เตือน! ผู้ลงทะเบียน “ชิม ช้อป ใช้” รีบออกไปใช้เงิน ก่อนวันหมดอายุ ระวังจะอด
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียน 14 วันแรกเสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์ 9,939,590 ราย ซึ่งผู้ลงทะเบียน 13 วันแรกได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์แล้วจำนวน 9,693,845 ราย ทั้งนี้ มีผู้เข้ายืนยันตัวตนในแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" แล้ว 8,854,072 ราย โดยยืนยันตัวตนสำเร็จ 7,934,311 ราย และมีผู้ที่ยังไม่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชัน 839,773 ราย
สำหรับในการใช้จ่าย 12 วันแรก มีผู้ใช้สิทธิ์จำนวน 4,535,561 ราย มีการใช้จ่ายรวม 4,296 ล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 1 ประมาณ 4,254 ล้านบาท โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน "ช้อป" ซึ่งเป็นร้านในกลุ่ม OTOP ร้านวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งร้านธงฟ้าประชารัฐ 2,416 ล้านบาท ส่วนร้าน "ชิม" หรือร้านอาหารและเครื่องดื่มมียอดใช้จ่าย 583 ล้านบาท ร้าน "ใช้" เช่น โรงแรม โฮมสเตย์ เป็นต้น มียอดใช้จ่าย 55 ล้านบาท และร้านค้าทั่วไป มียอดใช้จ่าย 1,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า มีการใช้จ่ายในร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาประมาณ 817 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนลดลงต่อเนื่องจาก 22% ในช่วงเริ่มต้น เป็น 19% ของยอดใช้จ่ายทั้งหมด
สำหรับการใช้จ่าย g-Wallet ช่อง 2 มีผู้ใช้สิทธิ์แล้ว 15,027 ราย มียอดใช้จ่ายประมาณ 42 ล้านบาทหรือเฉลี่ยรายละ 2,782 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า ภายใน 5 วัน โดยเป็นการใช้จ่ายที่ร้าน "ช้อป" 27 ล้านบาท ส่วนร้าน "ชิม" และร้าน "ใช้" มียอดใช้จ่าย 9 ล้านบาท และ 6 ล้านบาท ตามลำดับ
มีการใช้จ่ายกระจายครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยจังหวัดที่มีการใช้จ่ายมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 536 ล้านบาท 2.ชลบุรี 297 ล้านบาท 3. สมุทรปราการ 184 ล้านบาท 4. ปทุมธานี 135 ล้านบาท 5. พระนครศรีอยุธยา 130 ล้านบาท 6.ระยอง 114 ล้านบาท 7. นครปฐม 108 ล้านบาท 8. ลำพูน 105 ล้านบาท 9. เชียงใหม่ 101 ล้านบาท และ 10. นนทบุรี 101 ล้านบาท
โฆษกกระทรวงการคลัง ได้เน้นย้ำว่า สำหรับผู้ได้รับสิทธิ์จากการลงทะเบียนวันแรก (วันที่ 23 กันยายน 2562) และยังไม่ได้เริ่มใช้จ่าย ขอให้เริ่มใช้จ่ายภายในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่จะครบ 14 วัน เพื่อรักษาสิทธิ์ และสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนสำเร็จและได้รับ SMS ยืนยันสิทธิ์แล้ว ขอให้รีบติดตั้งแอปพลิเคชัน "เป๋าตัง" และเริ่มต้นการใช้จ่ายภายใน 14 วัน