หนุ่มไทยในมาเลย์ กลั้นน้ำตาไม่อยู่เมื่อก้าวเข้าประเทศไทย
ในช่วง 1 เดือน ที่ทางการมาเลเซีย ประกาศปิดประเทศ เพราะการระบาดอย่างหนักของไวรัส COVID-19
ทำให้ร้านอาหารที่เขาเป็นลูกจ้างต้องปิดตัวลง รายได้ที่เคยใช้เลี้ยงชีพ หรือส่งให้คนในครอบครัวที่เมืองไทย หมดลงทันที ซ้ำร้ายเงินเก็บที่ได้จากการทำงาน ก็ต้องนำมาใช้เพื่อซื้ออาหารประทังชีวิต
กระทั่งเมื่อทราบข่าวว่า ทางการไทยเปิดให้ลงทะเบียน เพื่อเดินทางกลับประเทศอีกครั้ง เขาก็รีบดำเนินการทันที
นายมูฮัมหมัดฮัมรัน สะท้อนความรู้สึก เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดรับตัวเขาและเพื่อน เป็นกลุ่มแรกเข้าประเทศ ก่อนเวลาเปิดด่านพรมแดน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ที่กำหนดไว้ในเวลา 08.00น.
แต่นายมูฮัมหมัดฮัมรัน และเพื่อนที่มารอหน้าด่านตั้งแต่ก่อนถึงเวลาทำการ ทำให้เจ้าหน้าที่ด่านพรมแดนทั้งสองประเทศ ยอมเปิดประตูด่านก่อนเวลาที่กำหนด
หลังเดินทางพร้อมเพื่อนอีกเกือบ 10 คน กลับจากมาเลเซีย มาถึงด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก นายมะนาแซ บอกว่า แม้ตลอดการเดินทางมายังด่านพรม จะต้องผ่านกระบวนการคัดกรองโรค ตรวจสอบประวัติ และตรวจสอบเอกสารหลายครั้ง จนอาจทำให้ต้องเสียเวลานาน แต่ก็เข้าใจดีถึงขั้นตอนการปฎิบัติ เพื่อป้องกันไวรัสระบาด และป้องกันความวุ่นวาย เนื่องจากคนไทยอีกจำนวนมากที่ต้องการเดินทางกลับไทย
"ผมไม่รู้จะบอกความดีใจยังไงดี ครั้งนี้มันดีใจกว่าครั้งไหนๆ ที่กลับไทย พอรู้ว่าได้กลับแน่แล้ว ผมดีใจ พ่อแม่ก็ดีใจมาก และพร้อมจะเข้าสู่การกักตัว 14 วัน" นายมะโยฮัน เจ๊ะโอ๊ะ แรงงานไทยในร้านอาหารต้มยำกุ้ง กล่าว
แรงงานไทยในที่เดินทางกลับเข้าประเทศ ซึ่งได้ลงทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ผ่านสถานกงสุล และสถานทูตไทยในประเทศมาเลเซีย ครั้งนี้ มีประมาณ 3,800-4,000 คน
"บ้านเรามีความสุขที่สุดแล้ว หนูเป็นคนอุดรธานี ไปทำงานที่มาเลเซียกับแม่และญาติ แต่วันนี้หนูได้กลับมาก่อนแค่คนเดียว ตอนแรกก็ขอเจ้าหน้าที่ให้กลับพร้อมกัน แต่อาจเพราะขั้นตอนการลงทะเบียนที่ไม่ได้ยื่นพร้อมกัน ทำให้แม่และคนอื่นๆ ยังไม่ได้กลับ หนูอยากกลับบ้านมากพี่ แต่แม้จะกักตัวครบ 14 วัน หนูก็ไม่รู้ว่าจะกลับบ้านที่ จ.อุดรธานี ได้ไหม เพราะรถทัวร์ระหว่างจังหวัดหยุดกันหมด"
โดยเจ้าหน้าที่จำกัดให้เดินทางเข้าประเทศ ไม่เกินวันละ 350 คน เพื่อให้สามารถคัดกรองการติดเชื้อ และเข้าสู่กระบวนการกักตัวที่มีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ยังมีคนไทยนอกระบบอีกกว่า 5,000 คนที่ต้องการ "กลับบ้าน" เช่นกัน