จากกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตถึงการที่ ส.ส.หลายรายแสดงบัญชีรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง ส.ส. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2562 โดยแสดงทรัพย์สินอื่นจำพวกเครื่องรางของขลัง หรือพระเครื่องชื่อดัง ระบุมูลค่าสูงมาก ตั้งแต่ระดับ 50-1,000 ล้านบาท จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามูลค่าของทรัพย์สินดังกล่าวตรงกับที่แจ้งไว้จริงหรือไม่ ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ 21 ก.ย. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า กรณีที่ส.ส.ยื่นบัญชีทรัพย์สินจำพวกเครื่องรางของขลังและพระเครื่องนั้น เป็นกรณีที่ป.ป.ช.จะต้องจับตาดูเป็นกรณีพิเศษ ตามหลักการในการตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมถึงข้าราชการต่าง ๆ นั้น มี 2 ส่วน คือ 1.ตรวจสอบถึงความถูกต้องของทรัพย์สิน และ 2.ตรวจสอบความมีอยู่จริงของทรัพย์สิน โดยจะดูว่าทรัพย์สินดังกล่าวนั้นได้มาถูกต้องหรือไม่ มีอยู่จริงตามที่แจ้งหรือไม่ และถูกต้องตามเอกสารแนบที่เป็นรูปถ่ายประกอบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่
นายวรวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนมูลค่าของทรัพย์สินนั้น โดยเฉพาะทรัพย์สินจำพวกเครื่องรางของขลัง หรือพระเครื่อง ไม่มีตลาดกลางที่ระบุราคาอย่างชัดเจน ยกตัวอย่าง ถ้าแจ้งว่าครอบครองทองคำ ยังตรวจสอบมูลค่าได้จากตลาดกลางการซื้อขายทองคำ แต่จำพวกของขลังไม่มีตลาดกลางตรงนี้ ดังนั้นการตรวจสอบเบื้องต้นคือดูข้อมูลว่าเจ้าของตีมูลค่ามาจากอะไร ตีค่าจากมูลค่าทางจิตใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ก็ตาม "กรณีนี้สำนักงาน ป.ป.ช. จะต้องจับตาดูเป็นกรณีพิเศษ"
ผู้สื่อข่าวถามว่า เครื่องรางของขลัง หรือพระเครื่องชื่อดัง ส่วนใหญ่จะมีใบรับรองจากเซียนพระที่ได้รับความน่าเชื่อถือ ป.ป.ช. จะเข้าไปตรวจสอบส่วนนี้หรือไม่ นายวรวิทย์ กล่าวว่า เรื่องพวกนี้ต้องยอมรับว่า เป็นมิติใหม่ของการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ดังนั้นต่อจากนี้ไปกลุ่มคนที่แจ้งมูลค่าสิ่งเหล่านี้ ป.ป.ช. จะจับตาดูเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงวางกฎเกณฑ์ป้องกันให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น
เมื่อถามต่อว่า ต่อจากนี้ไปหากมี ส.ส.บางรายเห็นช่องทางนี้เป็นแหล่งการฟอกเงินให้กับตัวเอง ป.ป.ช. จะมีมาตรการอย่างไร นายวรวิทย์ กล่าวว่า อย่างที่เรียนไปแล้วว่า ส.ส. หรือข้าราชการ หรือบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินกับ ป.ป.ช. หากแจ้งข้อมูลทรัพย์สินอื่นเหล่านี้ จะถูกจับตาดูเป็นกรณีพิเศษ และในการตรวจสอบเบื้องต้นจะดำเนินการดูเรื่องความมีอยู่จริง และความถูกต้องของทรัพย์สินอยู่แล้ว
ส่วนกรณีต้องเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกเลยหรือไม่นั้น นายวรวิทย์ กล่าวว่า ต้องขอตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นก่อน ยังไม่ต้องเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเชิงลึก