อุดรฯ เร่งทำความสะอาดอุโมงค์ หลังแว้นลอบซิ่ง เบิร์นยาง ขีดเขียน วอนสร้างสรรค์!
หลังจากที่ได้เปิดให้ประชาชนจำนวนมาก เข้ามาถ่ายรูปความสวยงามในอุโมงค์ ที่มีผนังสองข้างเป็น ลายผ้าหมี่ขิด ของอีสาน หรือ ลายขันหมากเบ็ง ที่ซับเสียงได้ดี แต่ก็มีวัยรุ่นบางคนเอาสุราเข้ามาดื่ม เอารถจยย. ขึ้นไปบนแท่นแบริเออร์ และมีการขีดเขียน รวมไปถึง นำรถเข้ามาดริฟ บนพื้นถนนข้างใน และข้างแบริเออร์ ทำให้เกิดรอยยางของล้อรถ แล้วสกปรกเลอะเทอะ ทำให้ดูไม่สวยงาม ภายในอุโมงค์ จึงได้ทำการแก้ไข
นายสุเทพ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ภายในอุโมงค์ ยังเป็นพื้นที่ยังทำงานก่อสร้างอยู่ โดยได้นำแท่นบริเออร์ ปิดกั้นเอาไว้ ด้านนอก พร้อมกับขึ้นป้ายเขียนบอกว่า เขตก่อสร้าง อันตรายห้ามเข้า แต่ก็มีรถจยย.แอบซิกแซ็กเข้ามา แต่ทางเราไม่ได้ห้ามเขา เนื่องจากเข้ามาชื่นชม ความสวยงามข้างใน จึงมีประชาชนพากันเดินเข้ามาและถ่ายรูป แต่ให้ควรคำนึงถึงความปลอดภัยเอาไว้ด้วย เพราะยังไม่ได้เปิดใช้
จนกระทั่งดึก คนงานได้พากันกลับไปหมดแล้ว ก็ได้มีชุดเด็กแว้นเข้ามา ทำการดริฟ (ปั่นล้อให้ฟรี) อยู่ข้างในอุโมงค์ ทำให้เกิดผลกระทบขึ้นมา ด้วยแล้วมีการมาขีดเขียน แล้วขึ้นไป เหยียบ ตรงที่มีการทาสี ซึ่งสียังไม่แห้งทำให้เป็นรอย โดยในตอนนี้เราดำเนินการทำการแก้ไขไปแล้วบางจุด ซึ่งจะแล้วเสร็จแน่นอน ก่อนถึง วันที่จะทำการเปิดใช้ให้รถวิ่งเข้ามาวันที่ 24 พ.ย.นี้
นายสุเทพ กล่าวต่อไปว่า ในช่วงนี้หลังจากเวลา 20.00 น. จะทำการปิดทางเข้าทั้งสองด้าน ปิดไฟข้างในอุโมงค์ เพื่อไม่ให้ประชาชนลงมา พร้อมกับติดต่อไปยังเทศบาลนครอุดรธานี ให้ประสานเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ามาตรวจสอบคอยสอดส่อง ให้เข้มงวดมากกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่ได้ไปแจ้งความเอาเรื่องกับใคร เนื่องจากจะทำให้กระทบกับคนส่วนใหญ่ แต่มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สร้างปัญหา
นายปองพล ยุทธรัตน์ สถาปนิกเฮ็ดดีไซน์สตูดิโอ ตัวแทนศิลปินจิตอาสาออกแบบลายในอุโมงค์ กล่าวว่า ผนังทั้งสองข้างของอุโมงค์จุดหลักอันดับแรกที่ทำโดยคำนึงถึง คือการดูดซับเสียงของรถ จากนั้นเป็นการเติมเอกลักษณ์ของความเป็นอีสานเข้าไป เอาลายผ้าหมี่ขิด ของอุดรชื่อลายว่า "ขันหมากเบ็ง" หมายถึงสิ่งของอย่างหนึ่งในพิธีกรรมในภาคอีสาน ในการต้อนรับหรือการอวยพร ในประเพณีของอีสาน ซึ่งมีความหมายที่ดี จึงได้เอา "ลายขันหมากเบ็ง" นำมาเป็นลายอุโมงค์แห่งหนึ่งในการสื่อความหมายว่า ถ้าคนที่มาจากเส้นทางหนองคาย เข้ามาในตัวเมืองอุดร ฯ เป็นการต้อนรับเขา ส่วนคนที่ออกจากอุดรฯ ไปยัง จ.หนองคาย เหมือนว่า อวยพรให้เขาเดินทางปลอดภัย
ดังนั้นจึงได้นำ "ลายขันหมากเบ็ง" มาทำการดีไซน์ ให้มีความเรียบง่ายมากขึ้น โดยมีการพูดคุยกันกับทีมที่ออกแบบถึง การดูดซับเสียง ขนาดพื้นที่ของลาย ขนาดช่องเปิดและปิด ถึงจะได้มาตรฐาน ในการดูดซับเสียงของทางกรมทางหลวงที่กำหนดไว้ ซึ่งได้มีการปรับแบบอยู่ 2-3 ครั้ง ถึงจะได้ "ลายขันหมากเบ็ง" ออกมาเป็นแบบนี้ โดย "ลายขันหมากเบ็ง" จำนวน 1 ชิ้น หรือ 1 บล็อก จะมีขนาด 1 เมตรคูณ 2 เมตร โดยจะเป็นการนำมาเรียง แนวตั้ง 4 ชั้น และเรียงแนวนอน 3 ชั้น โดยจะทำแบบนี้ทุกช่องถือว่า "ลายขันหมากเบ็ง" ในผนังอุโมงค์ เป็นที่เดียวในประเทศไทย เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์ ประจำจังหวัดอุดรธานี
"ตามเจตนาของเราแล้ว ในการออกแบบนั้น เพื่อต้องการให้ดูดซับเสียงให้ดี แล้วถึงมาเป็นความสวยงามนั้นทำให้คนอุดร ตื่นเต้น เข้ามาถ่ายรูป เป็นจำนวนมาก เหมือนว่า เป็นของใหม่ โดยปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานั้น ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้เราประหลาดใจอย่างมาก หลังจากมีการเปิดใช้ไปแล้ว มีรถสัญจร คนก็คงไม่มาถ่ายรูปแล้ว" นายปองพล ยุทธรัตน์ สถาปนิกกล่าวในตอนท้าย