กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ๋งสร้างชุดตรวจสอบสารพิษในเนื้อปลาปักเป้าสำเร็จ
สามารถรู้ผลภายใน 5 นาที เผยเตรียมจดลิขสิทธิ์ก่อนให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปใช้ต้นปีหน้า
แม้จะเป็นสิ่งต้องห้ามแต่ยังพบว่ามีผู้ลักลอบนำปลาปักเป้ามาจำหน่ายตามที่ต่างๆ ทำให้ผู้ที่รับประทานได้รับสารพิษ จนเป็นข่าวมาหลายครั้ง ในที่สุดก็มีข่าวดีว่า มีการคิดค้นเครื่องมือตรวจสอบสารพิษจากปลาปักเป้าสำเร็จแล้ว
นพ.วัลลภไทยเหนือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า
สารพิษเตโตรโดทอกซิน (tetrodotoxin) เป็นสารพิษที่พบในปลาปักเป้า โดยจะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท หลังรับประทานปลาปักเป้าประมาณ 20 นาที จะเกิดอาการคันและชารอบปาก ลิ้นแข็งพูดลำบาก กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง หายใจติดขัด หอบ หากเป็นมากและรักษาไม่ทันจะทำให้เสียชีวิตได้ภายใน 6 ชั่วโมง
โดยส่วนที่มีพิษสูงที่สุดของปลาปักเป้า คือ ตับ รังไข่ รองลงมา คือ หนังปลา และเนื้อปลา ตามลำดับ และเนื่องจากเป็นสารพิษที่ทนความร้อน การนำปลาปักเป้าไปปรุงสุกจะไม่สามารถทำลายสารพิษดังกล่าวได้ จึงต้องมีประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 264 พ.ศ.2545 ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายปลาปักเป้าทุกชนิดและอาหารที่มีเนื้อปลาปักเป้าเป็นส่วนผสม แต่ก็ยังพบว่ายังมีการลักลอบนำมาจำหน่ายกันอยู่
"ปัจจุบันยังพบผู้เสียชีวิตจากการบริโภคเนื้อปลาปักเป้าและยังมีการลักลอบจำหน่ายเนื้อปลาปักเป้า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงวิจัยและพัฒนาชุดทดสอบสารพิษเตโตรโดทอกซินชนิดตรวจกรองขึ้น โดยใช้หลักการอิมมูโนโครมาโตกราฟี ซึ่งเป็นวิธีที่ตรวจง่าย ให้ผลรวดเร็ว ไม่ต้องใช้เครื่องมือและผู้ชำนาญการในการทดสอบ ใช้เวลาในการทดสอบและอ่านผลภายใน 5 นาที เป็นชุดทดสอบที่มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจสารพิษเตโตรโดทอกซินที่ปนเปื้อนได้ในระดับความเข้มข้นต่ำสุด 0.3 ไมโครกรัมต่อปลาปักเป้า 1 กรัม ทั้งนี้ ระดับความเข้มข้นที่ประเทศญี่ปุ่นกำหนดให้ปนเปื้อนได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค คือ 2.2 ไมโครกรัมต่อปลาปักเป้า 1 กรัม" นพ.วัลลภ กล่าว
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า
ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์อยู่ระหว่างดำเนินการจดสิทธิบัตรชุดทดสอบดังกล่าว โดยจะเตรียมผลิตเพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนนำไปใช้ตรวจสอบสารพิษจากปลาปักเป้าในต้นปี 2551 นี้ คาดว่าชุดทดสอบนี้จะเป็นเครื่องมือที่หน่วยงานต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการคุ้มครองผู้บริโภคต่อไป