‘วิษณุ’ ย้ำ! ไม่มีมาตรการปิดเมือง ปิดประเทศ
วันนี้ (16 มี.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 15.45 น.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงถึงผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเตรียมรองรับการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า จากการประชุมคณะทำงานนานกว่า 5 ชั่วโมง ที่มีตัวแทนจากระดับรัฐมนตรี นักวิชาการ และทีมแพทย์ ซึ่งได้ฟังเหตุผลในแต่ละประเด็น เพราะบางเรื่องใหญ่ในระดับชาติที่ทุกคนต้องเตรียมตัว รวมทั้งประเด็นอยู่ในอำนาจของ รมว.สธ. และบางเรื่องต้องศึกษาก่อนแต่บางเรื่องจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ (17 มี.ค.) โดยย้ำว่าที่ประชุมสรุปตรงกันว่าแม้จะมีการเตือนมาเป็นระยะเรื่องการแพร่ระบาด COVID-19 แต่ตอนนี้ยังอยู่การระบาดขั้นที่ 2 ยังไม่เข้าสู่ระยะที่ 3 โดยมีเหตุผลตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์และนิยามของไทยเพื่อให้บริหารจัดการง่าย
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า มาตรการป้องกันรับมือคนที่ไม่เจ็บป่วย และย้ำว่าเรายังไม่ประกาศไทยเข้าสู่โควิด-19 ระยะ 3 แต่อยู่ระยะเตรียมการ ที่จะมีมาตรการเข้มงวดกับการเดินทางเข้าไทย ซึ่งเริ่มจากการยกเลิกฟรีวีซาในประเทศเสี่ยง และยังไม่ประกาศเพิ่มในประกาศอื่นๆ แต่ยกระดับมาตรการในประเทศ อื่นๆด้วย เช่น ต้องมีใบรับรองแพทย์ที่มีอายุไม่เกิน 3 วัน และมีใบประกันสุขภาพโควิด-19 และต้องอนุญาตให้ติดตั้งแอปพลิชันทุกคนที่เดินทางเข้ามา โดยจะประกาศระเบียบคำสั่งนี้
ส่วนข้อเสนอเรื่องวันหยุดเทศกาลวันสงกรานต์ ซึ่งเดิมมีวันหยุดยาว 5 วันตั้งแต่วันที่ 11-15 เม.ย.นี้ แต่จากความเห็นของคณะแพทย์ ห่วงว่าคน กทม.ที่อาจจะติดโรคไปไม่รู้ตัวอาจจะนำไปแพร่ในท้องถิ่นที่ตัวเองกลับไปได้ ทั้งความเสี่ยงในพื้นที่แออัด เช่น รถสาธารณะ สถานที่พบปะคน ถ้าไปแพร่ระบาดในจะควบคุมยาก ดังนั้น และงดวันหยุดราชการช่วงสงกรานต์ 13-15 เม.ย.นี้ ไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ
ข้อเสนอให้ปิด-หรือหยุดบางสถานที่ในที่ชุมนุมชน ที่มีคนเยอะที่ต้องส่งเสียงเชียร์ และมีสารคัดหลั่งจากเหงื่อ โดยกำหนด 2 เกณฑ์ที่ขอให้พิจารณาปิดชั่วคราวและมีทางเลี่ยง 1.มีผู้คนชุมนุมคราวละมากๆ และเป็นกิจวัตรประจำ ได้แก่ มหาวิทยาลัย โรงเรียน สถาบันกวดวิชา ถ้ารับเงินไปแล้วให้ผ่อนผันคืนหรือเลื่อนไปกวดวิชาในช่วงเวลาอื่น โดยเริ่มวันที่ 18 มี.ค.นี้
เกณฑ์ข้อที่ 2. สถานที่ชุมชนคราวละๆมาก แต่มีการทำเพื่อกู่ก้องร้องตะโกน สัมผัสและมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อทางมือ สารคัดหลั่ง เหงื่อ คือสนามมวย สนามฟุตบอล สนามบาสเกตบอล รวมทั้งโรงหนังที่กำลังจะพิจารณาเพิ่มเติม ส่วนร้านค้า ร้านอาหารที่ไม่เข้าเกณฑ์ก็ยังเปิดได้ตามปกติแต่ต้องมีการป้องกันให้กับลูกค้า
นอกจากนี้ ในส่วนกระทรวงต่างๆ จะให้จัดการเหลื่อมเวลาเข้างาน เพื่อลดการเดินทาง รวมทั้งการเหลื่อมพักกินข้าวกลางวัน ซึ่งจะลดความแออัดเพื่อจัดห้องอาหารให้ประมาณ 1 เมตร และจะเสนอใน ครม.กำชับให้ 20 กระทรวง 140 กรม และรัฐวิสาหกิจ เตรียมพิจารณาให้ทำงานที่บ้าน
รวมถึงมาตรการอื่นๆเช่น ให้ตลาดหลักทรัพย์ เลื่อนประชุมผู้ถือหุ้นจากเดือน เม.ย.นี้ออกไปก่อน เพราะมีคนจำนวนมาก โดยขอให้ยึดคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 2557 ให้มีการประชุมทางไกลได้
"การป้องกันและดูแลรักษา COVID-19 ลำดับ 1 ของประเทศ ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ การค้า ขาย ผลกระทบทางเศรษฐกิจ มาเป็นอันดับ 2 ต้องเอาชีวิตคนรอดก่อน เพราะไม่รู้ว่าศึกนี้จะยาวไกลแค่ไหน และจากนั้นจะกลับมาเยียวยาฟื้นฟูได้"
"ไม่มีมาตรการปิดเมืองปิดประเทศ แต่ใช้มาตรการเข้มงวดในการเข้าเมืองเข้าประเทศทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ ไม่มีความพลั้งเผลอในทุกด่าน "
ด้านนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องกักตุนอาหาร โดยขอให้ใช้ชีวิตตามปกติ และปฏิบัติตนตามที่กระทรวงสาธารณสุข และแพทย์แนะนำ หากจำเป็นต้องไปในพื้นที่ชุมชน และมีคนจำนวนมาก ให้หลีกเลี่ยงในการสัมผัส โดยให้พยายามใช้เจลล้างมือ หรือสบู่ล้างมือ เพื่อป้องกันเชื้อไวรัสได้ระดับหนึ่ง