ดีใจจัง! เงินบาทแข็งโป๊ก

สาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปในช่วงนี้ มาจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วขึ้น


นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.กำลังติดตามภาวะค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด เพราะไม่ต้องการเห็นค่าเงินบาทผันผวน หรือแข็งค่าเร็วเกินไป ส่วนการดูแลผลกระทบของผู้ประกอบการภาคส่งออกนั้น ธปท.จะดูแลให้ค่าเงินบาทปรับตัวตามทิศทางของค่าเงินในภูมิภาค เพื่อช่วยให้แข่งขันได้ไม่ ต่างกับเพื่อนบ้าน สาเหตุที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไปในช่วงนี้ มาจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วขึ้น รวมทั้งมีเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในภูมิภาคเราปริมาณมาก ไหลเข้ามาที่ไทยก็มากด้วย

อย่างไรก็ตาม นายบัณฑิตปฏิเสธที่จะตอบคำถามว่า ธปท.จะเข้าไปดูแลค่าเงินบาทด้วยการเข้าไปในตลาดหรือไม่

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ว่า ไม่น่าเป็นห่วง เพราะ ธปท.ดูแลอยู่แล้ว โดยจะดูแลในลักษณะอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญ เพื่อไม่ให้เสียเปรียบประเทศคู่แข่ง ส่วนราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นปัญหาที่กระทบทุกประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยจะเข้ามาดูแลปัญหาไม่ให้กระทบต่อต้นทุนของเอกชน หรือกระทบก็จะให้กระทบน้อยที่สุด โดยในวันที่ 21 เม.ย.นี้ รัฐบาลจะประชุมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกับผู้ประกอบการ ขณะที่การส่งออกทั้งปี ยังยืนยันตัวเลขตามเป้าหมายเดิมที่ 17.5% มูลค่า 130,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าสุดที่ 37.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ


มั่นใจว่าดุลการค้าทั้งปี ไทยจะขาดดุลต่ำกว่าที่เคยประมาณการ เพราะการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยพบได้จากตัวเลขไตรมาสแรกที่มีการขาดดุลลดลงอย่างมาก และเชื่อว่าตัวเลขเดิมที่เฉลี่ยว่าจะขาดดุลเดือนละ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จะต่ำกว่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท วานนี้ (20 เม.ย.) ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าสุดที่ 37.74 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าสุดที่ 37.80 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ และปิดตลาดแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยไปยืนปิดตลาดที่ 37.74-37.77 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จากวันก่อนที่ 37.76-37.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้าน นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในเดือน มี.ค. 49 ไทยมีมูลค่าการส่งออก 11,099.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 15.9% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน นับเป็นมูลค่าการส่งออกสูงสุดในรอบ 5 ปี ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 10,775 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 1.3% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 324.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นการเกินดุลการค้าครั้งแรกในรอบปี ขณะที่ในช่วง 3 เดือนแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปีนี้ มีมูลค่าการส่งออก 29,561 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 17.3% การนำเข้ามีมูลค่า 29,965 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ขาดดุลการค้า 404.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงถึง 86% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดดุลถึง 2,876 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

การกลับมาเกินดุลการค้าอีกครั้ง เป็นเพราะการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น และการนำเข้าชะลอตัวลง โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าน้ำมันดิบที่ชะลอตัวลงทั้งด้านปริมาณและมูลค่า สะท้อนให้เห็นว่าการนำเข้าช่วงปีที่ผ่านมาผิดปกติ แต่ปัจจุบันกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และหากยังเป็นเช่นนี้อยู่ดุลการค้าไทยก็ไม่น่าห่วง ทั้งปีตั้งเป้าหมายขาดดุลการค้าที่ 5,000-6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนถึงขณะนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง แม้มีแนวโน้มว่าอาจขาดดุลการค้าลดลงเหลือเพียง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ขณะที่ นายราเชนทร์ พจนสุนทร อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ที่การนำเข้าเดือน มี.ค.สูงทะลุ 10,000 ล้านดอลลาร์ สหรัฐฯ จาก 2 เดือนก่อนที่นำเข้าอยู่ประมาณ 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สาเหตุหลักยังคงเป็นมูลค่าการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น เพราะราคาน้ำมันสูงขึ้น โดยมีการนำเข้า 1,939 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 7.5%.

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์