ขาสั้นแนะเว้นวรรคโอเน็ต เอเน็ต-แอดมิชชัน

ขาสั้นแนะเว้นวรรคโอเน็ต เอเน็ต-แอดมิชชัน

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 20 เมษายน 2549 17:16 น.

นักเรียนชี้แอดมิชชันยังไม่พร้อมที่จะนำมาใช้หากสถานศึกษายังมีมาตรฐานไม่เท่าเทียมกัน วอนผู้ใหญ่รับฟังความคิดเห็นและให้เด็กมีส่วนร่วมมากขึ้น เน้นให้มองปัญหาการศึกษาทั้งระบบ ไม่ใช่มองปัญหาเฉพาะรอยต่อระหว่าง ม.ปลายกับอุดมศึกษา แนะต้องเว้นวรรคโอเน็ต เอเน็ต และแอดมิชชันออกไปก่อน ด้าน หมอกมลพรรณ ร้องจาตุรนต์ให้ใช้เอนทรานซ์แบบเดิม แต่ข้อสอบต้องไม่ยากเกินหลักสูตร แนะมหาวิทยาลัยเปิดที่นั่งเพิ่มให้เด็กเข้าเรียน เป็นรอบเช้า-บ่าย โดยให้ผู้ปกครองยอมจ่ายบ้าง ดีกว่าหมดเงินไปกับกวดวิชา


วันนี้ (20 เม.ย.)ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ จัดเสวนา โอเน็ต-เอเน็ต : ปัญหา ทางออก และอนาคตการศึกษาของชาติ ผู้ร่วมเสาวนาประกอบด้วย พ.ญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานชมรมผู้ปกครองนักเรียนแห่งประเทศไทย ผศ.เอกรินทร์ ยลระบิล ผอ.สำนักทะเบียนและประมวลผล มธ. นายคมขำ ดีวงษา ร.ร. เตรียมอุดมศึกษา นายยศ ตันสกุล นายศิวาวุธ สิทิเวช เครือข่ายนักเรียนเพื่อประชาธิปไตย ดำเนินรายการโดย นายอัครพงษ์ ค่ำคูณ โครงการอุษาคเนย์

นายศิวาวุธ กล่าวว่า ต้องดูว่าปัญหาของการศึกษาชาติอยู่ตรงไหน ซึ่งผู้ใหญ่มักจะมองเฉพาะรอยต่อของการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายกับระดับอุดมศึกษามากเกินไป แต่ไม่มองทั้งระบบ และมองเพียงว่าจะทำอย่างไรให้การคัดเลือกนักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยมีความเป็นธรรมมากที่สุด หรือจะแก้ปัญหาเรื่องกวดวิชาอย่างไร ทั้งที่จุดที่ต้องมองมากที่สุดคือการสร้างค่านิยมใหม่ให้เยาวชน จากเดิมที่มุ่งเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยยอดนิยม แต่รัฐต้องสร้างมหาวิทยาลัยเฉพาะทางขึ้นมา อีกทั้งไม่เห็นด้วยกับการที่มหาวิทยาลัยจะเปิดหลากหลายสาขา แต่มหาวิทยาลัยที่มีจุดเด่นอยู่แล้ว ควรจะเปิดเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางของตนเองไปเลย

นายศิวาวุธ กล่าวอีกว่า ระบบการศึกษาต้องสร้างค่านิยมใหม่ๆ ให้เด็ก ให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ขณะเดียวกัน ครูผู้สอนที่มีปัญหาเรื่องการขาดแคลนครูในพื้นที่ชนบทห่างไกลอยู่นั้น ก็ต้องหาวิธีว่าจะทำอย่างไรให้มีครูในระบบการศึกษามากกว่านี้ และเข้าใจระบบการศึกษาโดยใช้เด็กเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง เพราะการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาไม่ได้เปลี่ยนตัวเนื้อหาของหลักสูตรอย่างแท้จริง เป็นเพียงการปรับเนื้อหาใหม่ ซึ่งหากจะมีการปฏิรูปการศึกษาอย่างแท้จริงต้องมองครอบคลุมทุกเรื่อง และให้ครู ผู้ปกครอง และนักเรียนมีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษาด้วย

การเปลี่ยนระบบเอนทรานซ์เป็นระบบแอดมิชชัน มีการแต่งตั้งคณะบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญเข้ามาดำเนินการ แต่ไม่ได้ให้นักเรียนหรือผู้ปกครองเข้าไปมีส่วนในการเสนอความเห็น และนักเรียนไม่เคยได้เสนอความเห็นต่อผู้ใหญ่เลย ซึ่งผู้ใหญ่ควรเปิดโอกาสในการรับฟังความเห็นจากนักเรียนให้มากขึ้น และอยากให้กระทรวงศึกษาธิการมองถึงปีต่อๆ ไปว่าจะใช้ระบบแอดมิชชันต่อไปหรือไม่ รวมถึงสิ่งใดที่ต้องแก้ไข ซึ่งหากจะใช้ระบบแอดมิชชันต่อไปก็ต้องแก้ไขเรื่องการถ่วงน้ำหนักค่าจีแพค และจีพีเอ และต้องปรับมาตรฐานของโรงเรียนให้เท่ากันก่อน จึงจะใช้ผลการเรียนในการรับนักศึกษาได้ ตลอดจนการบริหารจัดการระบบอื่นๆ ด้วย ผมเห็นท่าทีของ ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่เดินหนีนักเรียนแล้วไม่สบายใจ เพราะสิ่งที่ผู้บริหารทำอยู่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในชีวิตราชการ แต่สำหรับนักเรียนแล้วนี่คือประวัติศาสตร์ คือชีวิตของพวกเรา จึงอยากให้ฟังความเห็นของนักเรียนให้มากกว่านี้นายศิวาวุธกล่าว

ด้าน นายยศ กล่าวว่า ต้องการให้เว้นวรรคการใช้ระบบแอดมิชชันออกไปก่อน และคงต้องมาพิจารณาดูว่าความต้องการของนักเรียนกับความต้องการของมหาวิทยาลัยขณะนี้มีความต้องการตรงกันหรือไม่ ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น 1.นักเรียนยังไม่เข้าใจระบบ 2.ปัญหาความพร้อมของบุคลากร 3.ปัญหาความพร้อมและความความเท่าเทียมกันของการศึกษา ซึ่งควรมีการปรับให้เท่าเทียมกันก่อน ซึ่งทุกคนต้องช่วยกันเรียกร้องให้รัฐบาลใส่ใจและทำวิจัยในเรื่องนี้ก่อน

ขณะที่ พญ.กมลพรรณ กล่าวว่า การเปลี่ยนระบบจากเอนทรานซ์เป็นแอดมิชชันนั้น เด็กได้ประโยชน์อะไร ซึ่ง ศธ.อ้างว่าการใช้จีพีเอเพื่อให้เด็กสนใจการเรียนในห้องเรียน ซึ่งก็เห็นด้วย แต่ก็น่าห่วงว่าขณะนี้มีครูบางคนหันไปกวดวิชากลายเป็นการส่งเสริมให้เด็กเห็นว่าหากอยากได้คะแนนดีๆ ก็ต้องไปเรียนพิเศษ ทำให้น่าห่วงว่าการใช้จีพีเอจะเป็นตัวอย่างไม่ดีให้แก่เด็ก และหากจะใช้จีพีเอจริง คุณภาพมาตรฐานของสถานศึกษาก็ต้องเท่าเทียมกัน ซึ่ง ศธ.ต้องออกระเบียบป้องกันการนำจีพีเอไปหาผลประโยชน์จากนักเรียน ไม่เช่นนั้นก็จะยากที่จะสร้างเด็กหรือสังคมที่มีความโปร่งใสเพราะเขาได้สัมผัสกับมัน และห่วงเศรษฐกิจของครูทำให้ครูจำนวนหนึ่งต้องหันไปสอนกวดวิชา รัฐควรให้เงินเดือนครูมากขึ้น

ปัญหาหนึ่งคือ จำนวนที่นั่งในมหาวิทยาลัยที่เด็กต้องการเข้าเรียนยังมีอยู่น้อย มหาวิทยาลัยจึงควรขยายพื้นที่รับเด็กเข้าเรียนให้มากขึ้น โดยอาจเปิดเป็นรอบเช้าบ่าย และให้ผู้ปกครองต้องยอมจ่ายให้รัฐบ้าง ดีกว่าที่จะต้องไปเสียเงินกวดวิชาจำนวนมาก รวมถึงมีทุนให้เด็กยากจนได้เข้าศึกษาด้วย ซึ่งผู้ปกครองก็ต้องยอมจ่ายบ้าง

พญ.กมลพรรณ กล่าวอีกว่า ได้คัดค้านเรื่องโอเน็ต และเอเน็ตมาแต่แรก เพราะมีเนื้อหาเยอะ ทั้งที่เราบอกว่าต้องการให้เด็กคิดเป็น แต่ไม่มีเวลาให้เด็กคิดวิเคราะห์ ให้เด็กจำแต่เนื้อหามากมาย แต่ไม่มีเวลาไปค้นหาความรู้อื่นๆ หรือให้เด็กคิดเพิ่มเติม ตนเสนอให้รัฐบาลให้อาจารย์เก่งๆ มาร่วมกันทำหลักสูตรแห่งชาติ มากกว่าที่จะปล่อยให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นผู้ทำหลักสูตรตามลำพัง

หากคุณจาตุรนต์จะช่วยชาติอย่างจริงใจ และหวังดีกับชาติจริงๆ ก็ควรใช้ระบบเอนทรานซ์เก่า แต่การออกข้อสอบต้องไม่ยากเกินหลักสูตรที่เด็กเรียนจนเกินไป และการใช้ค่าจีพีเอควรใช้ในสัดส่วนร้อยละ 5 เท่านั้นเพราะมาตรฐานของสถานศึกษาต่างๆ ยังไม่เท่าเทียมกัน พญ.กมลพรรณ กล่าว

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์