เจ๋ง! นักวิจัยไทยใช้เปลือกกุ้งผลิตยาเม็ดแบบนาโนรักษาไข้สมองอักเสบ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 เมษายน 2549 18:21 น.
นักวิจัยคณะเภสัชฯ จุฬาฯ นำสารสกัดจากเปลือกกุ้ง มาเป็นส่วนหนึ่งของเม็ดยา ด้วยเทคโนโลยีระดับนาโนในการผลิตวัคซีนไข้สมองอักเสบแทนยาฉีดได้ อำนวยความสะดวกกับผู้ป่วยและโรงพยาบาล อีกทั้งยังใช้ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้เกิดประโยชน์นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
นายวิวัฒน์ พิชญากร นักศึกษาโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงผลงานวิจัยการพัฒนาระบบนำส่งวัคซีนไข้สมองอักเสบชนิดรับประทาน โดยไมโครนาโนเทคโนโลยี ซึ่งใช้สารไคโตแซน (Chitosan) และไขมันแข็ง (Solid lipid) มาทำหน้าที่ควบคุมการปลดปล่อยยา ซึ่งสารไคโตแซนเป็นโพลีเมอร์ที่สามารถสกัดได้จากเปลือกกุ้ง กระดองเต่า โดยขณะนี้ได้ทดลองในหนูแล้วไม่พบค่าความเป็นพิษต่อร่างกาย มีคุณสมบัติของการดูดซึมยาและกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายหนูได้สูงกว่าค่าภูมิคุ้มกันระดับต่ำที่สุดที่ต้องการ
นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่สามารถค้นพบว่าสารสกัดจากกุ้งในระดับนาโนสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบของเม็ดยาได้ โดยการวิจัยขั้นต่อไปก่อนจะนำไปใช้กับมนุษย์นั้นจะต้องเพิ่มความเข้มข้นของปริมาณยาในเม็ด และจะนำไปทดลองกับกระต่าย จากนั้นอาจจะเป็นลิง ก่อนที่จะนำมาใช้กับมนุษย์
สำหรับสาเหตุของการวิจัยเนื่องจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคไข้สมองอักเสบจะมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 30 และครึ่งหนึ่งของผู้รอดชีวิตจะมีโอกาสมีอาการผิดปกติทางสมองหรือพิการได้ ผู้ที่มีโอกาสเสี่ยงได้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี โดยโรคดังกล่าวติดจากยุงรำคาญซึ่งมีอยู่ทั่วไป และมีสัตว์ประเภทสุกร นก วัว กระบือ และสุนัข เป็นเป็นแหล่งเจริญเติบโตของเชื้อด้วย โดยปัจจุบันมีการฉีดวัคซีนเข้าใต้ผิวหนังเพื่อป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ แต่บางครั้งพบว่ามีอุปสรรคเรื่องของการเดินทางและบุคลากรที่ฉีดวัคซีนโดยเฉพาะในพื้นที่ที่เดินทางลำบาก โดยวัคซีนดังกล่าวจะต้องฉีดเป็นเวลา 3 เดือน
ดังนั้น หากสามารถพัฒนายาชนิดเม็ดมาแทนยาฉีดได้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ไทย โดยนายวิวัฒน์ ได้ศึกษาร่วมกับองค์การเภสัชกรรม และมี ศ.ดร.กาญจน์พิมล ฤทธิเดช จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษา โดยได้รับทุนการศึกษาจากโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ใช้เวลาศึกษานาน 3 ปี