักเรียนชายจะมีพฤติกรรมการรังแกใน 2 เรื่องนี้มากกว่านักเรียนหญิง ทั้งนี้ได้จัดอันดับสถานที่และเวลาที่มักเกิดการรังแก 5 อันดับ คือ 1.ในห้องเรียนเวลาที่ครูไม่อยู่ 2.เวลานักเรียนอยู่ตามทางเดินหน้าห้องเรียนหรืออยู่บนบันได 3.บริเวณสนามโรงเรียน 4.โรงอาหาร และ 5.ในห้องเรียนต่อหน้าครู